จากเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ความรุนแรงสะเทือนถึงประเทศไทย หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นที่ถกเถียงสังคมถึงระบบเตือนภัยหรือแจ้งเตือนหากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยธรรมชาติ ที่เป็นหน้าที่รับผิดชอบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
เช้าวันที่ 29 มีนาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประชุมติดตามการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยนายกรัฐมนตรี กำชับให้ 2 หน่วยงาน คือ ปภ. และ กสทช. ทำงานให้ประสานกัน และมีการตำหนิในเรื่องของการส่งข้อความสั้นเตือนภัย หรือ SMS ที่ล่าช้า ประชาชนได้ไม่ทั่วถึง และบางข้อความไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร
อมรินทร์ทีวี ออนไลน์ จะพาย้อนดูระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน "Cell Broadcast Service" ผ่านโทรศัพท์มือถือในไทย ซึ่งเป็นโครงการที่จะทำเริ่มในปี 2568 นี้
Cell Broadcast Service คืออะไร ?
Cell Broadcast Service หรือ CBS ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินหากเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือภัยธรรมชาติ แจ้งเตือนผ่านข้อความสั้นในโทรศัพท์มือถือ หรือ SMS ผ่าน 5 ภาษา นับเป็นระบบเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่จริงครั้งแรกในประเทศไทย เป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งาน
หน่วยงานที่รับผิดชอบ ?
บูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด
วิธีการทำงานของระบบ ?
1. สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถรับข้อความได้พร้อมกันทันที
2. เพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที
3. ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ 5 ภาษา ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย
4. ครอบคลุมผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า โดยจะส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในรูปแบบ ข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ และเสียง มีสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดงบนหน้าจอ (Pop up)
5. รองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความ ทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือน แก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น
เตือนภัยอะไรได้บ้างถ้าไม่ใช่ภัยธรรมชาติ ?
สำหรับระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับ ตามฟังก์ชั่นการใช้งาน โดยใช้ความร่วมมือกับฐานข้อมูลของภาครัฐ ประกอบด้วย
1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที
2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือ ภัยจากคนร้าย เป็นต้น
3. การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัว เพื่อให้ประชาชนทราบข่าว เฝ้าระวัง และช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์ รายงานผล ถ้าพบคนหายหรือคนร้าย
4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่ หรือการเฝ้าระวัง กรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น
5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่าง ๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป
ระบบจะใช้ได้ตอนไหน ?
ระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติ จะทำแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ของปี 2568 หรือประมาณเดือนมิถุนายนของปีนี้ หากระบบแล้วเสร็จ 100% ปภ.จะเป็นเจ้าภาพส่งข้อความทันที โดยไม่ต้องส่งผ่าน กสทช. ซึ่ง กสทช. จะอำนวยความพร้อมช่วยกระจายสัญญาณ
Advertisement