Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ลุ้น! ดาวหางดวงใหม่ (SWAN) กำลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ มองได้ด้วยตาเปล่า

ลุ้น! ดาวหางดวงใหม่ (SWAN) กำลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ มองได้ด้วยตาเปล่า

12 เม.ย. 68
18:31 น.
แชร์

ลุ้น! ดาวหาง C/2025 F2 (SWAN) ดาวหางดวงใหม่ล่าสุด กำลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลุ้นจะจะแตกสลายหรือไม่

เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความ "Hello World ! มีดาวหางดวงใหม่มาอีกแล้ว คราวนี้มีนามว่า SWAN" โดย ดาวหาง C/2025 F2 (SWAN) หรือ ดาวหาง SWAN ถูกค้นพบโดย Vladimir Bezugly ชาวยูเครน และ Michael Mattiazzo ชาวออสเตรเลีย ทั้งคู่ต่างค้นพบดาวหางดวงนี้ในเวลาใกล้เคียงกัน และได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2025 โดยดาวหางดวงนี้กำลังมุ่งหน้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และอาจมีความสว่างมากเพียงพอจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงปลายเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้

ขณะนี้ดาวหาง SWAN มีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 7-8 ซึ่งยังไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (อันดับความสว่างปรากฏ ยิ่งตัวเลขน้อย-ยิ่งสว่าง ยิ่งตัวเลขมาก-ยิ่งริบหรี่) และดาวหางจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2025 จะเป็นช่วงที่ดาวหางได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์สูงที่สุด และอาจทำให้ความสว่างของดาวหางเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ หากดาวหางสามารถรอดพ้นออกมาจากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงและรังสีอันรุนแรงของดวงอาทิตย์ออกมาได้ ดาวหาง SWAN ก็อาจจะมียิ่งความสว่างมากขึ้นจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่หากไม่สามารถรอดพ้นออกมาได้ ดาวหาง SWAN ก็จะแตกเป็นเสี่ยง ๆ และกลายเป็นเพียงเศษหินและน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ต่อไป

ช่วงนี้ดาวหางอยู่บริเวณกลุ่มดาวม้าปีก (Pegasus) ปรากฏขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ซึ่งดาวหางจะค่อยๆ เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ เคลื่อนออกจากกลุ่มดาวม้าปีก และเข้าสู่ตำแหน่งที่จะขึ้น-ตกพร้อมๆ กับดวงอาทิตย์ในช่วงประมาณวันที่ 18-25 เมษายน ช่วงดังกล่าวจะเป็นช่วงที่ไม่สามารถสังเกตการณ์ดาวหางได้ (ดูภาพประกอบได้ที่ช่องคอมเมนต์)

จากนั้นดาวหางจะเคลื่อนผ่านระหว่างกลุ่มดาวแกะ (Aries) และกลุ่มดาวเพอร์ซีอุส (Perseus) โดยมีทิศทางเข้าสู่กลุ่มดาววัว (Taurus) และตั้งแต่วันที่ 26 เมษายนเป็นต้นไป ดาวหางจะปรากฏทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ซึ่งช่วงนี้เองที่เป็นช่วงที่น่าติดตามว่า ดาวหางจะมีความสว่างสูงสุดได้มากน้อยแค่ไหน (ดูภาพประกอบได้ที่ช่องคอมเมนต์)

ดาวหาง SWAN มีค่าความรีวงโคจรเท่ากับ 0.999 หมายความว่าเป็นวงโคจรที่มีความรีสูงมาก และจากการคำนวณพบว่า ดาวหางดวงนี้มีคาบการโคจรประมาณ 1.4 ล้านปี นั่นหมายความว่า หากเราพลาดรับชมดาวหาง SWAN ในครั้งนี้ ในช่วงชีวิตของเราก็จะไม่มีโอกาสได้รับชมมันอีกแล้วนั่นเอง

มาร่วมติดตามกันว่า ดาวหางดวงนี้จะสว่างได้มากพอให้เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพื่อต้อนรับวันปีใหม่ไทยได้หรือไม่ และการเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม จะทำให้ดาวหางทวีคูณความสว่างขึ้น หรืออาจจะแตกสลายกลายเป็นเพียงเศษฝุ่น

ข้อมูล : เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพ : Michael Jäger

Advertisement

แชร์
ลุ้น! ดาวหางดวงใหม่ (SWAN) กำลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ มองได้ด้วยตาเปล่า