Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
อาคารประเภทไหนบ้างที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว ทำอย่างไรให้อาคารปลอดภัย

อาคารประเภทไหนบ้างที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว ทำอย่างไรให้อาคารปลอดภัย

5 เม.ย. 68
05:00 น.
แชร์

อาคารประเภทไหนบ้างที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เตรียมความพร้อมอย่างไรให้อาคารมีความปลอดภัย

แผ่นดินไหว เป็นเรื่องยากที่จะทำการคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ สิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ในประเทศไทยรวมถึงหลายเมืองทั่วโลก ไม่ได้ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาเพื่อให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้ สำหรับประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายบังคับการออกแบบอาคารใหม่เพื่อต้านทานแผ่นดินไหวอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ.2550 โดยบังคับใช้กับอาคารสาธารณะและอาคารที่มีความสำคัญ หรืออาคารที่มีความสูงเกิน 15 เมตร ขึ้นไปในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดที่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อน เช่น กาญจนบุรี เชียงราย และเชียงใหม่ เป็นต้น

อาคารประเภทไหนบ้างที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว?

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยและอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า สำหรับประเทศไทย อาคารที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากๆ มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

ตึกแถว ด้านหน้าของอาคารมักเปิดโล่งเพื่อใช้ทำการค้า หากเกิดแผ่นดินไหวอาจทำให้อาคารทรุดเอียงลงมาทางด้านหน้า ตึกแถวมักมีเสาขนาดเล็ก และการก่อสร้างไม่ได้ควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างให้ดี ไม่มีวิศวกรมาออกแบบหรือคุมงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะแทบไม่มีข้อมูลเลยว่าอาคารเหล่านี้ใส่เหล็กในเสาและคานเท่าใด และส่วนใหญ่ก็ไม่มีแบบก่อสร้างเก็บไว้ ทำให้ไม่มีข้อมูลที่จะนำมาประเมินกำลังรับน้ำหนักได้

อาคารไร้คาน เช่น อาคารจอดรถ อาคารสำนักงาน การก่อสร้างจะเป็นแผ่นพื้นวางบนเสาเป็นชั้นๆ ไม่มีคานรองรับ บางทีก็ฝังลวดอัดแรงอยู่ข้างใน ซึ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะก่อสร้างได้รวดเร็ว อาคารพวกนี้มีความเสี่ยงมากหากพื้นบางเกินไป เนื่องจากเมื่อเกิดแรงไหวอาจจะพังทะลุผ่านเสาตกลงไปกระแทกพื้นชั้นล่างลงไปเป็นทอดๆ ทำให้อาคารทั้งหลังถล่มลงได้

นอกจากนี้ อาคารสูงที่มีลักษณะไม่สมมาตรหรือที่ชั้นล่างเปิดโล่ง อาคารที่ก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่ข้อต่อไม่แข็งแรง อาคารที่ทำการต่อเติมและทำทางเดินเชื่อมต่อกัน อาคารเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวทั้งสิ้น

เตรียมความพร้อมอย่างไรให้อาคารมีความปลอดภัย

ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เผยว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้อาคารสามารถต้านทานแผ่นดินไหวรุนแรงได้ คือ กำลังต้านทานแรงด้านข้าง และ ความเหนียวของโครงสร้างอาคาร ซึ่งหมายถึงความสามารถในการโยกของอาคาร หากโยกได้เพียงเล็กน้อยแสดงว่ามีความเปราะบาง จะต้านทานได้นิดเดียวและพังถล่มเมื่อเกิดแผ่นดินไหว แต่ถ้าสามารถโยกตัวได้มาก โครงสร้างเหนียว จะมีความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหวได้ดี

ดังนั้นวิธีการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวจึงต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1.การออกแบบให้โครงสร้างมีกำลังต้านทานแรงด้านข้างในระดับที่เหมาะสม 2.ออกแบบให้โครงสร้างมีลักษณะ รูปทรง และสัดส่วนที่ดี สามารถโยกไหวได้โดยไม่บิดตัว ไม่เกิดความเสียหายเฉพาะจุด (Localized damage) และไม่เสียเสถียรภาพ และ 3.ออกแบบองค์อาคารและโครงสร้างทั้งระบบในรายละเอียดให้โครงสร้างมีความเหนียว

“อาคารสร้างใหม่” ต้องออกแบบและก่อสร้างให้รองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวตามกฎกระทรวงปี พ.ศ.2550 นอกจากนี้วิศวกรยังสามารถออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวตามมาตรฐานการออกแบบของกรมโยธาธิการและผังเมืองทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ มยผ.1301-54 และ มยผ.1302-52

“อาคารเก่า” ที่ไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว ต้องมีการประเมินและเสริมความแข็งแรงอาคารในกรณีที่ตรวจพบว่าอาคารไม่แข็งแรงพอ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ติดตั้งโครงเหล็กค้ำยัน การหุ้มด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์-เหล็ก การใส่เหล็กปลอกที่เสา หรือการเพิ่มขนาดคานที่ยึดระหว่างเสาให้ใหญ่ขึ้น เป็นต้น

Advertisement

แชร์
อาคารประเภทไหนบ้างที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว ทำอย่างไรให้อาคารปลอดภัย