Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เฉลยแล้ว! ลูกไฟสีเขียว เหนือท้องฟ้าสงขลา สมาคมดาราศาสตร์ไทย ไขคำตอบ

เฉลยแล้ว! ลูกไฟสีเขียว เหนือท้องฟ้าสงขลา สมาคมดาราศาสตร์ไทย ไขคำตอบ

28 เม.ย. 68
10:21 น.
แชร์

สมาคมดาราศาสตร์ไทย ไขคำตอบ ลูกไฟสีเขียวปริศนา เคลื่อนเหนือท้องฟ้า จ.สงขลา คืออะไร ?

ความคืบหน้าหลังมีรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ จ.สงขลา รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงต่างสังเกตเห็นปรากฏการณ์ประหลาด มีลูกไฟสีเขียวปริศนาขนาดใหญ่ เคลื่อนผ่านเหนือท้องฟ้า เมื่อเวลา 19.36 น. ของคืนวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ชาวบ้านบางคนสามารถคว้ามือถือมากดอัดคลิป ถ่ายภาพนิ่งกันได้หลายราย จนเกิดความสงสัยว่า ลูกไฟประหลาดดวงนี้ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

ล่าสุด สมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยว่า "จากภาพที่ปรากฏ เชื่อได้ว่า เป็น "ลูกไฟ" หรือดาวตกที่สว่างมากเป็นพิเศษ"

ดาวตก ผีพุ่งไต้ ลูกไฟ อุกกาบาต ต่างกันอย่างไร ?

"ดาวตก" ไม่ใช่ดาวที่ตกลงมาจากฟ้า แต่เป็นแสงสว่างวาบที่พุ่งมาเป็นทางจากท้องฟ้า เกิดจากวัตถุแข็งในอวกาศพุ่งฝ่าชั้นบรรยากาศเข้ามาด้วยความเร็วสูง แรงอัดอากาศจากการที่พุ่งปะทะบรรยากาศทำให้เกิดความร้อนสูงจนส่องสว่างขึ้นมา บางครั้งก็เรียก "ผีพุ่งไต้" ฉะนั้น ดาวตกกับผีพุ่งไต้จึงเหมือนกัน

"ลูกไฟ" คือดาวตกที่สว่างเป็นพิเศษ ดาวตกต้องสว่างระดับไหนจึงจะเรียกว่าเป็นลูกไฟได้? เรื่องนี้อาจต้องว่ากันยาว เพราะไม่มีการกำหนดนิยามที่แน่ชัด โดยทั่วไป มักถือว่าหากดาวตกสว่างมากกว่าดาวศุกร์ช่วงที่สว่างที่สุด ก็จะเรียกว่าเป็นลูกไฟ ดาวศุกร์ช่วงที่สว่างที่สุดมีอันดับความสว่างได้ถึง -4.6 ซึ่งนับว่าสว่างกว่าดาวฤกษ์ทั่วไปมาก

สมมุติว่ามีดาวตกลูกใหญ่ตกเหนือท้องฟ้าขอนแก่นจนคนในท้องที่มองเห็นสว่างจ้าเท่าดาวศุกร์ แน่นอนว่าคนในพื้นที่เรียกดาวตกดวงนี้ว่าลูกไฟได้อย่างเต็มปาก แต่ในขณะเดียวกันคนกรุงเทพที่มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะมองเห็นดาวตกดวงนี้เหมือนกัน แต่เห็นสูงจากขอบฟ้าเพียงประมาณ 15 องศาและมีความสว่างใกล้เคียงกับดาวซิริอัส (อันดับความสว่าง -1.5) ซึ่งเป็นความสว่างระดับดาวตกทั่ว ๆ ไปเท่านั้นเอง ไม่ถึงระดับที่เรียกว่าลูกไฟ หากคนสองจังหวัดนี้อ้างถึงดาวตกดวงนี้ก็อาจสับสนได้ เพราะคนที่หนึ่งบอกเป็นลูกไฟ ส่วนคนอีกที่หนึ่งบอกไม่ใช่ แล้วก็ไม่มีใครผิดด้วย เพราะต่างฝ่ายต่างเรียกตามลักษณะที่ตนเห็น

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว องค์การอุกกาบาตสากล ได้เสนอนิยามของลูกไฟไว้อีกแบบหนึ่ง โดยระบุว่า ลูกไฟคือดาวตกที่มีอันดับความสว่างปรากฏ -3 หรือสว่างกว่า โดยสมมุติว่าดาวตกนั้นเกิดที่เหนือศีรษะ ตามนิยามนี้ ดาวตกที่มีอันดับความสว่างเพียง -1 ที่ปรากฏอยู่ใกล้ขอบฟ้า ก็นับเป็นลูกไฟได้ เพราะการที่อยู่ใกล้ขอบฟ้า แสดงว่าดาวตกนั้นเกิดขึ้นในระยะไกลมากระดับหลายร้อยกิโลเมตร หากสมมุติว่าผู้สังเกตไปยืนอยู่ใต้จุดดาวตกดวงนั้น ก็จะเห็นดาวตกนั้นเกิดขึ้นเหนือศีรษะและอยู่ห่างจากผู้สังเกตเพียงประมาณ 70-100 กิโลเมตร ย่อมปรากฏสว่างมากกว่าตอนเกิดที่ใกล้ขอบฟ้าอย่างแน่นอน นิยามนี้นับว่าน่าสนใจ เพราะมองไปที่สมบัติของตัวดาวตกเอง ไม่ได้วัดจากความสว่างที่คนมองเห็น

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อตกลงที่แน่นอนว่าจะใช้นิยามใดเป็นหลัก คำว่าลูกไฟจึงยังคงเป็นคำที่ถูกใช้กันอย่างไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ต่อไป และดูจะถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อเกินควร

วัตถุแข็งขนาดเล็กเมื่อยังอยู่ในอวกาศ เรียกว่า สะเก็ดดาว แต่ถ้าขนาดใหญ่ขึ้นมาระดับหลายเมตรขึ้นไป ก็เรียกว่า ดาวเคราะห์น้อย เส้นแบ่งระหว่างสะเก็ดดาวกับดาวเคราะห์น้อยไม่ชัดเจนนัก เพราะยังไม่มีการกำหนดตายตัว บางคนวางเส้นแบ่งไว้ที่ 10 เมตร บางคนวางไว้ที่ 1 เมตร แล้วสื่อต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยจะเคร่งครัดกับเส้นแบ่งนี้สักเท่าไหร่ ดังนั้นจะสังเกตว่าเราอาจได้ยินคำเรียกวัตถุที่มีขนาดระดับสี่ห้าเมตรว่าสะเก็ดดาวบ้าง ดาวเคราะห์น้อยบ้าง ปะปนกันไป

สะเก็ดดาวที่ทำให้เกิดดาวตกหรือแม้แต่ลูกไฟที่เราเห็นส่วนใหญ่มีขนาดเล็กระดับเม็ดทรายหรือเมล็ดถั่วเท่านั้นเอง เมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจะถูกการเสียดกร่อนทำให้หายเป็นผุยผงกลางอากาศ แต่หากสะเก็ดดาวมีขนาดใหญ่กว่านั้นก็จะเหลือชิ้นส่วนตกถึงพื้นโลก ส่วนที่ตกถึงพื้นโลกเรียกว่า "อุกกาบาต"

ขอบคุณข้อมูล : สมาคมดาราศาสตร์ไทย

Advertisement

แชร์
เฉลยแล้ว! ลูกไฟสีเขียว เหนือท้องฟ้าสงขลา สมาคมดาราศาสตร์ไทย ไขคำตอบ