กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา” เพื่อชี้แจงแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานผ่านระบบออนไลน์ มีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ รวมทั้งนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ร่วมชี้แจงมาตรการช่วยเหลือที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องโถงอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ ให้สาธารณชนได้รับทราบทั่วประเทศ
โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
การแถลงจุดยืนลดภาระทางการศึกษา เพื่อย้ำถึงการช่วยเหลือบรรเทา “ครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง” พร้อมจ่ายเงิน #เยียวยานักเรียน คนละ 2,000 บาท ถึงมือผู้ปกครอง ประมาณ 5-7 วัน หลังจากกระทรวงการคลัง (กค.) จัดสรรการโอนเงินให้หน่วยงาน โดย
- สพฐ. โอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครอง หลังรับเงินโอนจาก กค. ตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไป
- สอศ. ผู้ปกครองรับเงินสด ที่วิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไป
- สช. ผู้ปกครองรับเงินสด ที่โรงเรียน หรือรับเข้าบัญชี ตั้งแต่วันที่ 7 เป็นต้นไป
- กศน. ผู้ปกครองรับเงินสด จาก กศน.อำเภอ หรือ ศชช. ตั้งแต่วันที่ 7 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของปัญหาด้านการศึกษาในสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 จึงมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ด้วยมาตรการจัดสรรเงิน อุปกรณ์ ที่ใช้ในการเรียนการสอน และอินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับการศึกษา เพื่อลดผลกระทบทางการศึกษาของเยาวชนให้ได้มากที่สุด โดยเด็กและเยาวชนทั่วประเทศต้องได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแม้อยู่ในสถานการณ์วิกฤติ ผู้เรียนจะต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความยากลำบากในการจัดการเรียนการสอน และการใช้ชีวิตในสถานการณ์โควิด 19 ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเป็นครั้งใหญ่ไปพร้อมกัน เพื่อให้การศึกษาหรือการเรียนรู้ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ผู้เรียนจะต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้” และจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณเป็นกรณีพิเศษเพื่อสนับสนุนเยียวยาและลดผลกระทบทางการศึกษา ให้กับสถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง โดยอนุมัติงบประมาณเป็นวงเงิน 22,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลักดังนี้
1.การจ่ายเงิน “เยียวยานักเรียน” ทุกคน ทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวน ต่อนักเรียน 1 คน โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา ซึ่งมีอยู่ราว 11 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับภายในวันที่ 31 สิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนนี้
2.ลดช่องว่างการเรียนและผลกระทบความรู้ที่ขาดหายไป โดยให้สถานศึกษายืดหยุ่นการใช้เงินงบประมาณตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ทั้งค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนานักเรียน เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณส่วนที่จำเป็นในสถานการณ์โควิด 19 ให้เหมาะสม
3.ให้งบประมาณช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้ครูและบุคลากรได้นำไปใช้ในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีความหลากหลาย รวมไปถึงค่าพาหนะ การดูแลเข้าถึงนักเรียน และค่าอินเทอร์เน็ตสำหรับการเรียนออนไลน์
สพฐ. เน้นความสำคัญของผู้เรียน ปรับรูปแบบการสอน ลดการบ้าน ให้เรียนได้อย่างมีความสุข
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนบ้านให้เป็นสถานศึกษา ซึ่งอายุของเด็ก สภาพแวดล้อมที่บ้าน ผู้ปกครอง อุปกรณ์การเรียนล้วนเป็นปัจจัยสำคัญทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อผ่อนคลายความเครียด จึงต้องออกแบบการจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงสภาพเด็กนักเรียนแต่ละคน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกแบบไว้ดังนี้
กลุ่มที่ 1 บ้านไม่มีไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง จะจัดการเรียนการสอนแบบ On-hand เป็นชุดการเรียนไปให้ทำที่บ้าน
กลุ่มที่ 2 บ้านมีไฟฟ้า มีโทรทัศน์ แต่ไม่มีอินเทอร์เน็ต จะศึกษาโดยระบบ On-air เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV ซึ่งมีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.3
กลุ่มที่ 3 บ้านมีไฟฟ้าใช้ มีอินเทอร์เน็ต จะให้เรียนโดยใช้รูปแบบ Online และ On-demand
โดยสรุปแล้ว เด็กไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใดจะต้องได้เรียนทุกคน ในส่วนของเด็กเล็กก็จะเป็นภาระของผู้ปกครองที่ต้องทำหน้าที่แทนคุณครู ซึ่งผู้ปกครอง นักเรียนและครูจะร่วมกันออกแบบการเรียน โดยยึดบ้านเป็นสถานที่เรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ครูเป็นพี่เลี้ยงของทั้งผู้ปกครองและเด็ก
สำหรับวัยเด็กโต การศึกษาจะเกิดขึ้นได้ดีที่สุด ต้องเรียนรู้โดยใจ ภายในตัวนักเรียนเป็นหลัก หากเด็กมีความรับผิดชอบ มีระเบียบมีวินัย อย่างไรเขาก็ไปสู่เป้าหมายในการเรียนรู้ได้ ขณะเดียวกันมีการปรับแก้ระเบียบแนวทางปฏิบัติการใช้เงินอุดหนุน ให้สามารถเอาไปใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนได้คล่องตัวขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครูที่ต้องใช้เงินตัวเองไปซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ
“สิ่งที่สำคัญที่สุด ตอนนี้เรามองเรื่องเด็ก หากจะมีการเรียน 8 กลุ่มสาระ ทำตารางการเรียนการสอนแบบเดิม คิดว่าเป็นไปไม่ได้แล้ว เราก็มาปรับเป็นตารางเรียนใหม่ เช้าเรียนวิชาการ บ่ายเรียนปฏิบัติ หรือประเมินเด็กนักเรียนจากการปฏิบัติกิจกรรมแทนการจัดความรู้ กำหนดเป้าหมายจุดประสงค์เท่าที่จำเป็น ปรับวิธีการเรียนให้ยืดหยุ่น ลดการบ้านลงโดยครูร่วมกันออกแบบการสอนให้ใบงานเดียวตอบโจทย์ได้หลายวิชา รวมถึงปรับวิธีประเมินผลให้นักเรียนสามารถนำชิ้นงานมาส่งให้แทนการสอบ เพื่อไม่ให้นักเรียนเครียด สามารถเรียนอย่างมีความสุขและสนุกกับการเรียนที่บ้านได้” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
อาชีวะ ปรับการเรียนและการประเมินผล ดูแลผู้เรียนทุกกลุ่ม ภายใต้แนวคิด“เด็กทุกคนต้องได้เรียนและมีคุณภาพ”
อาชีวะ ปรับการเรียนและการประเมินผล ดูแลผู้เรียนทุกกลุ่ม ภายใต้แนวคิด“เด็กทุกคนต้องได้เรียนและมีคุณภาพ”
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. กล่าวถึงการจัดการเรียนของอาชีวศึกษาว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กำหนดการดูแลอยู่ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียน กลุ่มครู กลุ่มผู้ปกครอง และกลุ่มสถานศึกษา ซึ่งในส่วนของผู้เรียน จะเน้นเรื่องของสมรรถนะ นักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาต้องมีการฝึกปฏิบัติ จึงจัดการเรียนรู้ใน 3 รูปแบบ คือ Online On-site และแบบผสมผสาน จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาที่มีสมาร์ทโฟน 97% ส่วนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนก็เข้ามาเรียนแบบ On-site ในสถานศึกษาได้ แต่มีจำนวนน้อยมาก
ทั้งนี้ สถานการณ์บางจังหวัดที่เป็นสีแดงเข้ม ไม่สามารถเรียนแบบ On-site ได้ ต้องเรียนแบบ Online เท่านั้น จึงอาจมีปัญหาเรื่องการฝึกปฏิบัติ ในส่วนนี้ได้หารือกับคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เห็นชอบตรงกันว่า จะปรับในเรื่องกระบวนการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล กล่าวคือ เดิมในหนึ่งภาคเรียนจะมีการวัดผลและประเมินผลในแต่ละภาคเรียนเลย แต่ในเรื่องของการควบคุมคุณภาพ จะมีการจัดการเรียนการสอนทั้งปีการศึกษา ทำให้ในภาคเรียนแรกไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของ On-site ได้ จึงให้นำรายวิชาที่เป็นภาคทฤษฎีเข้ามาเรียนก่อน หลังจากนั้นในภาคเรียนหน้า หากสถานการณ์ดีขึ้น ก็จะใช้รูปแบบ On-site ซึ่งจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เด็กได้มีสมรรถนะ ส่วนในเรื่องของการวัดและประเมินผลเช่นเดียวกัน ที่ประชุม กอศ. เห็นชอบที่จะขยายระยะเวลาในการวัดผลประเมินผลเป็น 1 ปีการศึกษา คือแทนที่จะเสร็จสิ้นภายในภาคเดียวก็สามารถขยายเวลาเพื่อที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ได้ครบถ้วน
ในขณะเดียวกัน อีกกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหาในเรื่องของการจัดการศึกษา คือ นักเรียนนักศึกษาที่เรียนในรูปแบบของทวิภาคี และนักเรียนนักศึกษาที่ฝึกงานในสถานประกอบการ ได้ทำข้อตกลงกันว่า จะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจทั้ง 3 ฝ่าย คือ 1) สถานประกอบการ ต้องมีมาตรการในการควบคุมโรคโควิด 19 ที่เข้มข้น 2) ผู้ปกครอง ยินยอมให้บุตรหลานเข้าไปเรียนในสถานประกอบการ 3) ผู้เรียน มีความสมัครใจเข้าไปเรียนในรูปแบบทวิภาคี หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความเห็นไม่ประสงค์ที่จะไปฝึกงาน ก็ให้สถานศึกษาจัดสถานการณ์จำลองในจังหวัดของตนเอง หรือปรับเป็นการเรียนในรูปแบบปกติไปก่อน เพื่อให้เด็กได้สำเร็จตามหลักสูตรที่กำหนดเอาไว้
ส่วนปัญหาเรื่องผู้เรียนที่ไปฝึกงานในสถานประกอบการแล้วติดเชื้อโควิด 19 หรืออาจจะต้องถูกกักตัว 14 วัน ทำให้มีปัญหาในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน ในส่วนนี้ สอศ.ได้ซักซ้อมไปยังสถานศึกษาให้จัดแผนการเรียนการสอนเฉพาะบุคคลสำหรับเด็กกลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้เด็กมีปัญหาในเรื่องของการเรียนตามหลักสูตร
ด้านครูผู้สอน สอศ. มีแนวทางเดียวกับ สพฐ. คือ ให้ครูลดการประเมินและการประกวดทั้งสิ้น เหลือแต่กระบวนการในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน การวิเคราะห์เนื้อหาที่จะมาสอนว่าเนื้อหาอาชีพที่ต้องรู้ ที่ควรรู้ ที่จะต้องเอามาดำเนินการก่อน ทั้งนี้ที่ผ่านมาสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนพร้อมใจกันคืนเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าเทอมให้ผู้ปกครองรวมเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท และส่วนกลางก็ได้สนับสนุนสถานศึกษาในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Online เพื่อให้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้แนวคิด “เด็กทุกคนต้องได้เรียนและมีคุณภาพ”
กสทช.ช่วยเรียนออนไลน์ ทั้งอินเทอร์เน็ตบ้านและมือถือ รวม 2 รอบบิล
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.มีแนวทางช่วยเหลือประชาชนและนักเรียน ในการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา สังกัด สพฐ. รวมถึงนักเรียนนักศึกษาสังกัดอาชีวศึกษา สังกัด กศน. ตลอดจนสถานศึกษาเอกชนที่รับเงินจากรัฐบาล สังกัด กทม. สังกัดกระทรวงมหาดไทย สังกัด ตชด. รวมถึงโรงเรียนสาธิต ที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จำนวนกว่า 7.7 ล้านคน ในช่วงระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม ถึง 15 ตุลาคม 2564 (2 เดือน) โดยสนับสนุนใน 2 รูปแบบ คือ
แบบที่ 1 ช่วย Top-up แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือให้เบอร์ที่นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน เดือนละ 79 บาท สามารถใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนการสอนได้แบบไม่จำกัด อาทิ Microsoft Teams, Google Meet, ZOOM, Cisco Meeting, WebEx และ Line Chat พร้อมอินเทอร์เน็ตอีก 2GB สำหรับการใช้งานอื่นๆ
แบบที่ 2 ช่วยจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยหักจากบิลค่าบริการ เดือนละ 84 บาท (ยังไม่รวม VAT) เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกรับสิทธิ์ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง และรับได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ์
นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ. ทราบดีว่าภาคประชาชนทั่วไปได้รับความลำบากทางเศรษฐกิจ และต้องการความช่วยเหลือในบางเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษา บางเรื่องก็เป็นภาระกับสถานศึกษา บางเรื่องก็เป็นภาระกับผู้ปกครอง จึงเป็นที่มาของการลดภาระค่าใช้จ่ายการเรียนรู้ส่วน ขณะที่ กสทช. ก็ได้ให้ความช่วยเหลือในการจัด Top Up ค่าใช้จ่ายให้กับผู้เรียนในการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตในการเรียนออนไลน์ ต้องขอบคุณครู ผู้ปกครอง ที่พยายามดูแลบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาให้ได้มากที่สุด โดย ศธ. ได้พยายามที่จะหาทางสนับสนุน และช่วยลดภาระของท่านในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงมีการพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการแถลงข่าวครั้งนี้ มีคณะผู้บริหาร ศธ. เข้าร่วม เช่น นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ, นายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช), นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ (นางกนกวรรณ วิลาวัลย์), นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ สกศ., นายศรีชัย พรประชาธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ศธ. ฯลฯ เข้าร่วม
Advertisement