ก่อนจะเข้าสู่ปี 2021 อย่างเป็นทางการ ลองมาย้อนดู 5 เหตุการณ์ใหญ่ ที่เกิดขึ้นและสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
ปีแห่งโควิด-19
หากสรุป 2020 ในเรื่องเดียว แน่นอนว่าคำตอบต้องเป็น “โควิด-19” ที่ไม่เพียงเป็นเหตุการณ์ใหญ่ของ 2020 แต่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก โดยจุดเริ่มต้นของการระบาดนี้เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2019 พบการระบาดของโรคปอดอักเสบปริศนา มีต้นตอมาจากตลาดค้าสัตว์ป่าแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนที่การระบาดจะขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มลุกลามไปสู่ประเทศอื่นผ่านผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศจีน โดย “ไทย” เป็นประเทศที่ตรวจพบผู้ป่วยนอกจีนรายแรกของโลกในวันที่ 13 ม.ค. ก่อนที่ต่อมา 11 ก.พ. องค์การอนามัยโลกจะยืนยันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เรียกอย่างเป็นทางการว่า "โควิด-19"
- จีนยืนยันโรคปอดอักเสบปริศนา ไม่ใช่โรคซาร์ส หรือไข้หวัดนก ส่วนยอดผู้ติดเชื้อพุ่งเกือบ 60 ราย
- องค์การอนามัยโลกประกาศชื่อทางการของ "ไวรัสโคโรนา"
โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจและสามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งเป็นโรคระบาดใหม่ที่โลกนี้ไม่เคยพบมาก่อน ทำให้กว่าที่แต่ละประเทศจะตั้งตัวหาทางป้องกันได้ทัน เชื้อก็ได้แพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว หลายประเทศยกระดับการควบคุมจนกลับมาแทบจะปลอดเชื้อได้ในช่วงแรก แต่กลับต้องพบกับการระบาดระลอกที่ 2 และระลอกต่อๆ มา ล่าสุด(30 ธ.ค.63) ผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุ 82 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 1.8 ล้านคนทั่วโลกและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงต่อเนื่อง อีกทั้งยังพบเชื้อสายพันธุ์ใหม่เช่น ในอังกฤษ และแอฟริกา ซึ่งมีอัตราการระบาดรวดเร็วขึ้นอีกด้วย
- "ธนาคารโลก" คาดจีดีพีไทยแย่สุด -10.4% ชี้พ.ร.ก.ฉุกเฉินกระทบศก.
- วัคซีนโควิด-19 ตัวใหม่ ความหวังของคนทั้งโลก!
แน่นอนว่าโควิด-19 ไม่ได้มีผลกระทบแค่ด้านสุขภาพ แต่มีกระทบกับสังคม และเศรษฐกิจของโลกทั้งระบบ ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่า โควิด-19 ทำให้ 400 ล้านคนทั่วโลกต้องสูญเสียงานประจำ และเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ยุค 1930 ความหวังเดียว ณ ขณะนี้คือประสิทธิภาพของวัคซีนที่หลายบริษัทคิดค้นขึ้นมาได้ และถ้าหากไม่สามารถกำจัดหรือป้องกันเชื้อไวรัสนี้ได้อย่างเด็ดขาด จะทำอย่างไรให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ รวมถึงการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะต้องใช้เวลาจากนี้ไปอีกหลายปี
ดูเหมือนว่าในปี 2021 ข้างหน้านี้จะเป็นอีกปีที่เรายังคงต้องอยู่กับ “New Normal” การใช้ชีวิตวิถีใหม่ สวมแมสก์ หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง และคงไม่มีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิตแบบก่อนการระบาดได้อีกในเร็วๆ นี้ หรือต้องทำใจแล้วว่าวิถีชีวิตบางอย่างคงงต้องเปลี่ยนไปแล้วตลอดกาล
ความสูญเสีย ในทุกมุมโลก
คนดังเสียชีวิต – เป็นอีกปีที่โลกของเราสูญเสียคนดังและบุคคลสำคัญมากมาย ทั้งในแวดวงการแสดง อาทิ การเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของแชดวิก โบสแมน ดาราชื่อดังเจ้าของบทแบลค แพนธอร์, ฌอน คอร์เนอรี ตำนานเจมส์บอนด์คนแรก หรือการจากไปของตำนานนักกีฬาระดับงโลก อย่างโคบี ไบรอัน นักบาสเก็ตบอลชื่อดัง ซึ่งประสบอุบัติเหตุเฮลิปคอปเตอร์ตกเสียชีวิตพร้อมลูกสาว ในรัฐแคลิฟอร์เนีย, ดิเอโก มาราโดนา ตำนานลูกหนังชื่อก้องโลก ซึ่งเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย รวมถึงอีกหลายคนที่จากไปจากพิษ “โควิด-19” เช่น เคนโซ ทาเคดะ ดีไซเนอร์ชื่อดังเจ้าของแบรนด์ "เคนโซ"
- แฟนบาสเศร้า 'โคบี ไบรอันต์' เสียชีวิตหลัง ฮ.ตกในแคลิฟอร์เนีย
- สัตว์ป่าเกือบ 3 พันล้านตัว สังเวยชีวิตในไฟป่าออสเตรเลีย
ไฟป่าออสเตรเลีย - ในเดือนมกราคม เกิดไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย ซึ่งลุกลามมาตั้งแต่ปี 2019 คาดว่าความรุนแรงเกินกว่าปกติครั้งนี้เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน โดยประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 2.1 ล้านล้านบาท พื้นที่ป่าถูกเผาไปกว่า 186,000 ตร/กม. มีสัตว์ป่าตายกว่า 3 พันล้านตัว ซึ่งรวมถึง โคอาล่า กว่า 25,000 ตัว
ระเบิดเบรุต – 4 ส.ค. เกิดระเบิดครั้งใหญ่ ของสารแอมโมเนียมไนเตรท 2,750 ตัน ที่ถูกเก็บอย่างไม่เหมาะสมในโกดังท่าเรือในเมืองเบรุต ประเทศเลบานอน แรงระเบิดทำพื้นที่โดยรอบราบเป็นหน้ากลอง แรงสั่นสะเทือนไกลกว่า 240 กม.เทียบเท่าแผ่นดินไหวระดับ 3.3 โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200 ราย บาดเจ็บมากกว่า 6 พันราย อีก 250,000 ชีวิตต้องไร้ที่อยู่ โดยเหตุการณ์ครั้งนี้นำไปสู่ประท้วงของชาวเมืองและการลาออกของรัฐบาลยกคณะเพื่อรับผิดชอบ
ปีแห่งการปลดแอก
ไม่เพียงการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ 2020 เป็นอีกปีที่เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องถึงความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์และสีผิว Black Lives Matter ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐฯ หลังวันที่ 25 พ.ค. เกิดเหตุชายผิวดำชื่อว่า “จอร์จ ฟลอยด์” ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว ใช้เข่ากดไปที่ลำคอขณะจัมกุมจนเขาขาดอากาศหายใจเสียชีวิต
นำไปสู่การตั้งคำถามถึงการใช้ความรุนแรงเกินเหตุของตำรวจต่อคนผิวดำซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ก่อนพัฒนาเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางสีผิวใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีการรวมตัวประท้วงมากกว่า 4,700 ครั้งจากทั่ว 700 เมือง จาก 50 รัฐทั่วสหรัฐฯ โดยมากที่สุดในวันที่ 6 มิ.ย. ประชาชนกว่าครึ่งล้านได้ออกมารวมตัวกันกว่า 550 จุดทั่วประเทศ จำนวนเทียบเท่ากับขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองในช่วง 1960s ซึ่งมีหนึ่งในผู้นำคนสำคัญคือ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ และนำไปสู่การแก้ไขและออกกฎหมายที่สำคัญต่อสิทธิคนผิวดำหลายฉบับ เช่น รับรองสิทธิการเลือกตั้ง
- ประท้วงเดือด! ทวงความยุติธรรม "ชายผิวสี" ถูกตำรวจกดคอจนตาย
- ม็อบสหรัฐฯ ทำลาย-ตัดหัว รูปปั้น "โคลัมบัส" ทวงความยุติธรรมคนพื้นเมือง
การเคลื่อนไหว Black Lives Matter ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ยังเกิดขึ้นในอีกหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป เช่น อังกฤษ อิตาลี รวมถึงมีการเคลื่อนไหวชำระความเข้าใจทางประวัติศาสตร์กันใหม่ ยกเลิกการยกย่องเชิดชูบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการค้าทาสในอดีต อย่าง คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส, เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน ดังที่เราจะเห็นจากการรวมตัวโค่นล้มรูปปั้นของบุคคลเหล่านี้ตามสถานที่ต่าง ๆ
การเลือกตั้งสุดวายป่วงของสหรัฐฯ
เป็นปกติที่ทั่วโลกจะจับตาการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในฐานะประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ที่การกำหนดนโยบายใดๆ ย่อมมีผลกระทบกับประเทศอื่นตามไปด้วย แต่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน และนายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต อดีตรองประธานาธิบดี 2 สมัยในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นอีกครั้งที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ “ดราม่า” ความไม่พอใจของประชาชนชาวอเมริกันต่อนโยบายทางการเมืองและแนวคิดสุดโต่งของทรัมป์ เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ที่สนับสนุนและต่อต้านทรัมป์ นำมาสู่การเลือกตั้งที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ กว่า 161 ล้านคน และคิดเป็น 66.8% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอัตราการออกมาใช้สิทธิสูงที่สุดในรอบ 120 ปี
- "ทรัมป์" จ่อฟ้องทุกรัฐที่ "ไบเดน" ชนะ
- "ไบเดน" คณะผู้เลือกตั้งเกิน 270 คะแนน ขึ้นแท่นว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ
นอกจากนี้เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งในสถานการณ์การระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ทำให้ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะลงคะแนนผ่านการเลือกตั้งล่วงหน้าทางไปรษณีย์ ถึง 97 ล้านคน ซึ่งมีสัญญาณความวุ่นวายแต่แรก เนื่องจากเป็นวีธีที่ “ทรัมป์” แสดงจุดยืนมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยอ้างว่าจะนำไปสู่การโกงได้
เมื่อประชาชนจำนวนมากเลือกลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ ปัญหาที่ตามมาคือการนับผลคะแนนล่าช้ากว่าปกติ โดยการเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 4 พ.ย. ก่อนที่เวลา 02.20 น. ของ 5 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ทรัมป์จะชิงออกมาประกาศชัยชนะ แม้การนับคะแนนยังไม่แล้วเสร็จแถมยังประกาศให้หยุดนับคะแนนทางไปรษณีย์และประกาศจะเดินหน้าฟ้องร้องการทุจริตเลือกตั้งหากนายไบเดนชนะ จากนั้นผู้สนับสนุนของทั้ง 2 ฝ่าย ต่างลงถนนเรียกร้องให้ทั้งหยุดหรือเดินหน้านับคะแนนต่อจนเกิดเป็นเหตุจลาจลในหลายพื้นที่
ต่อมา 7 พ.ย. ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการปรากฎว่า นายโจ ไบเดน ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งถึง 270 เสียงก่อนและเป็นผู้คว้าตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไป และถึงแม้ทรัมป์จะเดินหน้าฟ้องร้องผลการเลือกตั้งตามที่ประกาศไว้ แต่ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธคำร้องคว่ำผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน 4 รัฐสำคัญที่ไบเดนเป็นผู้ชนะ จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ทรัมป์ชวดตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 แม้เขาจะมีท่าทีไม่ยอมรับก็ตาม โดยนายไบเดน จะสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้าพร้อมด้วยนางกมลา แฮร์ริส ผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นรองประธานาธิบดีหญิงผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ
สงครามการแข่งขันทางอวกาศ
ในบรรดาเรื่องราวแย่ๆ ของปี 2020 ก็มีเรื่องให้น่ายินดีเพราะเป็นอีกปีที่แวดวงอวกาศก้าวหน้าอย่างมาก “การสำรวจทางอวกาศ” ซึ่งแต่เดิมการเข้าถึงมักจำกัดอยู่แค่ในภาครัฐ แต่ปัจจุบันภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยในปีนี้โครงการความร่วมมือระหว่าง นาซา และสเปซเอ็กซ์ บริษัทเอกชนด้านธุรกิจขนส่งทางอวกาศของมหาเศรษฐีชื่อดัง “อีลอน มัสก์” ได้ส่งยาน "ครูว์ ดรากอน" ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ
ยานครูว์ ดรากอน ได้นำนักบิน 2 คน ขึ้นสู่อวกาศจากฐานที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา เมื่อ 28 พ.ค. นับเป็นการนำนักบินขึ้นสู่อวกาศในรอบ 9 ปีของสหรัฐฯ และยังเป็นการปล่อยยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมครั้งแรกโดยบริษัทเอกชน เป็นก้าวสำคัญของวงการธุรกิจขนส่งอวกาศที่เปิดให้เอกชนเข้ามาประกอบการเชิงพาณิชย์ได้ หลังนาซายุติโครงการ Space Shuttle ไปเมื่อปี 2011 เนื่องจากไม่บรรลุเป้าหมายการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศอย่างปลอดภัยได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และหันมาใช้บริการยานโซยุซของรัสเซีย ในการนำนักบินอวกาศของนาซาไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station -ISS) แทน
- 4 ลูกเรือยาน 'สเปซเอ็กซ์ดรากอน' ถึงสถานีอวกาศแล้ว พร้อมลุยภารกิจ ยิงยาว 6 เดือน
- "ยานฉางเอ๋อ 5 " นำวัตถุจากดวงจันทร์ กลับถึงพื้นโลกแล้ว
ต่อมา 15 พ.ย. ยานครูว์ ดรากอน จะได้นำ 3 นักบินชาวอเมริกันของนาซา และ 1 นักบินจากองค์การอวกาศญี่ปุ่น หรือ จาซา ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจทางการครั้งแรกที่ ISS เป็นเวลา 6 เดือน จากความสำเร็จนี้ นาซามีแผนให้ภาคเอกชนดูแลเรื่องการส่งนักบินขึ้นไปยังวงโคจรระดับต่ำรอบโลกแทน เพื่อที่นาซาจะได้ไปทุ่มเทให้กับภารกิจส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร
ขณะที่ “จีน” ก็ได้ลงสนามการแข่งขันทางอวกาศเต็มตัวแล้วเช่นกัน กับการส่งยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 ไปยังดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยออกเดินทางในวันที่ 23 พ.ย. และลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อปฏิบัติภารกิจเก็บวัตถุตัวอย่างทั้งบนพื้นผิวและใต้ผิวดวงจันทร์ ก่อนกลับมาถึงพื้นโลกได้ในวันที่ 17 ธ.ค.
จากภารกิจครั้งนี้ทำให้จีนกลายเป็นชาติที่ 3 ที่สามารถเก็บวัตถุตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมายังโลกได้ ต่อจากสหรัฐฯ ในช่วงปี 1960 และโซเวียตในช่วงปี 1970 และเป็นการเก็บวัตถุตัวอย่างจากดวงจันทร์ชิ้นใหม่ที่สุดของโลกในรอบเกินกว่า 40 ปี ซึ่งจีนระบุว่า ภารกิจของส่งยานฉางเอ๋อ 5 นั้นไม่เพียงช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ทั้งยังจะเป็นรากฐานข้อมูลสำคัญสำหรับการลงจอดบนดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ควบคุมและการสำรวจอวกาศของจีนต่อไปในอนาคต
Advertisement