Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
อาฟเตอร์ช็อก เขย่า สตง.-กสทช. บทเรียนราคาแพงซ้ำซาก (ตึก)

อาฟเตอร์ช็อก เขย่า สตง.-กสทช. บทเรียนราคาแพงซ้ำซาก (ตึก)

3 เม.ย. 68
17:58 น.
แชร์

แผ่นดินไหวเขย่า สตง. บทเรียนราคาแพงซ้ำซาก (ตึก) ไหนจะการก่อสร้างอาคารผิดปกติ ไหนจะการแจ้งเตือนภัยที่ล้มเหลว สตง . - กสทช. ต้องตอบคำถามชาวบ้านให้ได้

โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่เมียนมาเมื่อ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ที่รับรู้แรงสั่นไหวได้อย่างรุนแรง ไม่กี่นาทีต่อมาอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่กำลังก่อสร้างได้พังถล่มราบเป็นหน้ากอง มีแรงงานเสียชีวิต และติดใต้ซากตึกจำนวนมาก จนเกิดการตั้งคำถามที่ว่า ตึกสูง กทม. มีเป็นร้อยแห่ง แต่ทำไมถล่มอยู่ตึกเดียว หรือมีอะไรที่ซ่อนอยู่ภายบ้านหลังนี้ที่ชื่อ สตง. หรือไม่?

ต้องท้าวความว่า ตึกหลังนี้ ก่อสร้างโดย 2 บริษัทเข้ามาร่วมทุนแบ่งกำไรกัน ระหว่างกิจการร่วมค้า "ไอทีดี ซีอาร์อีซี No.10" ของอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กับบริษัทรับเหมาจีน "ไชน่า เรลเวย์ No.10" ซึ่งชนะการประกวดราคาที่ 2.1 พันล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 2.5 พันล้านบาท

ความผิดปกติแรก ชายชาวจีน 4 คน แอบเข้าพื้นที่หวงห้ามหลังเหตุการณ์ตึกถล่ม เพื่อแอบขนแฟ้มเอกสารสำคัญ 32 รายการ แต่นั่นก็หนีไม่พ้นตาวิเศษ ถูกตำรวจจับส่งศาลไดำเนินคดีไปแล้ว

ความผิดปกติต่อมา บ.รับเหมาจีน ไล่ลบข้อมูลรายละเอียดการก่อสร้างจนเกลี้ยงเว็บไซต์ แต่ก็ไม่ทันนักขุดชาวเน็ตไทยที่ขุดมาจนได้ ตามรายงานระบุว่า บ.รับเหมาจีนรายนี้ ยังรับงานสร้างตึกอีกหลายแห่งทั่วไทย ไม่ว่าจะเป็น รพ. บ้านพักศาล วัด โรงเรียน ศูนย์ราชการหลายแห่ง และหลายที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ก็อาจมีร้อน ๆ หนาว ๆ กันบ้าง

ความผิดปกติต่อมา เรื่องเหล็กเส้นที่ใช้ก่อสร้าง ตรวจสอบพบว่าเหล็กบางเส้นไม่ได้มาตรฐาน แล้วมาจากไหน ก็มาจาก บ.จีนที่ชื่อ "ซิน เคอ หยวน" ที่เข้ามาเปิดกิจการในไทย ซึ่งถูกสั่งปิดไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพราะถูก จนท.ไทยเข้าค้นตรวจสอบพบผลิตเหล็กเส้นไม่ได้มาตรฐาน สิ่งที่น่ากลัวต่อไปก็คือ หลังจากปิดโรงงานไปแล้ว เหล็กเส้นพวกนี้กระจายไปอยู่ไซต์ก่อสร้างไหนบ้าง

ความผิดปกติต่อมา เรื่องราคาครุภัณฑ์ที่เพจดังออกมาแฉ เช่น พรมผืนละแสน โต๊ะกลมกินข้าวตัวละ 9 หมื่น เก้าอี้หรูในห้องประชุม ตัวละเฉียดแสน ทำเอาชาวเน็ตแซะว่า "ราคาหลักพัน ไม่มีแรงนั่งกันเหรอ"

ความผิดปกติต่อมา พบว่าผู้ถือหุ้นบางคน ของ บ.รับเหมาจีน ไม่มีที่อยู่เป็นของตัวเอง ขัดต่อหลักความเป็นจริง และมีชื่อไปพัวพันกับ บ.อื่น อาจมีความเป็นไปได้ว่าเป็น "นอมินี" หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีความผิดปกติอีกมากมายที่คาดว่า อาจถูกขุดมาเรื่อย ๆ เป็นต้นว่า พบการแก้ไขแบบในการขยายสัญญาก่อสร้างครั้งที่ 2 หรือแม้แต่ที่ตั้งของบริษัทเหมือนรังหนู ไม่สมฐานะ บ.รับเหมารายใหญ่ที่รับงานประมูลภาครัฐนับสิบ ๆ โครงการ

สำนักงาน สตง. ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระ ตรวจสอบการใช้เงินของประเทศ แต่สุดท้ายหนีไม่พ้น ถูกสังคมตรวจสอบ

และอีกหน่วยงานหนึ่ง ไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ เพราะถูกชาวบ้านตำหนิไปตั้งแต่วันแรกที่เกิดแผ่นดินไหว นั่นคือ กสทช. จนถึงขนาดนี้ประชาชนบางคนยังไม่ได้รับข้อความ SMS แจ้งเตือนเลยก็มี ซึ่งจากขั้นตอนทำงาน เมื่อเกิดภัยภิบัติ กรมอุตุนิยมวิทยา จะรายงานไปยัง กรม ปภ. จากนั้น ปภ. มีหน้าที่คิดคำที่จะส่งข้อความ เพื่อส่งต่อไปยัง กทสช. ให้กระจายข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือ

แต่เผอิญข้อจำกัดอยู่ที่ SMS สามารถส่งได้แค่ครั้งละ 2 แสนหมายเลขเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้มือถือ 70 ล้านเลขหมาย คิดเล่น ๆ ว่าส่งได้ทีละ 2 แสนเลขหมาย แล้วเมื่อไหร่ถึงจะส่งครบ นับได้ว่าเป็นการแจ้งเตือนภัยสุดล้มเหลว

อย่างไรก็ดี การส่งข้อความผ่านระบบ SMS ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องแจ้งเตือนภัยได้จริง หลายคนพูดถึงระบบแจ้งเตือนภัยสุดทันสมัยที่ในไทยกำลังจะมีในปีนี้ นั่นคือ Cell Broadcast Service หรือ CBSที่ไม่ได้ส่งข้อความผ่าน SMS แต่เป็นระบบแจ้งเตือน ผ่านโครงข่ายมือถือ ซึ่งทุกค่ายจะมีเหมือนกันหมด เมื่อเกิดเหตฉุกเฉินข้อความจะถูกส่งไปยังโทรศัพท์ทุกเครื่องที่อยู่ในโครงข่าย เด้งเตือนข้อความตัวโต ๆ ขึ้นมาบนหน้าจอมือถือทันที ไม่ว่าคุณจะปิดหรือเปิดเครื่อง

แต่คำถามก็คือ ทั้ง กทสช. ปภ. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE เอางบประมาณมหาศาลไปพัฒนาระบบถึงไหนแล้ว "มันช้า" เกินไปหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ผ่านมา 2 ปี แล้วยังทำไม่แล้วเสร็จ ติดขัดตรงไหน หรือต้องรอให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย แล้วถึงค่อยหาคนผิด

Advertisement

แชร์
อาฟเตอร์ช็อก เขย่า สตง.-กสทช. บทเรียนราคาแพงซ้ำซาก (ตึก)