วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2568) นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการทหารสื่อสาร กรมการสื่อสารทหาร บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) สมาคมผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานรื้อสายสื่อสารถนนวิทยุเป็นเส้นทางแรกของปี 2568 โดยมีคณะอนุกรรมาธิการศึกษากฎหมายด้านการสื่อสาร การโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแผนงาน การจัดระเบียบสายไฟ สายสื่อสาร และการนำสายไฟ สายสื่อสารลงดินในพื้นที่ทั่วประเทศไทย รวมถึงติดตามโครงการความคืบหน้าการนำสายสื่อสารลงดิน เข้าร่วมสังเกตการณ์ ทั้งนี้เพื่อสร้างทัศนียภาพเมืองที่สวยงาม และความปลอดภัยแก่ประชาชน พร้อมเดินหน้าสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และการสื่อสารที่มั่นคง ตามนโยบายของรัฐบาล ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า ถนนวิทยุเป็นหนึ่งในโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมการจ่ายไฟฟ้าจากระบบสายไฟฟ้าใต้ดินให้แก่ประชาชนกลางปี 2569 หลังจากนั้นจะรื้อถอนเสาไฟฟ้าออกทั้งหมด โดยในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้นำสายสื่อสารลงใต้ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงร่วมมือกันรื้อสายสื่อสารออกจากเสาไฟฟ้า ทั้ง 2 ฝั่งถนนวิทยุ ตั้งแต่บริเวณแยกเพลินจิต ถึงถนนพระรามที่ 4 ระยะทางรวม 2.1 กิโลเมตร ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมปี 2568 MEA และหน่วยงานภาคี มีแผนนำสายสื่อสารลงใต้ดินจำนวน 47 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 171.24 กิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่บางช่วงของถนนสายสำคัญต่าง ๆ เช่น ถนนพระราม 4 (ต่อเนื่อง) ถนนวิทยุ ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ถนนลาดพร้าว (ช่วงที่ 1) ถนนจรัญสนิทวงศ์ (ช่วงที่ 2) และถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าจำนวน 697 เส้นทาง รวมระยะทาง 1563.04 กิโลเมตร โดยวิธีติดตั้งสายสื่อสารใหม่ที่มีคุณสมบัติไม่ลามไฟบนคอนสายสื่อสาร รวมถึงรื้อสายสื่อสารเก่าออกทั้งหมด
ในด้านการใช้เทคโนโลยี MEA ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาคี ควบคุมการติดตั้งสายสื่อสารให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของ MEA รวมถึงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า Smart CCM (Smart Communication Cable Management) เพื่อให้บริการขออนุญาตติดตั้งสายสื่อสารแบบออนไลน์ (Online) บันทึกข้อมูลของสายสื่อสาร และแผนผังเส้นทางที่ติดตั้งสายสื่อสารในแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) ของ MEA ช่วยบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารที่ติดตั้งขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการดำเนินงานด้านจัดระเบียบสายสื่อสารแล้ว MEA ยังมีโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินที่กำหนดเป้าหมาย 313.5 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยโครงการดังกล่าว จะบูรณาการความร่วมมือในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินไปในคราวเดียวกันเพื่อลดปัญหา และผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างอีกด้วย
MEA ในฐานะหน่วยงานผู้ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้สนับสนุนการจัดระเบียบสายสื่อสารตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย มีการดำเนินการจัดระเบียบรวมถึงบูรณาการร่วมกันเพื่อจัดทำโครงการสายสื่อสารใต้ดินอย่างต่อเนื่อง โดย MEA พร้อมอำนวยความสะดวกในด้านความปลอดภัยจากการทำงานบนเสาไฟฟ้าให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านความปลอดภัย ทัศนียภาพที่ดี รวมถึงความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้า การลดอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับประชาชนที่พบเห็นสายสื่อสารที่รกรุงรัง หลุดห้อยไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กสทช. โทร. 1200 หรือพบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าของ MEA ชำรุด อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งเหตุได้ที่ MEA Smart Life Application หรือสอบถามผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Line: MEA Connect (@MEAthailand) สัญลักษณ์โล่สีเขียวนำหน้าชื่อบัญชีทางการเลือกเมนูติดต่อ MEA Call Center Online 1130 ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
#สายสื่อสาร #สายสื่อสารรกรุงรัง #สายรกรุงรัง
#จัดระเบียบสายสื่อสาร #รื้อสายสื่อสาร #MEAsmartdistribution
#พลังดีดีที่รู้สึกได้ทุกวัน #MEA #การไฟฟ้านครหลวง #พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
Advertisement