ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเตรียมใช้ยุทธศาสตร์ “ขนมครก” นำร่องควบคุมโรคโควิด 19 พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ สุ่มตรวจพื้นที่ต่างๆ ในชุมชนเป็นจุดเล็กๆ และควบคุมโรคด้วยวัคซีน หลังพบสถานการณ์ติดเชื้อกระจายหลายคลัสเตอร์
วันนี้ (23 มิถุนายน 2564) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ประชุมหารือร่วมกับนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายแพทย์พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการควบคุมโรคโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดใน จ.สมุทรปราการมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากวันละ 100 กว่าราย เพิ่มเป็น 300-500 กว่าราย ภาพรวมมีการติดเชื้อทุกอำเภอ มีคลัสเตอร์เกิดขึ้นจำนวนมาก 41 คลัสเตอร์ ทั้งการติดเชื้อในโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ตลาด ชุมชน คอนโดมิเนียม และแคมป์คนงานก่อสร้าง เนื่องจากการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์เล็ก ๆ ในการควบคุมการระบาดของโรค จึงเสนอให้ใช้ยุทธศาสตร์ “ขนมครก” โดยสุ่มตรวจพื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชนที่มีการติดเชื้อ เมื่อพบผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่การรักษา และใช้วัคซีนฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่นั้น โดยกำหนดจำนวนให้เหมาะสมเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วในพื้นที่เขตบางแค และคลองเตย กทม.
“เมื่อดำเนินการควบคุมโรคแบบขนมครกเป็นจุดเล็กๆ ในทุกพื้นที่ และกระจายมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะควบคุมโรคเป็นพื้นที่ใหญ่ได้ โดยจะนำร่องในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งได้ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำในการควบคุมโรค เนื่องจากการควบคุมโรคจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยมาตรการทางสังคม ความมั่นคง และทางปกครองเข้ามาร่วมด้วย ไม่ใช่ด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว” นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว
สำหรับการควบคุมโรคในโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ใช้มาตรการ Bubble and Seal ในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีการติดเชื้อแล้ว ทำให้ไม่เสียแรงงาน และยังควบคุมโรคไม่ให้แพร่เชื้อสู่ชุมชนได้ รวมถึงการหารือทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการโรงงานที่ยังไม่ติดเชื้อเพื่อใช้มาตรการนี้ด้วย จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด วันที่ 23 มิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 501 ราย เสียชีวิต 3 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 14,491 ราย เสียชีวิตสะสม 137 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 3,218 ราย รักษาหายแล้ว 11,136 ราย
Advertisement