วิ่งสร้างชาติ! กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา เผยงานวิ่งเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเกือบ 32,000 ล้านบาท
ปัจจุบันการวิ่ง เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงทั้งในระดับโลกและประเทศไทย เนื่องจากเป็นการออกกำลังกายที่มีต้นทุนน้อยและไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาเช่าสนาม โดยสามารถหยิบรองเท้าออกไปวิ่งได้หลากหลายสถานที่ ซึ่งจากการสำรวจชนิดกีฬาที่ประชาชนนิยมเล่นในปี 2567 ที่ผ่านมาพบว่าการวิ่งถนนเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดถึงร้อยละ 43.27 สอดคล้องกับสถานการณ์การจัดงานวิ่งในประเทศไทยที่มีการจัดงานวิ่ง
ประมาณ 2,070 งาน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 จากปี 2566 การจัดการแข่งขันเหล่านี้ไม่เพียงแต่ดึงดูดนักวิ่งจากทั่วโลก แต่ยังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา Economics Tourism and Sports Division เผยว่า งานวิ่งในประเทศไทยส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมกีฬาวิ่งในรูปแบบผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP มากถึง 31,879 ล้านบาท เป็นมูลค่าทางตรง 23,828 ล้านบาท เป็นมูลค่าทางอ้อม 8,051 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 58,911 คน เป็นการจ้างงานเต็มเวลาทางตรง 44,548 คน ทางอ้อม 14,363 คน
สำหรับประเทศไทยมีงานวิ่งมาราธอนหลากหลายรายการที่ได้รับความนิยมจากนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ งานวิ่งเหล่านี้มีทั้งงานวิ่งระดับโลก งานวิ่งที่มีประวัติยาวนาน และงานวิ่งที่จัดขึ้นในสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม นี่คืองานวิ่งมาราธอนที่น่าสนใจในประเทศไทย
กรุงเทพมาราธอน (Bangkok Marathon)
• เป็นงานวิ่งมาราธอนประจำปีที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เริ่มมาตั้งแต่ปี 2531
• จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน
• เส้นทางวิ่งผ่านสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดการแข่งขัน อยู่ที่บนถนนสนามไชย ด้านหน้าพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วหรือหน้ากระทรวงกลาโหม
• มีระยะทางให้เลือกหลากหลาย เช่น มาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน มินิมาราธอน และไมโครมาราธอน
บุรีรัมย์ มาราธอน (Buriram Marathon)
• จัดขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์
• เป็นงานวิ่งมาราธอนมาตรฐานระดับโลก (World Athletics Label)
• เป็นงานวิ่งไนท์รันที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยจัดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ทำให้มีบรรยากาศที่สนุกสนานและแตกต่างจากงานวิ่งมาราธอนทั่วไป
• เส้นทางวิ่งได้รับการออกแบบการแข่งขันให้เป็นมาราธอนมีมาตรฐานสูงสุดจากสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (AAT) สหพันธ์กรีฑาเอเซีย(AAA) และ สหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF) การกีฬาแห่งประเทศไทย ในการออกแบบการแข่งขัน
• เส้นทางวิ่งผ่านสนามช้างอารีนาและสถานที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัด พร้อมบรรยากาศสองข้างทางที่จะได้เสียงเชียร์จากประชาชนอย่างคึกคัก
บางแสน42 ชลบุรีมาราธอน (Bangsaen42 Chonburi Marathon)
• จัดขึ้นที่จังหวัดชลบุรี
• เป็นงานวิ่งมาราธอนที่มีมาตรฐานการจัดงานระดับโลก
• บางแสน21 เป็นรายการที่ได้มาตรฐานโลกระดับทอง (Gold Label) จากสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (World Athletics) หรือ IAAF ซึ่งทำให้รายการวิ่งของบางแสน เป็นเมืองแรกและเมืองเดียวของเอเชียที่ได้มาตรฐานครบทั้ง 3 ระยะ
จอมบึงมาราธอน (Chombueng Marathon)
• จัดขึ้นที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ทุกสัปดาห์ที่ 3 ของมกราคม
• เป็นงานวิ่งมาราธอนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2528
• มีเส้นทางวิ่งที่ท้าทายผ่านธรรมชาติที่สวยงาม เป็นสนามวิ่งที่นักวิ่งทุกคนต้องมาพิชิตให้ได้สักครั้งหนึ่ง
• ได้รับคำชมที่ว่าเป็น “งานประเพณีของชาวบ้านที่มีมาตรฐานสากล”
ภูเก็ตมาราธอน (Phuket Marathon)
• จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ช่วงมิถุนายนของทุกปี เริ่มมาตั้งแต่ปี 2549
• เป็นสนามวิ่งที่ได้มาตรฐานตั้งแต่ครั้งแรกที่จัด ซึ่งได้รับรองมาตรฐานโดย สมาคมวิ่งมาราธอนนานาชาติและการแข่งขันทางเรียบ หรือ The Association of International Marathons and Distance Races: AIMS
• เป็นสนามที่วิวสวย วิ่งผ่านตัวเมืองและทะเล แต่อากาศค่อนข้างร้อน และมีความชันในบางช่วง จึงเป็นสนามที่ท้าทายนักวิ่ง
เชียงใหม่มาราธอน (Chiang Mai Marathon)
• เป็นรายการวิ่งขนาดใหญ่ที่สุดของภาคเหนือที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2009
• เส้นทางวิ่งผ่านสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเชียงใหม่ เช่น คูเมือง วัดวาอาราม และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
• บรรยากาศการวิ่งที่สวยงามและเย็นสบาย เนื่องจากสภาพอากาศของเชียงใหม่ในช่วงฤดูหนาว
• จัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา
• เป็นงานวิ่งมาราธอนที่ได้มาตรฐานระดับโลก World Athletics Road Race Label ได้รับความนิยมจากนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
• เส้นทางวิ่งมีการจัดบนถนนมอเตอร์เวย์ลำตะคอง ผ่านสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองโคราช
การวิ่งจึงเป็นกีฬาที่สร้างผลลัพธ์ทางสังคม โดยมีผลพลอยได้คือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่นักวิ่งใช้จ่ายไปกับอุปกรณ์วิ่งต่าง ๆ ทั้งรองเท้า เสื้อผ้า นาฬิกา Gadget ฯลฯ และเมื่อนักวิ่งเริ่มสมัครงานวิ่งเพื่อสร้างความท้าทายให้กับตัวเองโดยเดินทางไปวิ่งในรูทเส้นทางที่แปลกใหม่จึงทำให้เกิดการใช้จ่ายในพื้นที่ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าของที่ระลึก ค่าใช้จ่ายในแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญและส่งเสริมให้ประชาชนออกมาวิ่งเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและส่งผลให้อุตสาหกรรมการกีฬาของไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
Advertisement