Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
1 เมษายน วันเลิกทาส ครบรอบ 120 ปี ที่คนไทยพ้นจากความเป็นทาส

1 เมษายน วันเลิกทาส ครบรอบ 120 ปี ที่คนไทยพ้นจากความเป็นทาส

1 เม.ย. 68
09:25 น.
แชร์

ในสมัยโบราณ สังคมสยามแบ่งคนออกเป็นหลายชนชั้น โดยมีเจ้านายและขุนนางเป็นชนชั้นสูง ไพร่หรือสามัญชนเป็นชนชั้นกลาง และทาสเป็นชนชั้นล่าง ระบบทาสในสยามมีลักษณะแตกต่างจากระบบทาสในสังคมตะวันตกในหลายแง่มุม ทาสในสยามมีสิทธิบางประการ สามารถไถ่ถอนตัวเองได้ และมักเป็นชาวสยามด้วยกันเองที่ตกเป็นทาสเนื่องจากความยากจนหรือการเป็นหนี้ ในยุคตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าไทยมีทาสหนึ่งในสามของจำนวนประชากรทั้งหมด พ่อแม่เป็นทาสลูกก็จะเป็นทาส และหากไม่สามารถนำเงินมาไถ่ถอนตนเอง จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต

ประเภทของทาสในสยาม

สมัยก่อนในประเทศไทย ทาสได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่

• ทาสสินไถ่ เป็นทาสที่มีมากที่สุดในบรรดาทาสทั้งหมด โดยเงื่อนไขของการเป็นทาสชนิดนี้ คือ การขายตัวเป็นทาส เช่น พ่อแม่ขายบุตร สามีขายภรรยา หรือขายตัวเอง ดังนั้น ทาสชนิดนี้จึงเป็นคนยากจน ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวหรือตนเองได้ จึงได้เกิดการขายทาสขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนสถานะกลับไปเมื่อมีผู้มาไถ่ถอน

• ทาสในเรือนเบี้ย เด็กที่เกิดขึ้นระหว่างที่แม่เป็นทาสของนายทาส ทาสชนิดนี้ไม่สามารถไถ่ถอนตนเองได้

• ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก ทาสที่ตกเป็นมรดกของนายทาส เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายทาสคนเดิมเสียชีวิตลง และได้มอบมรดกให้แก่นายทาสคนต่อไป

• ทาสท่านให้ ทาสที่ได้รับมาจากผู้อื่นอีกทีหนึ่ง

• ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ ในกรณีที่บุคคลนั้นกระทำความผิดและถูกลงโทษเป็นเงินค่าปรับ แต่ไม่มีความสามารถในการชำระค่าปรับ หากว่ามีผู้ช่วยเหลือให้สามารถชำระค่าปรับได้แล้ว ถือว่าบุคคลนั้น เป็นทาสของผู้ให้ความช่วยเหลือในการชำระค่าปรับ

• ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก ในภาวะที่ไพร่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ประกอบอาชีพได้แล้ว ไพร่อาจขายตนเองเป็นทาสเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากนายทาส

• ทาสเชลย ภายหลังจากได้รับการชนะสงคราม ผู้ชนะสงครามจะกวาดต้อนผู้คนของผู้แพ้สงครามไปยังเมืองของตน เพื่อนำผู้คนเหล่านั้นไปเป็นทาสรับใช้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเลิกทาส แต่ด้วยทรงตระหนักดีว่าการแก้ไขสิ่งที่ทำกันมาจนเป็นหนึ่งในวิถีชีวิต จะต้องอาศัยขั้นตอน วิธีการ และเวลา จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรา “พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไท” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ให้ลดค่าตัวลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนหมดเมื่ออายุ 20 ปี ห้ามซื้อขายบุคคลที่มีอายุเกิน 20 ปี เป็นทาสอีก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกพระราชบัญญัติให้ทาสในมณฑลต่างๆ มีโอกาสไถ่ถอนตัวเองได้ง่ายขึ้น

ต่อมามีพระบรมราชโองการประกาศ “พระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทรศก 124” ให้ทาสในเรือนเบี้ยทุกคนเป็นไท เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ยุติระบบทาสในไทย พระองค์ทรงดำเนินการด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ รวมระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี จึงสำเร็จเสร็จสิ้น โดยไม่มีความขัดแย้งรุนแรง สูญเสียเลือดเนื้อเหมือนในประเทศอื่น

Advertisement

แชร์
1 เมษายน วันเลิกทาส ครบรอบ 120 ปี ที่คนไทยพ้นจากความเป็นทาส