หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ปีนี้ประเทศไทยร้อนที่สุดในรอบ 73 ปี และอุณหภูมิบางพื้นที่อาจสูงถึง 45 องศาเซลเซียส เชื่อว่าหลายคนพอเห็นประกาศนี้ คงรู้สึกร้อนกันมาก และรีบเดินไปเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อคลายร้อน แน่นอนว่า การเปิดแอร์ เป็นวิธีที่คลายร้อนได้ดีที่สุดในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ ถึงแม้จะตามมาด้วยค่าไฟที่พุ่งสูงมาก
นอกจากอากาศที่ร้อนแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ดูเหมือนจะหนักขึ้น และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทีเดียว ก็คือเรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ทะยานขึ้นอันดับ 1 เมืองอากาศแย่สุดในโลก และยังมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาฝุ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูเหมือนว่า การเปิดเครื่องฟอกอากาศในบ้าน คงไม่ใช่การป้องกันที่ดีที่สุดแล้ว
ปัจจุบันมีนวัตกรรมอะไรบ้าง ที่สามารถแก้ปัญหาค่าไฟแพงได้ รวมถึงปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ทาง SPOTLIGHT ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ‘คุณดุสิต ชัยรัตน์’ Smart Home Living Solution Director SCG ที่งานบ้านและสวนแฟร์ 2024 ที่ผ่านมา ที่ได้พัฒนานวัตกรรมหลายอย่าง ภายใต้คอนเซ็ปท์ ‘Smart Home Living Solution’ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาค่าไฟแพง-ฝุ่น PM 2.5
อากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้เครื่องปรับอากาศทำหนักขึ้น
ช่วงเดือนเมษายน มักจะเป็นช่วงที่มีอากาศร้อน โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศ อุณหภูมิสูงขึ้นมาก ทำให้การใช้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลม กลายเป็นหนึ่งในตัวช่วยกับร้อนสำหรับหลายคน แต่ก็ ทำให้ค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยตัวเลข ‘ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด’ ย้อนหลังพบว่า ปี 2561-2566 ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม มักทำสถิติสูงที่สุดในทุกปี ซึ่งทางกฟผ. ประมาณการว่า สำหรับภาพรวมในปีนี้ ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดจะเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเดือนเมษายนจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 35,000 เมกะวัตต์ สูงที่สุดในปีนี้ และทุบสถิติของปีก่อนหน้าด้วย:
- ปี 2561: วันที่ 24 เมษายน 2561 เวลา 20.30 น. = 28,338.10 เมกะวัตต์
- ปี 2562: วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 เวลา 22.27 น. = 30,853.20 เมกะวัตต์
- ปี 2563: วันที่ 12 มีนาคม 2563 เวลา 20.30 น. = 28,636.70 เมกะวัตต์
- ปี 2564: วันที่ 3 เมษายน 2564 เวลา 21.03 น. = 30,135.30 เมกะวัตต์
- ปี 2565: วันที่ 27 เมษายน 2565 เวลา 22.36 น. = 32,254.50 เมกะวัตต์
- ปี 2566: วันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. = 34,130.50 เมกะวัตต์
ในขณะเดียวกัน ‘อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยรายปีของประเทศไทย’ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเท่านี้ กรมอุตุนิยมวิทยาเผยว่า ฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้ มีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงที่สุด 43-45 องศาเซลเซียส สำหรับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 36-37 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติ 1.0-1.5 องศาเซลเซียส และจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา
จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทุกปี ทำให้หลายคนเลือกที่จะใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อดับความร้อน ซึ่งทำให้การใช้ไฟบ้านเห็นแนวโน้มที่พุ่งขึ้นในทุกปี ในเวลาเดียวกัน เครื่องปรับอากาศก็ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงที่ต่อเนื่อง และสู้กับสภาพอากาศข้างนอกที่ร้อนขึ้นทุกปี ต่อให้ใช้งานเท่าเดิม แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าก็กินไฟเพิ่มขึ้นอยู่ดี
จากการทดสอบของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พบว่า อากาศที่ร้อนขึ้น 6 องศาเซลเซียส จะทำให้เครื่องปรับอากาศใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นถึง 14% อย่างการเปิดแอร์ 1 ชั่วโมง อุณหภูมิห้องที่ 26 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิด้านนอกอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส พบว่า มีการใช้ไฟฟ้าที่ 0.69 หน่วย แต่เมื่ออุณหภูมิด้านนอกสูงถึง 41 องศาเซลเซียส พบว่ามีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ไปอยู่ที่ 0.79 หน่วย
และเมื่อมีการเปิดแอร์นานถึง 8 ชั่วโมงติดสำหรับอุณหภูมิห้องที่ 26 องศาเซลเซียสเช่นกัน จากผลทดสอบพบว่า ถ้าอุณหภูมิด้านนอกอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส มีการใช้ไฟฟ้าที่ 5.52 หน่วย แต่เมื่ออุณหภูมิด้านนอกสูงถึง 41 องศาเซลเซียส พบว่ามีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ไปอยู่ที่ 6.32 หน่วยเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านี้ การใช้เครื่องปรับอากาศยังก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 4% ของทั่วโลก ซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินทั้งหมดถึงสองเท่า ซึ่งนักวิจัยคาดว่า ภายในปี 2593 จำนวนเครื่องปรับอากาศในห้องบนโลกจะเพิ่มขึ้นสี่เท่า อยู่ที่ 4.5 พันล้านเครื่องเลยทีเดียว
ส่วนภายในปี 2643 World Economic Forum เผยว่า การใช้เครื่องปรับอากาศ อาจส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 0.5-1.5 องศาเซลเซียส เพราะเครื่องปรับอากาศปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากสารทำความเย็น (refrigerants) และปล่อยมลพิษทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้า ซึ่งสารทำความเย็นรั่วไหลออกสู่ชั้นบรรยากาศตลอดอายุการใช้งานของเครื่องปรับอากาศ และทรงพลังมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันเท่า อย่างไรก็ตาม สารทำความเย็นมีส่วนเพียง 20-30% ของผลกระทบเท่านั้น เพราะอีก 70–80% มาจากการใช้ไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้า
คนไทยได้สูดอากาศดีเพียง 49 วันต่อปี
อีกหนึ่งปัญหาของอากาศที่ถูกพูดถึงก็คือ ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมาก จากหลายเคสที่ผ่านมา และ จำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศมากถึง 10.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 36% จากปี 2565 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สำนักข่าว AFP รายงานว่า ในช่วง 9 สัปดาห์แรกของปีนี้ มีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในประเทศไทยที่ 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 1.3 ล้านคน ช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาด้วย
ส่วนข้อมูลจาก Rocket Media Lab พบว่า ปี 2565 กรุงเทพมหานครมีวันที่อากาศดี หรืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 49 วัน คิดเป็น 13.42% ของทั้งปี ส่วนปีที่ผ่านมา จำนวนวันที่อากาศดีลดลงเหลือเพียง 31 วัน หรือ 8.52% ของทุกปี ซึ่งดูเหมือนว่า ในอนาคต ตัวเลขก็จะลดลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน
ไม่เพียงเท่านี้ สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศระบุว่า มลพิษอากาศโดยเฉพาะจาก PM 2.5 ถือเป็น ‘สารก่อมะเร็ง’ โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการในปี 2559 ว่า ผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดจากมิลพิษอากาศในประเทศไทยสูงถึง 6,330 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
สิ่งที่ตอนนี้หลายคนทำได้มากที่สุด ก็คือ การใช้เครื่องฟอกอากาศ และพยายามหลีกเลี่ยงการออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ในบางครั้ง เครื่องฟอกอากาศก็ไม่สามารถช่วยกรองอากาศให้สะอาดได้ เพราะอากาศที่มีมลพิษมากขึ้นในทุกวัน ทำให้บางคนเริ่มรู้สึกคุ้นชินกับสภาพอากาศแบบนี้ไปแล้ว แต่อย่าลืมว่า มลพิษจากฝุ่น PM 2.5 มันสามารถส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว
นวัตกรรมที่ช่วยประหยัดไฟ และลดค่าฝุ่น PM 2.5
คุณดุสิต ชัยรัตน์ Smart Home Living Solution Director SCG เผยว่า ในปัจจุบัน มีนวัตกรรมที่สามารถช่วยแก้ปัญหาทั้งค่าไฟแพง อากาศร้อนในบ้าน และปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมถึงเชื้อแบคทีเรียและไวรัส โดยทาง SCG ได้พัฒนานวัตกรรมหลายอย่าง ภายใต้คอนเซ็ปท์ ‘Smart Home Living Solution’ ที่มาพร้อมกับ 3 นวัตกรรมที่น่าสนใจ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของนวัตกรรมที่สามารถช่วยประหยัดไฟ ลดความร้อน และช่วยเติมอากาศดีเข้ามาในบ้านได้ แต่ท้ายที่สุดท้าย คนเรายังต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วย ไม่ใช่พึ่งแค่นวัตกรรมเหล่านี้ เพราะสุดท้าย อะไรที่ถูกนำมาใช้ และไม่มีการทดแทน สักวันก็จะหมดไป
รับชมรายการ Tech-Trend ได้ที่
ที่มา EGAT, TMD, MEA, Washington Post, Scientific American, World Economic Forum, Amarin TV, Thai Health Resource Center