นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ MEA และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบความพร้อมระบบไฟฟ้าสถานีสูบน้ำคลองกะจะ เขตบางกะปิ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่การระบายน้ำที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร สอดรับกับนโยบายกระทรวงมหาดไทย ในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อให้สามารถบริหารจัดการระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้า ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพรวมถึงการรองรับเหตุฉุกเฉินและขัดข้องต่าง ๆ ของสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำ ที่มีอยู่ในพื้นที่ กทม. รวมทั้งสิ้น 762 แห่ง อยู่ในความดูแลของ MEA 364 แห่ง โดย MEA มีการเชื่อมโยงระบบจ่ายไฟฟ้าหลัก และระบบจ่ายไฟฟ้าสำรองให้กับสถานีสูบน้ำทุกแห่ง เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และสามารถบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA และระบบ DMS เพื่อสั่งการจ่ายไฟ อัตโนมัติ จะช่วยในการบริหารจัดการ ตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูลและการทำงานของระบบควบคุมแรงดัน เพื่อให้การจ่ายกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย
ผู้ว่าการ MEA กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา MEA ยังมีแผนการตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้กับสถานีสูบน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาด้านระบบไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ที่จะต้องมีการตรวจสอบในลักษณะทางกายภาพ เช่น การตัดแต่งกิ่งไม้ และตรวจสอบป้ายต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกลมพายุพัดกระแทกระบบไฟฟ้าของ MEA ให้เกิดความเสียหายได้ รวมถึงการตรวจสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ส่งผลต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภายในสถานีสูบน้ำแต่ละแห่ง ตลอดจนการจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูแลระบบไฟฟ้าประจำจุดที่สำคัญ พร้อมทั้งการบูรณาการกับสถานีสูบน้ำทุกแห่ง รวมถึงศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร เพื่อการแก้ไขเหตุไฟฟ้าดับฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ MEA ได้ทดสอบการใช้ระบบ IOT ตรวจจับระบบไฟฟ้าดับในกลุ่มสถานีสูบน้ำนำร่องในพื้นที่ การไฟฟ้านครหลวงเขตยานนาวา และ การไฟฟ้านครหลวงเขตบางใหญ่ เพื่อให้การแก้ไขเหตุไฟฟ้าดับสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน MEA ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถแจ้งเหตุไฟฟ้าดับได้อย่างรวดเร็ว ผ่านช่องทาง MEA Smart Life Application ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ภาคสนาม ผ่านระบบปฏิบัติการ Field Force Management (FFM) และระบบแผนที่ GIS ของ MEA ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อดำเนินการแก้ไขไฟฟ้าขัดข้องได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและน้ำท่วมขัง
Advertisement