BYD หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก ทำยอดขายและรายได้เติบโตต่อเนื่อง ล่าสุดรายงานผลประกอบการครึ่งปีแรก อวดกำไรโตกว่า 204.68% แตะ 1.095 หมื่นล้านหยวน และรายได้รวมถึง 2.6 แสนล้านหยวน เสริมความแกร่งในฐานะแบรนด์รถยนต์ที่มียอดขายสูงที่สุดในจีน
จากรายงานที่บริษัทยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ ในไตรมาสที่ 2 ยอดขายรถของ BYD สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยขึ้นไปสูงถึง 700,244 คัน มากกว่า Tesla ซึ่งขายไปได้ 466,140 คันทั่วโลกในช่วงเวลาเดียวกัน นี่ทำให้ ในไตรมาสที่สอง BYD ทำกำไรได้ทั้งหมดถึง 6.82 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 144.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ซึ่งเมื่อผลประกอบการดังกล่าวออกมา หุ้นของ BYD บนตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงก็ปรับตัวขึ้นทันที 5.6% ในวันที่ 29 สิงหาคม ขณะที่หุ้นบนตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นปรับตัวสูงขึ้น 4.75% สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในความสามารถในการขยายธุรกิจของ BYD ซึ่งได้พิสูจน์ตัวเองด้วยจำนวนยอดขายที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะต้องผ่านการแข่งขันด้านราคาอย่างหนักจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจีน
ในปัจจุบัน จีนเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้งในด้านยอดขายและการผลิต และยังเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ผู้ผลิตอีวีทั่วโลกต่างอยากเข้าไปเจาะและแย่งส่วนแบ่งตลาดมูลค่ามหาศาลนี้ ซึ่งแน่นอนว่ากลยุทธ์หนึ่งที่หลายๆ เจ้าทำเพื่อแย่งลูกค้าคือการแข่งกันลดราคา เพื่อซื้อใจผู้บริโภคจีนที่ยังคงระมัดระวังการใช้เงินหลังเปิดประเทศ
ถึงแม้จะมีการตกลงเลิกตัดราคาแข่งกันอย่างหลวมๆ ไปแล้วในเดือนกรกฎาคม ผู้ผลิตอีวีในจีนยังคงลดราคาสินค้าตัวเองกันอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้ (สิงหาคม) Tesla ก็เพิ่งลดราคา Model S และ Model X ไป เพิ่มเติมจากก่อนหน้านั้นที่ได้มีการลดราคา Model Y และ Model 3 และก่อนหน้านี้ BYD และคู่แข่งอย่าง Nio และ Xpeng ก็เพิ่งตัดสินใจลดราคารถเพื่อดึงดูดลูกค้าในจีนเช่นเดียวกัน
การแข่งกันลดราคาแบบนี้ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนถือได้ว่ามีการแข่งขันสูงมาก และอาจทำให้กระทบกับรายได้ และผลกำไรในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า BYD ยังมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งจากทั้งชื่อเสียงในการผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ และได้เปรียบมากกว่า Tesla เพราะมีราคาต่ำกว่า ทำให้ตีตลาดแมสในจีนแตกมากกว่าทั้งรถยนต์จีนยี่ห้ออื่นๆ ที่ยังไม่มีชื่อเสียงเท่า และ Tesla ที่คนจีนมองว่ายังมีราคาแพง และแพงเกินไปที่จะลงทุนซื้อในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้
นอกจากนี้ Vivek Vaidya Associate Partner จากบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ Frost & Sullivan ยังให้ความเห็นอีกว่าที่การที่ผู้ผลิตอย่าง Tesla และอื่นๆ พยายามลดราคาแบบไม่กลัวขาดทุนนี้เป็นเพราะบริษัทเหล่านี้อยากให้มีรถของบริษัทลงไปอยู่บนถนนมากที่สุด เพราะว่าพวกเขาจะได้รายได้เรื่อยๆ จากทั้งค่าชิ้นส่วนที่ผลิตเอง และค่าชาร์จรถในกรณีของ Tesla ที่มีสถานี Supercharge เป็นของตัวเอง
นอกจากธุรกิจอีวีที่ไปได้สวยแล้ว CNBC ยังรายงานอีกว่า BYD กำลังมีแผนที่จะขยายไปธุรกิจอื่นนอกจากธุรกิจผลิตรถยนต์ เช่น ธุรกิจผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ซึ่งมีบริษัทลูก BYD Electronics เป็นผู้ดูแลอยู่แล้ว
โดยในวันจันทร์ที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา BYD เพิ่งประกาศซื้อ Jabil บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐฯ ด้วยราคา 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ BYD ให้มากขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ นอกจาก BYD แล้ว Xpeng คู่แข่งผู้ผลิตอีวีรายใหญ่อีกเจ้าก็เพิ่งมีการเคลื่อนไหว ด้วยการเข้าซื้อ Didi ธุรกิจพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าด้วยการแลกหุ้นมูลค่า 744 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดำเนินการตามแผนที่จะเข้าตีตลาดรถยนต์แมส และกำลังพัฒนาอีวีอีกสองรุ่นร่วมกับ Volkswagen ที่เพิ่งประกาศลงทุนเงิน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับ Xpeng เพื่อผสานซอฟต์แวร์ช่วยขับเข้าไปในรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวในปี 2026