สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ - ซีพีแรม และ ซีพี ฟู้ดแล็บ ลงนามความร่วมมือยกระดับการศึกษา “จัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการอาหาร” เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอาหารไทยยั่งยืน พร้อมผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอาหารของโลก
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ร่วมกับ บริษัท ซีพีแรม จำกัด (CPRAM) ผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทาน และ บริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการจัดการศึกษา “ร่วมจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการอาหาร (Faculty of Food Science, Technology and Management)” เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในอุตสาหกรรมอาหารอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยซีพีแรมได้สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรยกระดับคุณภาพการเรียน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไปจนถึงการฝึกงาน รวมถึงมอบทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทย และร่วมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีองค์ความรู้ และทักษะมาตรฐานขั้นสูง เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร รองรับการเติบโตสร้างผลกระทบเชิงบวกในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืนในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวว่า “พีไอเอ็ม มีรูปแบบการเรียนการสอนที่เรียกว่า Work-based Education การเรียนรู้ควบคู่กับการฝึกงาน รวมถึงมุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กร ภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งความร่วมมือจากเครือข่ายจะสามารถเติมเต็มกระบวนการของ Work-based Education ได้ตามเป้าหมายอย่างสมบูรณ์เป็นรูปธรรม เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่งในการลงนามความร่วมมือกับ ซีพีแรม เพื่อสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ผ่านการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เสริมการค้นคว้าวิจัย องค์ความรู้ และประสบการณ์ด้านการจัดการอาหาร การคิดเชิงสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยี เพื่อความมั่นคงด้านอาหารครอบคลุมมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ พร้อมปฏิบัติงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา หรือ Ready to Work ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าอุตสาหกรรมอาหารของประเทศต่อไป”
ดร.เดโช ปลื้มใจ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการอาหาร กล่าวว่า “โครงสร้างหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร ประกอบด้วย 133 หน่วยกิต ให้ความสำคัญกับการออกแบบรายวิชา และการฝึกภาคปฏิบัติงานที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง อาทิ นวัตกรรมและอาหารแห่งอนาคต การจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยีในธุรกิจการแปรรูปอาหารสมัยใหม่ การขายและการตลาดสำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่ การจัดการโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน เป็นต้น ล้วนเป็นรายวิชาที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยรับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหารต่อเนื่อง โดยผู้ที่สำเร็จหลักสูตรจะได้รับวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี และได้รับการรับรองวิทยฐานะจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน สามารถออกไปมาปฏิบัติงานได้ทันที หรือต่อยอดไปสู่การศึกษาเฉพาะทาง ความร่วมมือกับซีพีแรมในการปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ จึงถือเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเยาวชนที่ต้องการเดินทางสู่ธุรกิจอาหารระดับมืออาชีพในอนาคต”
นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวต่ออีกว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก และมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซีพีแรมเล็งเห็นถึงการจัดการองค์ความรู้หรือ KM ขององค์กร ที่สะสมมาตลอดระยะเวลา 38 ปี และมีความเป็นเลิศเหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการศึกษาให้กับสังคมในระดับอุดมศึกษา ซึ่งต่อยอดจากศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ ซีพีแรม ที่ได้เปิดดำเนินการสอนในระดับ ปวช. มาเป็นเวลากว่า 18 ปีแล้ว ไม่เพียงแต่สอนให้นักศึกษารู้และเข้าใจกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร ยังบูรณาการองค์ความรู้ TQM TPM และ LEAN ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารองค์กรสู่ความเป็นเลิศ เข้าไปในการเรียนการสอนร่วมด้วย โดยมีบริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด ได้ร่วมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมแลกเปลี่ยนและแบ่งปันองค์ความรู้ รวมถึงสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรม รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งนี้สอดคล้องกับแนวทางสามประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ซีพีแรมให้ความสำคัญเสมอมา”
ทั้งนี้ ผู้ที่สำเร็จหลักสูตรในคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการอาหารนี้ จะเป็นนักปฏิบัติ นักจัดการ สามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพตั้งแต่วันแรกที่เรียนจบ อีกทั้งยังสามารถประกอบอาชีพต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร ได้มากมาย อาทิ ผู้ควบคุมกระบวนการแปรรูปอาหาร (Production) ผู้ตรวจสอบและควบคุมคุณภาพอาหาร (QC) ผู้ตรวจสอบมาตรฐานและระบบประกันคุณภาพอาหาร (QA) นักพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (R&D) นักวางแผนการผลิต (Planning) และการจัดการอาหาร งานส่งเสริมการขาย การตลาดและการจัดซื้อไปจนถึงการเป็นผู้ประกอบการด้านการพัฒนาธุรกิจและต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ต้องการ อย่างมากในตลาดอุตสาหกรรมอาหารทั้งของไทยและทั่วโลก เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอาหารไทยยั่งยืนพร้อมผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอาหารของโลก
Advertisement