วันที่ 1 เม.ย. 68 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา หน่วยงานเฉพาะกิจด้านแผ่นดินไหวของรัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยรายงานภัยพิบัติของรัฐบาลญี่ปุ่น หากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ร่องน้ำนันไก ขนาด 9 นั้นว่า อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 298,000 คน
โดยความพยายามบรรเทาความเสียหายในรายงานล่าสุด คณะทำงานคาดการณ์ว่าจำนวนผู้อพยพจะเพิ่มขึ้นจากการประมาณในปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 9.5 ล้านคน เป็น 12.3 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของประชากรญี่ปุ่น
ซึ่งเทศบาลทั้งหมด 764 แห่งใน 31 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัด จะประสบกับแผ่นดินไหว ซึ่งมีระดับความรุนแรงอย่างน้อยระดับ 6 ชินโดะ ตามมาตราวัดของญี่ปุ่น ซึ่งระดับสูงสุดอยู่ที่ 7 หรือคลื่นสึนามิสูงอย่างน้อย 3 เมตร
สำหรับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะสูงถึง 270 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเดิมที่ 214 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 48 ล้านล้านบาท ขณะที่จำนวนอาคารสูงสุด คาดว่าจะถูกทำลายจนหมดสิ้น จะลดลงเหลือ 2.35 ล้านหลัง เนื่องจากมีการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือน เพื่อรองรับแผ่นดินไหว
ตามรายงาน มีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 215,000 ราย จากการเกิดสึนามิ จากผู้เสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 298,000 ราย อิงตามสมมติฐานว่าจะมีเพียง 20% ของประชากรที่จะอพยพทันที
หากอัตราการอพยพเพิ่มเป็น 70% จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากสึนามิลงเหลือ 94,000 ราย ส่วนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมอย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพิ่มขึ้น 30% เนื่องมาจากความก้าวหน้าในการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิประเทศ คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมจะไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีการสร้างกำแพงกั้นทะเลและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการอพยพจากคลื่นสึนามิก็ตาม
จากสถานการณ์จำลอง ที่จะมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ซึ่งเกิดขึ้นในคืนฤดูหนาว โดยความเสียหายรุนแรงเกิดขึ้นที่ภูมิภาคโทไก ในกรณีนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณในแต่ละจังหวัดจะสูงที่สุดในชิซูโอกะที่ 101,000 ราย รองลงมาคือมิยาซากิที่ 33,000 ราย และมิเอะที่ 29,000 ราย
นอกเหนือจากผู้เสียชีวิตโดยตรงที่คาดว่าจะอยู่ที่ 298,000 รายแล้ว รัฐบาลยังคาดการณ์เป็นครั้งแรกว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติระหว่าง 26,000- 52,000 ราย ซึ่งเกิดจากสถานการณ์ต่างๆ เช่น สภาพสุขภาพที่ทรุดโทรมในศูนย์อพยพ
ทั้งนี้รัฐบาลจะแก้ไขแผนป้องกันภัยพิบัติ เพื่อกำหนดพื้นที่สำคัญเพิ่มเติมตามเขตเสี่ยงน้ำท่วมที่ขยายออกไป รวมทั้งพัฒนาแผนรับมือภัยพิบัติแห่งชาติฉบับใหม่ สำหรับปีงบประมาณ 2569 - 2573 เพื่อเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งหน่วยงานป้องกันภัยพิบัติแห่งใหม่ในปีงบประมาณ 2569 อีกด้วย
Advertisement