โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดตัว “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดปฏิวัติการรักษามะเร็ง” ร่วมรณรงค์ CRA United by Unique Against Cancer เอาชนะมะเร็งด้วยสหวิทยาการรักษา เนื่องในวันมะเร็งโลก
ในแต่ละปีโรคมะเร็งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกในอัตราที่สูงมากขึ้น เนื่องในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ 2568 ปีนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำทีมศัลยแพทย์เฉพาะทางสหสาขา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมบริการวิชาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งและญาติในหัวข้อ “ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดก้อนมะเร็งที่เข้าถึงยากและซับซ้อนด้วยนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” พร้อมนิทรรศการนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดปฏิวัติการรักษามะเร็ง ‘ROBOTIC-ASSISTED CANCER SURGERY REVOLUTION’
โดยมี รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องประชุม CONVENTION HALL ชั้น 6 อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาวิจัยและสถาบันการแพทย์ มีพันธกิจในด้านบริการวิชาการและวิชาชีพด้านสุขภาพแก่สังคม โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นส่วนงานหลักในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน ตามพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ทรงจัดตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์แห่งนี้
เนื่องในวันมะเร็งโลก ปีนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด CRA United by Unique Against Cancer “เอาชนะมะเร็งด้วยสหวิทยาการรักษา” เปิดตัวนวัตกรรม “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดปฏิวัติการรักษามะเร็ง” ROBOTIC-ASSISTED CANCER SURGERY REVOLUTION นำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้ในด้านศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ ศัลยกรรมตับ ตับอ่อน ศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศัลยกรรมทางนรีเวช ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก ตลอดจนการผ่าตัดลดความอ้วน แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในการนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายสาขาศัลยกรรม ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำและผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ป่วย
นพ.วิชญะ ปริพัฒนานนท์ แพทย์เฉพาะด้านศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ชาย กล่าวว่า ประเทศไทยมะเร็งต่อมลูกหมากมีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับ 4 ในผู้ป่วยมะเร็งชาย ปัจจุบันการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมากได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์ในการผ่าตัดที่ดีกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีอื่น ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบส่องกล้องแผลเล็ก รวมถึงมีการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาเป็นอีกทางเลือกของการรักษา โดยศัลยแพทย์ยังเป็นผู้ที่ทำการผ่าตัดอยู่ ทำให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วย แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็วขึ้น สามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้น
“การผ่าตัดมะเร็งจะมีการผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดแบบแผลเล็ก เนื่องจากการเคลื่อนไหวของข้อมือหุ่นยนต์ที่ทำได้ไม่ต่างจากมือศัลยแพทย์ ยังสามารถลดการสั่นได้ด้วย ฉะนั้นจึงช่วยเพิ่มความแม่นยำ เข้าถึงอวัยวะที่มีโครงสร้างซับซ้อนได้ง่ายขึ้น”
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์นั้น นพ.วิชญะ ยอมรับว่า สูงมาก แต่เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนให้ใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ และมะเร็งตับอ่อน ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีในส่วนของเครื่องและการบำรุงรักษายังถือว่าสูงอยู่ แต่ข้อได้เปรียบคือ ทำให้ระยะเวลาของการนอนโรงพยาบาลสั้นกว่าผ่าตัดแบบเปิด และคนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว
“การมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนอกจากทำให้การผ่าตัดแบบแผลเล็กมีความแม่นยำขึ้น ใช้เวลาในการผ่าตัดสั้นลง ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยลง หายเร็วขึ้น ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้นลง ไม่เพียงทางโรงพยาบาลมีเตียงเพื่อในการให้บริการแก่ผู้ป่วยรายอื่นๆ หมอก็มีเวลาไปดูแลรักษาผู้ป่วยอื่นมากขึ้น สามารถผ่าตัดได้เพิ่มขึ้นจากวันละ 1 เคส เป็น 2-3 เคส เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์”
สำหรับผู้ที่ตรวจพบก้อนมะเร็งหรืออยากปรึกษาด้านการผ่าตัดรักษาด้วยนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสามารถปรึกษานัดหมายได้ผ่านทาง LINE Official Account Robotic โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ @995qqoxi (กดเพิ่มเพื่อน >> https://lin.ee/Zb7PWe2) เพื่อเข้าถึงการติดต่อเจ้าหน้าที่ในการให้บริการ พร้อมเตรียมเอกสารเพื่อส่งปรึกษา อาทิ ประวัติการรักษา รายงานการผ่าตัด ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รายงานผลทางรังสีวินิจฉัยพร้อมซีดี รายงานผลทางพยาธิวิทยา ผลชิ้นเนื้อพร้อมสไลด์บล็อก (ถ้ามี) ผลชิ้นเนื้อไขกระดูก (ถ้ามี) เพื่อคัดกรองประวัติและอาการกับแพทย์ก่อนนัดหมายเข้ารับบริการต่อไป
Advertisement