Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เครื่องตรวจวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว บทเรียนคลื่นยักษ์เขย่าตึก กทม.

เครื่องตรวจวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว บทเรียนคลื่นยักษ์เขย่าตึก กทม.

18 เม.ย. 68
23:30 น.
แชร์

เครื่องตรวจวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว บทเรียนคลื่นยักษ์เขย่าตึกสูง กทม. การรับมือที่ประเทศไทยต้องหันกลับมาใส่ใจ เพราะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในเมียนมา และส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพมหานคร ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้ทุกคนรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นความรุนแรงจากแผ่นดินไหวยังทำให้ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ถล่มลงมาในไม่กี่วินาที รวมถึงอาคารตึกสูงได้รับความเสียหาย แตกร้าวหลายแห่ง จนทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างมาก

อมรินทร์ออนไลน์ สัมภาษณ์ "ผศ. ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี" อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ทีมวิจัยเครื่องตรวจวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวต้นทุนต่ำ "TUSHM" ที่มีติดตั้งเพื่อรับสัญญาณไปแล้วหลายจุดทั้งในพื้นที่ภาคเหนือรวมถึงที่ กทม. ด้วย ซึ่งในวันที่เกิดแผ่นดินไหวเครื่องสามารถตรวจรับสัญญาณแผ่นดินไหวได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในการเตรียมตัวและรับมือเหตุแผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ผมกับทีมวิจัยทำงานวิจัยด้านแผ่นดินไหวมาน่าจะเลย 15 ปีแล้ว สำหรับตัวผมเองก็มีการพัฒนาการวิเคราะห์ผลตอบสนองของพื้นดินเนื่องจากแผ่นดินไหวมาเรื่อยๆ ทีนี้มันก็มีโจทย์โจทย์หนึ่งที่ว่าข้อมูลการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวอะไรพวกนี้ในประเทศของเรามันยังน้อยอยู่ ยังมีข้อจำกัดเรื่องของเครื่องมือที่จะมาใช้ในการตรวจสอบมันราคาสูงมากๆ ปี 2564 ที่ผมมาเป็นอาจารย์ประจำที่คณะวิทยาศาสตร์ ก็เลยขอทุนวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการพัฒนาอุปกรณ์ในการตรวจวัดการสั่นสะเทือนต้นทุนต่ำ ปัจจุบันทำมาได้แล้วประมาณ 4 ปี มีการดำเนินการติดตั้งไปแล้วในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวภาคเหนือทั้ง จ.เชียงใหม่และเชียงราย ไม่ต่ำกว่า 50 ตำแหน่ง รวมถึงบนอาคารที่ กทม. อาคารศาลาว่าการ กทม. 2 ที่ดินแดง อาคาร 37 ชั้น แต่เราติดไว้ที่ชั้น 36 อีกที่หนึ่งจะเป็นโรงพยาบาลกลาง อาคารฉุกเฉิน 21 ชั้นครับ

 ผศ. ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กว่าจะมาเป็นเครื่องตรวจวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว

ดร.อมรเทพ เล่าว่า เริ่มต้นคือต้องทำการต้องรีเซิร์จก่อนว่าเซนเซอร์ที่จะเอามาใช้ในการตรวจวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ประเภทไหนที่มันตอบโจทย์เราและต้นทุนไม่สูงมาก จนกระทั่งมาจบที่ตัวอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน หลังจากที่ได้อุปกรณ์เซนเซอร์หรือฮาร์ดแวร์ที่คิดว่ามันสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องมีการทดสอบเพอร์ฟอร์แมนซ์ในการทำงาน ประสิทธิภาพว่ามันมีความถูกต้องไหม เรื่องของระยะเวลาในการทำงาน มันทนทานมากน้อยแค่ไหน ความถูกต้องกับอุปกรณ์ที่มันได้มาตรฐาน โดยในทีมวิจัยจะมีอุปกรณ์เซนเซอร์จากต่างประเทศจำนวนมาก เราก็เอามาทดสอบว่า ณ ตำแหน่งเดียวกัน มันได้ข้อมูลที่สอดคล้องกันไหม ซึ่งผลออกมาตัวเซนเซอร์ที่เราเลือกมาใช้ต้นทุนต่ำ มันสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกเว้นการสั่นสะเทือนที่มันต่ำมากๆ ซึ่งมันเป็นข้อจำกัดของเซนเซอร์ราคาถูกอยู่แล้ว ทีมวิจัยก็พัฒนา ปรับปรุงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันเวอร์ชั่นที่เราใช้อยู่

ตัวเครื่องนี้ถ้าเราไปนำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้นทุนนำเข้ามาเครื่องหนึ่งราคาจะตกเป็นแสนเลยนะ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเซนเซอร์ แต่เครื่องมือที่เราพัฒนาขึ้นมาต้นทุนรวม ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ รวมบริการอะไรต่างๆ จะอยู่ต่อเครื่องไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ส่วนกลไกการทำงานของตัวเครื่องรับสัญญาณแผ่นดินไหว ดร.อมรเทพ กล่าวว่า ภายในเครื่องจะมีเซนเซอร์อันหนึ่งที่เรียกว่าเป็นเซนเซอร์วัดอัตราเร่งของพื้นที่เราไปติดตั้ง โดยปกติอาคารหรือว่าพื้นดินมันมีการสั่นสะเทือนอยู่แล้วตลอดเวลา แต่มันเล็กจนเราไม่รู้สึก แต่เซนเซอร์มันสามารถตรวจจับการสั่นสะเทือนระดับนี้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แล้วก็จะส่งข้อมูลมาที่เซิฟเวอร์เพื่อทำการประมวลผล แล้วก็ส่งขึ้นออนไลน์ในเว็บ คนที่เข้ามาดูข้อมูลในเว็บไซต์ ณ ตำแหน่งสถานีต่างๆ ก็จะเห็นสัญญาณเป็น Near Real-Time มีการดีเลย์ของข้อมูลไปบ้าง แต่หลักประมาณหลักวินาที ไม่ได้นานมาก

การติดตั้งง่ายมากเลยครับ อย่างที่เห็นเครื่องมันเป็นเครื่องขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ในการติดตั้งตามมุมเสา ตามขอบตู้ ช่องว่างระหว่างตู้ก็ได้ ทีนี้สิ่งที่ต้องการก็คือ ไฟฟ้า ซึ่งกินไฟไม่ได้เยอะเท่ากับอแดปเตอร์ชาร์จมือถือ อินเตอร์เน็ตจะให้เป็น Wifi หรือว่า LAN ก็ได้ แค่เสียบปลั๊กไฟแล้วก็ต่ออินเตอร์เน็ต ข้อมูลก็จะถูกส่งขึ้นเซิฟเวอร์ทันที ใช้งานค่อนข้างง่าย คนที่ไม่ใช่วิศวกรก็สามารถใช้งานได้ ผมพยายามทำระบบให้มันเป็นมิตรกับผู้ใช้ทุกๆ ประเภท ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องติดตั้งอะไรก็สามารถเข้าถึงได้จากเว็บไซต์ผ่านมือถือหรือว่าคอมพิวเตอร์ได้เลย

ตัวเมมโมรีภายในที่ผมใส่เข้าไปมันสามารถบันทึกข้อมูลได้ต่อเนื่องเกิน 6 เดือน ข้อมูลทุกวันทุกเวลาจะถูกส่งเข้าเซิฟเวอร์มาสำรองไว้ด้วย ถึงแม้ว่าที่เซิฟเวอร์กลางไม่มีข้อมูลเนื่องจากอินเตอร์เน็ตหายไป มันก็ยังถูกบันทึกไว้ในเครื่องเซนเซอร์ที่ตำแหน่งนั้น

เว็บไซต์ตัวนี้ผมจะให้กับคนที่ดูแลเซนเซอร์ของเรา ให้เขาสามารถเข้าไปมอนิเตอร์ดูข้อมูลได้ ยิ่งบริเวณที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย จ.เชียงใหม่ เชียงราย คุณครูหรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำอาคาร เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษ ถ้าเขาเห็นว่าเครื่องมือมีปัญหาหรือว่าขึ้นออฟไลน์ เขาก็จะติดต่อมาหาเรา ผมก็จะมอนิเตอร์อยู่เรื่อยๆ ถ้าสถานีไหนที่มันออฟไลน์อยู่ ก็จะติดต่อไปยังคนที่ช่วยดูแลเครื่องมือให้ว่ามันมีปัญหาอะไรหรือไม่

เครื่องรับสัญญาณแผ่นดินไหว ที่ จ.เชียงใหม่

เครื่องรับสัญญาณแผ่นดินไหวเครื่องนี้หลังจากที่เราพัฒนามา พฤษภาคม 2567 เราได้นำผลงานไปประกวดที่เวที ITEX 2024 ประเทศมาเลเซีย เวทีประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ก็ได้รับรางวัลเหรียญทองมาในเรื่องของเทคโนโลยีนวัตกรรมเกี่ยวกับเรื่องการตรวจวัดแผ่นดินไหว แล้วก็ปลายปี 2567 เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับรางวัลจาก วช. ที่ส่งเข้าไปแล้วถูกคัดเลือกว่าเป็นนวัตกรรมตอบโจทย์ประเทศ ชื่อของมันก็คือเครื่องเตือนภัยแผ่นดินไหว

การแสดงผลในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหว

อ้างอิงจากข้อมูลของสถานีตรวจวัดที่เราไปติดตั้ง แผ่นดินไหวขนาด 7.7 เกิดขึ้นที่ มัณฑะเลย์ พม่า ตอน 13.20 น. สถานีที่เราวัดได้ตำแหน่งที่ใกล้ที่สุดกับรอยเลื่อนตัวนี้อยู่ อ.ปาย แม่ฮ่องสอน คลื่นมันเดินทางมาถึงปายประมาณ 13.22 น.-13.23 น. เชียงใหม่เชียงรายก็จะอยู่ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน แต่ระยะเวลาที่มันเดินทางมาถึงกรุงเทพแล้วมันเริ่มสั่นจะอยู่ช่วงเวลาประมาณ 13.25 น. เพราะฉะนั้นหมายความว่าระยะทางในการเดินทางจากเชียงใหม่มาถึงกรุงเทพ มีระยะเวลาประมาณสัก 2-3 นาที

เครื่องรับสัญญาณตรวจจับสัญญาณแผ่นดินไหวที่ กทม. ได้สูงถึง 123 milli-g

ในวันที่เกิดแผ่นดินไหว เครื่องมือตัวนี้สามารถตรวจจับการสั่นสะเทือนเนื่องจากแผ่นดินไหวได้เกือบทุกสถานีที่รายงานเข้ามาในเซิฟเวอร์ เพราะมันมีระดับการสั่นสะเทือนที่สูงมาก โดยปกติอาคารทั่วไปจากเครื่องมือของเราที่ไปติดตั้ง ระดับมันจะอยู่ไม่เกิน 1 หน่วยเป็น milli-g เป็นความเร่ง แต่วันที่เกิดเหตุมันระดับความสูงถึงร้อย อย่างตึก กทม. ที่เราไปติด วัดได้ 123 milli-g ซึ่งสูงกว่าสภาวะปกติเป็นร้อยเท่า แล้วระยะเวลาในการสั่นสะเทือนค่อนข้างนานประมาณ 3-5 นาที แต่ในพื้นที่จ.เชียงใหม่ ระดับการสั่นสะเทือนอยู่ประมาณ 50 milli-g เชียงราย 10 กว่า milli-g แต่ของแม่ฮ่องสอนที่เราไปติดตั้งไว้ที่ อ.ปาย อันนี้จะรุนแรงเพราะว่ามันอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุมากกว่าเชียงใหม่ วัดได้อยู่ที่ประมาณ 100 milli-g แล้วลักษณะการสั่นสะเทือนมันเป็นลักษณะการสั่นของคลื่นที่มีคาบการสั่นที่ยาว เราเลยจะเห็นเป็นลูกคลื่นที่ชัดเจนมาก เพราะฉะนั้นข้อมูลพวกนี้สำคัญมากๆ

พื้นที่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว TUSHM

ทันทีหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น หลายๆ สถานีติดต่อเข้ามาทันที เจ้าหน้าที่ของ กทม. ก็ติดต่อมาหาเราทันทีเหมือนกัน มีเหตุหนึ่งที่อาคาร กทม. พอแผ่นดินไหวเกิดขึ้นปุ๊บมันมีเหตุลิฟต์ค้าง เขาก็ประสานมาว่า ณ ตอนนี้การสั่นสะเทือนของอาคารเป็นอย่างไรบ้าง ปลอดภัยไหมถ้าจะเข้าไปช่วย เขาเป็นกังวลว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมาหรือเปล่า เราก็ช่วยเช็คว่าตอนนี้สถานการณ์คลื่นการสั่นสะเทือนมันอยู่ในสภาวะปกติแล้ว สามารถเข้าไปช่วยคนที่ติดลิฟต์ได้

ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกที่รุนแรงมากๆ เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากๆ 7.7 ตามรายงานของทางการ แล้วมันส่งผลกระทบมาที่กรุงเทพเราได้รับผลกระทบรุนแรงมาก โดยเฉพาะอาคารสูง ต้องบอกว่าลักษณะการเกิดคลื่นแผ่นดินไหวเวลามันเกิดมันจะแพร่กระจายคลื่นไปทุกทิศทุกทางเลย พอระยะทางมันห่างไปเรื่อยๆ ความรุนแรงมันจะต่ำลงๆ ระยะเวลาในการเดินทางของคลื่นก็จะช้าลง มันจะมีกรณีพิเศษก็คือ "แอ่งดินอ่อน" ในพื้นที่ภาคกลาง บริเวณนี้แหละที่มันสามารถขยายความรุนแรงของคลื่นที่มันมาจากระยะทางเป็นพันกิโลเมตร ให้มันจากเดิมที่ความรุนแรงจะน้อยลง กลับมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจากผลทีมวิจัยเราได้ศึกษามาก็พบว่าแอ่งกรุงเทพของเรามันสามารถขยายความรุนแรงของคลื่นได้สูงถึงประมาณ 3-5 เท่า จากแผ่นดินไหวที่มันมาถึง

กรุงเทพได้รับความเสี่ยงเนื่องจากคุณสมบัติของชั้นดินอ่อน ที่มันสามารถขยายคลื่นได้ ซึ่งกฎกระทรวงของเรา กฎหมายของเราก็บังคับว่าพื้นที่ของ กทม. ไม่ใช่เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวอยู่แล้วนะครับ ก็เป็นพื้นที่ที่ต้องมีการออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้ด้วย อันนี้เป็นกฎหมายมาตรฐานการออกแบบที่วิศวกรเขาต้องคำนึงถึง ต้องออกแบบ

 ผศ. ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี

การตรวจวัดสัญญาณแผ่นดินไหว มีความสำคัญแค่ไหน?

ประเด็นนี้ ดร.อมรเทพ กล่าวว่า ข้อมูลการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติอื่นๆ เป็นข้อมูลที่สำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว หรือภัยพิบัติอื่นๆ ข้อมูลพวกนี้มันบอกเราได้ว่าพื้นที่ไหนมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน แล้วระดับความรุนแรงที่มันเกิดขึ้น ถ้าเรามีข้อมูล 10 ปี 20 ปีย้อนหลัง จะรู้เลยว่าระดับสูงสุดที่มันเกิดขึ้นได้มันจะเป็นเท่าไร ข้อมูลตัวนี้ก็จะช่วยเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาว่าพื้นที่ไหนที่ควรจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ถ้าเรามีข้อมูลใหม่ๆ ผลการวิจัยใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา จะทำให้เราดูการเปลี่ยนแปลงของอาคารได้

เช่น อาคารปกติยังไม่เกิดแผ่นดินไหว คุณสมบัติของอาคารเป็นแบบนี้ พอเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา คุณสมบัติบางประการบางอย่างมันมีการเปลี่ยน เราจะต้องดำเนินการศึกษา ตรวจสอบ ประเมินโครงสร้างอาคาร เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจว่าอาคารหลังนั้นมันปลอดภัยหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน แล้วมันถึงจุดที่เราต้องมีการซ่อมแซมหรือปรับปรุง เสริมกำลังอาคารให้มันกลับมาแข็งแรงได้ พร้อมที่จะรับมือกับแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้นะครับ เพราะฉะนั้นเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก ถ้าติดกันเยอะๆ

การติดตั้งเครื่องรับสัญญาณแผ่นดินไหว ที่ตึกธานีนพรัตน์ กทม.

จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาคิดว่าเจ้าของอาคารหรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีอาคารสูง ก็น่าจะให้ความสำคัญกับประเด็นแผ่นดินไหวเพิ่มมากขึ้น จากที่เคยไม่ได้ใส่ใจ คิดว่ามันไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตที่เราอยู่ แต่พอมันเกิดขึ้นแบบนี้แล้ว ผมคิดว่าในอนาคตก็น่าจะมีการติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยก็จะช่วยเตือนคนใช้งานอาคารแหละว่า เวลามันเกิด ระดับมันรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เราจำเป็นที่ต้องอพยพไหม หรือถ้ามันรุนแรงมากๆ อพยพออกมาเสร็จปุ๊บ หลังจากเหตุการณ์สงบ อาคารหลังนี้ปลอดภัยหรือเปล่า ก็จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยยืนยันความปลอดภัยของอาคารได้ด้วย จริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นตึกสูงอย่างเดียว แต่ตึกสูงมันก็จะส่งกระทบต่อคนใช้งานอาคารจำนวนมาก มันเป็นเรื่องของความปลอดภัย ความกังวลของผู้ใช้งานอาคาร ก็ควรที่จะมีระบบเหล่านี้ไว้เตือนภัย รวมไปถึงโรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เกี่ยวข้องกับคนใช้งานจำนวนมาก

ผนังอาคารร้าวจากแผ่นดินไหว 28 มีนาคม 2568

แพลนต่อยอดเครื่องนี้ในอนาคต

ถ้าพูดถึงในงานวิจัยที่ทางทีมเราพูดคุยกัน ก็จะเป็นเรื่องของการทำนายนะครับ สัญญาณที่ส่งข้อมูลมา รูปแบบไหนที่เป็นลักษณะของแผ่นดินไหว อันนี้ก็อาจจะเอาเรื่องของอัลกอรึทึมที่มันเฉพาะทางด้านแผ่นดินไหวมาช่วยหรือใช้ AI เข้ามาเทรนเข้ามาเรียนรู้ว่าแพตเทิร์นไหนที่เป็นแพตเทิร์นของแผ่นดินไหว ทำให้สามารถแจ้งเตือนได้ว่า การสั่นสะเทือนรูปแบบนี้มาน่าจะเกิดแผ่นดินไหว ก็อาจจะไปตามข่าวจากกรมอุตุอีกทีว่าแผ่นดินไหวที่ไหน อันนี้คือสิ่งที่เราอยากจะพัฒนาเพิ่ม

จริงๆ ทีมวิจัยเราโฟกัสไป 2 รูปแบบในการติดตั้ง รูปแบบแรกคือการเอาไปติดตั้งบนพื้นดิน เพื่อที่จะดูว่าแต่ละพื้นที่เวลาผลกระทบแผ่นดินไหวมาได้รับความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ก็จะคล้ายๆ กับกรมอุตุที่เขาติดตั้ง แต่ของกรมอุตุก็จะเป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพสูง ราคาก็จะแพงหน่อย แต่ของเราเน้นไว้สำหรับตรวจวัดแผ่นดินไหวเป็นหลัก เพราะฉะนั้นต้นทุนราคาประมาณนี้ ประสิทธิภาพก็สามารถเพียงพอที่จะตรวจวัดแผ่นดินไหวได้ อีกส่วนหนึ่งก็คือการเอาไปติดตั้งบนอาคาร ถ้าเราติดตั้งเต็มระบบจะได้ระบบที่เรียกว่า Structural Health Monitoring เป็นระบบตรวจสุขภาพของอาคาร ซึ่งระบบตัวนี้มันก็จะช่วยประเมินว่าอาคารของเรามันมีสภาพแข็งแรงมากน้อยแค่ไหนหลังจากเกิดภัยพิบัติเกิดขึ้น มีความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย หรือว่าต้องซ่อมแซมทันที เราก็สามารถแจ้งเตือนให้กับคนที่ใช้งานอาคารได้ อันนี้ก็จะเป็นสองส่วนที่เราอยากจะเพิ่มเติมเข้าไป

การติดตั้งเครื่องรับสัญญาณแผ่นดินไหวบนพื้น

บทเรียนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราได้อะไรหลายๆ อย่าง จากที่เราไม่เคยมีข้อมูลจริงที่มันเกิดขึ้นรุนแรงในกรุงเทพ เห็นอะไรบางอย่างที่มันสำคัญต่อการนำเอาไปปรับปรุงมาตรฐานในอนาคตด้วย รวมถึงข้อควรระวัง อะไรที่เรากังวลอยู่ มันก็มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการที่จะมีระบบ Early warning มันก็จะช่วยทำให้งานวิจัยของเราก้าวหน้าต่อไปได้ สิ่งสำคัญก็คือเราต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือที่ถูกวิธี มีระบบในการป้องกันหรือว่าแจ้งเตือนที่มันแม่นยำ มีประสิทธิภาพ ทางศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติก็จะมีการถอดบทเรียนแล้วก็มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อที่จะนำไปสู่วิธีการแนวทางในการรับมือ ที่ถูกต้องเหมาะสม รวมถึงวิธีการลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวด้วย

ตัวเครื่องนี้จริงๆ เป็นนวัตกรรมที่ทีมเราวิจัยพัฒนาขึ้นมา ต้นทุนไม่ได้สูงมาก เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้หลายๆ อาคาร ไม่ว่าจะเป็นอาคารราชการ หอพัก คอนโดมิเนียมนำไปใช้ประโยชน์นะครับ มันจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยแจ้งให้ประชาชนหรือว่าผู้ใช้งานอาคารรู้ว่าสถานะของอาคารตอนนั้นเป็นอย่างไร ปัจจุบันยังมีคนที่ทราบหรือว่ารู้จักเครื่องมือตัวนี้ยังไม่ได้เยอะมาก เพราะฉะนั้นมันก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราได้มีการเผยแพร่ตรงนี้ออกไป ก็จะทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น แล้วก็เอาไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้นนะครับ รวมถึงสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเช่นกัน ก็จะได้รับความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ก็หวังว่าจะมีการนำไปใช้ งานจริงๆ มากขึ้นในอนาคตครับ

ตอนนี้นวัตกรรมตัวนี้มีการยื่นจดอนุสิทธิบัตรกับทางมหาวิทยาลัยไปแล้ว เพราะฉะนั้นหากใครที่สนใจสามารถติดต่อประสานงานผ่านมาที่ตัวทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยเองก็ได้ หรือจะติดต่อโดยตรงมาที่ทีมวิจัยก็ได้ หรือติดต่อไปที่ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติก็ได้ เดี๋ยวจะมีการประสานงานร่วมมือกันอยู่แล้วนะครับ

 ผศ. ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี

Advertisement

แชร์
เครื่องตรวจวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว บทเรียนคลื่นยักษ์เขย่าตึก กทม.