เทศกาลต่างๆ มักถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง การเริ่มต้นใหม่และการได้กลับมาใช้เวลากับครอบครัวหรือคนที่รัก แต่สำหรับบางคนช่วงเวลาเหล่านี้กลับกระตุ้นความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลอย่างรุนแรง อาการนี้อาจไม่ใช่แค่ความเครียดชั่วคราว แต่เป็นอาการของ โรค “Chronophobia” หรือ “โรคกลัวเวลาผ่านไป”
Chronophobia คืออะไร?
“Chronophobia” (โครโนโฟเบีย) คือ ความกลัวเวลา หรือ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับกาลเวลา อย่างรุนแรงผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกไม่สบายใจหรือหวาดกลัวเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเวลา เช่น การกลัวอนาคต การรู้สึกว่ากำลังหมดเวลา หรือการรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วเกินไป จนควบคุมอะไรไม่ได้
ลักษณะอาการของ Chronophobia จะมีวิตกกังวลเมื่อคิดถึงอนาคต หรือกลัวการเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รู้สึกว่าชีวิตผ่านไป โดยไม่ได้ใช้เวลาให้คุ้มค่า กลัวความตาย หรือกลัวว่า “เวลาไม่พอ” ที่จะทำสิ่งต่างๆ และมักจะมีอาการทางกาย เช่น ใจสั่น เหงื่อออก หายใจไม่ทัน เมื่อพูดถึงเรื่องเวลา
ใครเสี่ยงเป็น Chronophobia?
แม้ใครๆ อาจเคยรู้สึกกลัวเวลาผ่านไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่สำหรับบางคนความกลัวนี้ลึกและรุนแรงจนกลายเป็นภาวะทางจิตใจที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ผู้สูงอายุ - เมื่ออายุเพิ่มขึ้น หลายคนเริ่มตระหนักถึงเวลาที่เหลือน้อยลง ความคิดเกี่ยวกับความตาย การจากลา หรือสิ่งที่ยังไม่ได้ทำอาจกระตุ้นความกลัวได้
ผู้ประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ - เช่น อุบัติเหตุรุนแรง การสูญเสียคนรัก การเผชิญกับภัยพิบัติ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ตระหนักว่าชีวิตไม่แน่นอน และเวลามีค่ายิ่งกว่าที่เคยคิด
ผู้ถูกจำกัดอิสรภาพ - เช่น นักโทษ หรือผู้ป่วยระยะยาวในโรงพยาบาล เรียกว่า “ภาวะประสาทจากการถูกกักขัง” ความรู้สึกเหมือนเวลาหยุดนิ่ง ขณะที่โลกภายนอกยังหมุนต่อ
คนวัยทำงาน - โดยเฉพาะในช่วงหลังโควิด-19 หลายคนรู้สึกตกขบวนของชีวิต ส่งผลให้รู้สึกว่าเวลาหายไปหรือเดินไม่ทันชีวิต
วิธีการรับมือกับ “Chronophobia”
ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง - หากกำลังรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องเผชิญกับ “การเดินของเวลา” อย่ากลัวที่จะหยุดพัก และอย่าลืมว่าการได้อยู่กับ “ตอนนี้” อย่างแท้จริงคือสิ่งที่ดีที่สุด
อยู่กับปัจจุบัน - ลองทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ดึงชีวิตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เช่น เดินเล่น อ่านหนังสือ หรือใช้เวลาพูดคุยกับคนสนิทหรือคนที่ไว้ใจ
ขอความช่วยเหลือ - หากรู้สึกว่าความกลัวเวลา เริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ลองพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต การบำบัดสามารถช่วยคลายความกังวลได้
ที่มา : www.healthline.com
Advertisement