MEA เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมระบบไฟฟ้า บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ เตรียมความพร้อมและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับสูงสุด ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับการประชุม APEC 2022
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง รองรับการประชุม APEC 2022 ระหว่างวันที่ 14 - 19 พฤศจิกายน 2565 พร้อมบูรณาการหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อให้เกิดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในระดับสูงสุด ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย
สำหรับศูนย์ปฏิบัติการแห่งนี้ จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการประสานงานระหว่างศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยระบบ SCADA/EMS/DMS ทั้ง 2 แห่ง สถานีไฟฟ้า 22 สถานี รวมถึงการไฟฟ้านครหลวงทั้ง 18 เขต และสถานที่สำคัญ 26 แห่ง รองรับการจัดประชุม APEC 2022 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และหอประชุมกองทัพเรือ เป็นต้น โดยมีการเชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการ Field Force Management หรือ FFM กับระบบแผนที่ GIS เพื่อใช้ในสถานการณ์เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ ให้สามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วและแม่นยำ พร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในรูปแบบต่าง ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ตามแผนรับมือเหตุวิกฤตของ MEA
เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางระบบไฟฟ้าสูงสุดในการจัดงาน APEC 2022 ครั้งนี้ MEA ยังได้ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ ช่วยการเตรียมความพร้อมในด้านระบบไฟฟ้า ได้แก่ การใช้เทคโนโลยี Acoustic Camera และ Thermovision สแกนตรวจเสียงในคลื่นความถี่สูง และตรวจจับความร้อนของอุปกรณ์ไฟฟ้า การใช้ Drone ตรวจสอบระบบสายส่งไฟฟ้า ใช้เทคโนโลยีการตรวจจับความผิดปกติในระบบไฟฟ้า เช่น Partial Discharge Power Transformer รวมถึงการตรวจสอบอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดิน 230 kV ติดตั้ง Battery UPS และ Generator อีกทั้ง ระดมเจ้าหน้าที่ MEA กว่า 700 คน ประจำสถานีไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องทุกสถานี จัดเจ้าหน้าที่ประจำห้องไฟฟ้าของโรงแรมที่พักทุกแห่ง พร้อมรถปฏิบัติงานกว่า 250 คัน พร้อมด้วย ทีม MEA Ready Rider ซึ่งเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วที่ปฏิบัติภารกิจแก้ไขไฟฟ้าขัดข้องเร่งด่วน โดยทั้งหมดนี้ จะกระจายตำแหน่งการดูแลตามจุดต่าง ๆ ให้สามารถรองรับได้ในทุกสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
MEA ยังได้ร่วมบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมเตรียมความพร้อมในการจัดประชุม ฯ กับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และตรวจสอบระบบไฟฟ้าพื้นที่จัดการประชุม APEC 2022 นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการเพิ่มความมั่นคงจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าต้นทางให้อยู่ในระดับสูงสุด ขณะเดียวกันทางด้านทัศนียภาพ ยังได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ในการจัดระเบียบสายสื่อสารบริเวณสถานที่จัดงาน และพื้นที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้ร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปรับผิวการจราจร ทำให้เกิดความเรียบร้อย สวยงาม เพื่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานในครั้งนี้
สำหรับประชาชนที่พบเห็นอุปกรณ์ไฟฟ้าของ MEA ชำรุด อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งเหตุได้ที่ MEA Smart Life Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ใช้งานได้ทั้งผ่านระบบ iOS และ Android ดาวน์โหลดฟรี คลิก
https://onelink.to/measmartlife หรือสอบถามผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, Twitter: @mea_news และศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสามารถแจ้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง รองรับการประชุม APEC 2022 ได้ที่เบอร์โทร 0 2348 5288 และ 0 2348 5289