STGT โชว์ผลงานเด่นอย่างต่อเนื่อง! เข้ารับประกาศนียบัตรกับ อบก. สานต่อความเป็นเลิศด้านผู้นำอุตสาหกรรมถุงมือยางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ Net Zero
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา นายชลนธี สุตตะระ ผู้จัดการโรงงานฝ่ายผลิต และรักษาการผู้จัดการโรงงานฝ่ายวิศวกรรม บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT สาขาตรัง เป็นตัวแทนผู้บริหาร เข้ารับใบประกาศเกียรติคุณในฐานะที่บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการ “ส่งเสริมการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่ Net Zero ด้วยวิธี Science Based Target” โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ TGO เป็นประธานและผู้มอบใบประกาศเกียรติคุณ ซึ่งงานสัมมนาและรับรางวัลในครั้งนี้จัดขึ้นโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) หรือ อบก. ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลังงานเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (CEEE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ
การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ นำร่องโดย บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) สาขาตรัง (“โรงงานสาขาตรัง”) เพื่อศึกษาแนวทางการกำหนดเป้าหมายและจัดทำแผนการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ Net Zero ตามแนวทางของอบก. และSBTi การเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โรงงานสาขาตรังได้กำหนด Pathway 5 ปี คือ ปี 2567 – 2571 และตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 ลงร้อยละ 18.52 เทียบกับปีฐาน พ.ศ. 2566 ภายในปี พ.ศ. 2571 โดยมีแผนการดำเนินงานที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาและแบบทุ่นลอย ซึ่งมีขนาดติดตั้งรวมทั้งสิ้น 7.556 เมกะวัตต์ การเปลี่ยนการใช้รถโฟล์คลิฟท์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นไฟฟ้า จำนวนทั้งสิ้น 18 คัน และการเปลี่ยนการใช้รถตัก (Wheel Loader) จากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นไฟฟ้า จำนวนทั้งสิ้น 4 คัน จากแผนงานดังกล่าวจะทำให้โรงงานสาขาตรังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ทั้งสิ้น 4,858 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้พิจารณานำหลักการดังกล่าว มาปรับใช้ทั้งองค์กร เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด “Clean World Clean Gloves” (CWCG) หรือ “ถุงมือสะอาด โลกสะอาด” ที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าครอบคลุมทุกมิติอย่างยั่งยืน
Advertisement