ฟุตบอลโลก 2022 ไม่ได้ดราม่าแค่ในบ้านเราเท่านั้น แต่ดราม่ายันประเทศเจ้าภาพ "กาตาร์" ที่เจอข้อครหาตั้งแต่เรื่อง "สินบน" ยันสารพัดความ "ไม่พร้อม"
ฟุตบอลโลก 2022 ที่มีประเทศกาตาร์ (Qatar) เป็นเจ้าภาพ เริ่มเปิดฉากขึ้นแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กับนัดแรกระหว่างเจ้าภาพและเอกวาดอร์ ที่คนทั่วโลกไม่ได้ดูแค่บอล หรือพิธีเปิดเท่านั้น แต่อาจถึงขั้นจับผิดทุกเรื่องของประเทศเจ้าภาพ
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ดราม่าบอลโลกกาตาร์นั้นกินเวลายาวนานมาถึง 12 ปีแล้ว นับตั้งแต่ได้รับคัดเลือกจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2010 ซึ่งในครั้งนั้น กาตาร์ถูกกล่าวหาอย่างหนักว่าได้เป็นเจ้าภาพเพราะติดสินบนเจ้าหน้าที่ฟีฟ่ากว่า 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) เพราะกาตาร์นั้นไม่มีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพอที่จะรองรับงานใหญ่ระดับโลกอย่างฟุตบอลโลกได้เลย เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย
คำครหาเรื่องความไม่โปร่งใสนี่เอง ทำให้การเตรียมการเป็นเจ้าภาพของกาตาร์ถูกจับตาและถูกวิพากษ์วิจารณ์มายาวนานตลอด 12 ปี โดยเฉพาะการเร่งสร้างสนามแข่งขันใหม่กว่า 7 สนาม ที่มีหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนออกมาแฉว่า มีแรงงานข้ามชาติหลายพันคนถึงขั้น "เสียชีวิต" จากการเร่งสร้างสนามเหล่านี้ให้เสร็จทันงาน
นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีเรื่องกฎข้อห้ามต่างๆ จากการเป็นประเทศมุสลิม ทั้งการห้ามดื่มแอลกอฮอลล์ และห้ามชาว LGBTQ+ โชว์ธงสีรุ้งหรือแสดงออกว่าตัวเองเป็น LGBTQ+ ในที่สาธารณะ ซึ่งหลายๆ ประเทศมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในเทศกาลบอลโลกนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงสรุปมาให้อ่านกันว่าก่อนจะมาถึงวันนี้กาตาร์เผชิญข้อครหาอะไรบ้างในฐานะว่าที่เจ้าภาพ และทำไมตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกจึงมองว่ากาตาร์ไม่ควรเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022
มรสุมข้อกล่าวหารับเงินใต้โต๊ะ
การได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ตกอยู่ในสายตาสื่อ และถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่แรกเพราะหลายๆ คนมองว่ากาตาร์เป็นประเทศทะเลทรายเล็กๆ ที่ไม่มีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เพราะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเช่น สนามแข่ง และที่พักเพียงพอรองรับแฟนบอล รวมไปถึงเป็นประเทศที่อยู่มีอากาศร้อนจัดในหน้าร้อนทำให้ไม่เหมาะกับการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่มักจะจัดในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม
ด้วยความที่ขาดความพร้อมและความเหมาะสมในหลายๆ ด้านเช่นนี้ แฟนบอลหลายๆ คนจึงประหลาดใจที่ฟีฟ่าตัดสินใจให้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 กับกาตาร์ แทนที่จะเลือกประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการจัดงานมากกว่า เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย ที่ในขณะนั้นร่วมลงประมูลสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพเช่นกัน
และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์การฟ้องร้อง และมรสุมข้อกล่าวหาเรื่องการติดสินบนที่ทำให้กาตาร์ต้องออกมาพยายามแก้ต่างและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองมาตลอดเวลา 12 ปี
ข้อกล่าวหาจากสื่อเริ่มปรากฎขึ้นครั้งแรกในปี 2014 เมื่อหนังสือพิมพ์ The Sunday Times ในอังกฤษ รายงานและตีพิมพ์เอกสารและอีเมล์หลายฉบับที่บ่งชี้ว่า “โมฮัมเหม็ด บิน ฮัมมัม” อดีตกรรมการบริหารฟีฟ่าจากประเทศกาตาร์ ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ฟีฟ่าเป็นมูลค่ารวมหลายล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นออกเสียงโหวตให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพ
ข้อกล่าวหานี้ทำให้ฟีฟ่าตั้งกรรมการสอบสวน แต่สุดท้ายศาลก็ได้ตัดสินว่า ไม่พบหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่า โมฮัมเหม็ด บิน ฮัมมัม จ่ายเงินติดสินบนเจ้าหน้าที่ฟีฟ่าเพื่อบิดเบือนผลโหวต
แต่หลังพ้นข้อครหาได้ไม่นาน ในปี 2015 ฟีฟ่าก็มี "ข้อครหาใหม่" ในเรื่องความโปร่งใสอีกครั้ง และเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน เมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ของฟีฟ่า 9 คนในข้อหามีส่วนร่วมในการฉ้อโกงเงินผ่านระบบธนาคาร ฟอกเงิน และรับสินบนจากบริษัทการตลาดหลายแห่งเพื่อแลกกับการขายสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขัน
การสืบสวนสอบสวนในครั้งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟีฟ่าถูกดำเนินคดีหลายคน เช่น อดีตรองประธานของฟีฟ่า 2 คน คือ Jeffrey Webb และ Eugenio Figueredo ที่ถูกจับกุมในเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ฟีฟ่า และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในฟีฟ่าอีก 16 คน
การเปิดโปงเรื่องคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ในครั้งนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ของสวิตเซอร์แลนด์เริ่มการสืบสวนความโปร่งใสของการประมูลสิทธิ์ในการจัดงานฟุตบอลโลกของรัสเซียและกาตาร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ฟีฟ่าจะถูกสอบสวนหลายต่อหลายครั้งในข้อหารับสินบน และถูกตัดสินให้ผิดจริงในหลายกรณี แต่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐและหน่วยงานด้านกฎหมายอื่นๆ ก็ไม่สามารถหาหลักฐานมาชี้ได้ว่า เจ้าหน้าที่ฟีฟ่าได้รับสินบนและทุจริตในการโหวตให้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของกาตาร์ก็ยืนยันผ่านแถลงการณ์ว่า ตัวเองไม่ได้ติดสินบนใดๆ ให้เจ้าหน้าที่ และได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพมาอย่างใสสะอาด
บังคับใช้แรงงานโหมสร้างสนาม
แต่ถึงแม้จะเคลียร์เรื่องข้อกล่าวหาจ่ายใต้โต๊ะได้ ฟีฟ่าก็หมดความน่าเชื่อถือไปมากในสายตาแฟนบอลทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อ "ความไม่พร้อม" ของกาตาร์ในฐานะเจ้าภาพฟุตบอลโลก เริ่มทยอยปรากฎให้เห็นในอีก 12 ปีต่อมา
การที่ประเทศขนาดเล็กอย่างกาตาร์ (เล็กแต่รวย) ต้องมารับบทเจ้าภาพฟุตบอลโลกนั้น หมายถึงการต้องเร่งผุดโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ มารองรับให้ทัน ตั้งแต่สนามฟุตบอล ไปจนถึงโรงแรม ระบบขนส่งและการเดินทาง
ไม่ว่าจะเป็นการขยายสนามบิน การสร้างสนามแข่งกว่า 7 แห่ง โครงข่ายรถไฟใต้ดินสายใหม่ ท่าเรือขนส่งใหม่ รวมไปถึงการสร้าง "Lusail" เมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของ Doha ให้กลายเป็นเมืองใหม่รองรับบอลโลกครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นสเกลงานที่ใหญ่เกินกว่าจะทำให้สำเร็จได้ใน 12 ปี ทำให้กาตาร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการบังคับใช้แรงงานต่างชาติ
จากการรายงานของ The Guardian มีแรงงานต่างชาติกว่า 6,500 คนจากทั้งอินเดีย ปากีสถาน เนปาล บังคลาเทศ และศรีลังกา เสียชีวิตในกาตาร์ระหว่างปี 2010-2021 โดย 200 คนในนั้นเป็นแรงงานชาวเนปาลที่เสียชีวิตจากการต้องทำงานก่อสร้างท่ามกลางอากาศร้อนจัด ในขณะที่ Amnesty International รายงานว่ามีแรงงานรวมกว่า 100,000 คน ที่ถูกบังคับให้ทำงานหนักกว่า 14-18 ชั่วโมงต่อวันเพื่อเร่งสร้างสนามแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากรายงานเหล่านี้ออกมา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดฟุตบอลโลกของกาตาร์ก็ได้ออกมาปฏิเสธว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่เป็นจริง และการเสียชีวิตของแรงงานต่างชาติเหล่านี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันของกาตาร์เลยแม้แต่น้อย
ทุ่มงบกว่า 10.7 ล้านล้านบาท แต่วันจริงกลับไม่พร้อม
จากรายงานของ Bloomberg กาตาร์ทุ่มเงินรวมกันถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว "10.7 ล้านล้านบาท" (มากกว่างบประมาณประจำปีของประเทศไทยกว่า 3 เท่า) ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการจัดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “จำนวนเงินที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดฟุตบอลโลก” และมากกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับอันดับ 2 คือบราซิล ที่ใช้ไปเพียง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ 3 คือรัสเซีย ที่ใช้ไป 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้ใช้จ่ายไปกับโครงการต่างๆ ดังนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กาตาร์จะทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในครั้งนี้ และถึงจะมีเวลา 12 ปีในการเตรียมตัว แต่เมื่อวันที่จะมีการแข่งขันจริงๆ งวดใกล้เข้ามา กาตาร์กลับยังไม่พร้อมรองรับแฟนบอลและนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามาพักในบริเวณกรุง Doha และจุดที่มีการแข่งขัน
โดยเฉพาะเรื่องที่พักนั้นถือว่าขาดแคลนอย่างหนัก จนถึงขั้นที่กาตาร์ต้องนำ "เรือสำราญถึง 3 ลำ" มาจอดเทียบท่าที่ท่าเรือ Doha เพื่อเสริมที่พักในเมืองที่เต็มไปแล้วตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม
นอกจากนี้ เพราะมีที่พักไม่เพียงพอรองรับนักท่องเที่ยว กาตาร์จึงต้องเปิดรับเที่ยวบินไปกลับเกือบ 100 เที่ยว/วัน จากเมืองในประเทศข้างเคียงเช่น เมืองดูไบ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นจุดที่มีแฟนบอลเลือกไปพักมากที่สุด เพราะห่างจากกาตาร์เพียง 55 นาที และมีจุดปาร์ตี้และเที่ยวกลางคืนมากมาย ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับแฟนบอลที่อยากสังสรรค์และดื่มแอลกอฮอลล์ในช่วงฟุตบอลโลก เพราะกาตาร์ไม่อนุญาตให้มีการดื่มหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในระหว่างการแข่งขัน
และการที่ต้องเปิดให้มีเที่ยวบินพิเศษจำนวนมากนี้เอง แผนของกาตาร์ที่จะโปรโมตงานฟุตบอลโลกในครั้งนี้ให้เป็นงาน Carbon-neutral ก็เป็นอันล้มเหลวไป เพราะเที่ยวบินเหล่านี้สร้าง carbon footprint มากกว่าที่กาตาร์จะสามารถลดได้จากรถไฟและรถบัสไฟฟ้าที่ได้จัดหามาให้แฟนบอลเดินทางสัญจรไปมาระหว่างสนามแข่งขันทั้ง 8 แห่งแน่นอน
ใช้งานกีฬา ‘ลบชื่อเสีย’ ด้านสิทธิมนุษยชน
นอกจากความไม่พร้อมในด้านสถานที่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่กาตาร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็คือ การออกกฎที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการของผู้เข้าชม ทำให้หลายๆ คนมองว่ากาตาร์ยังมีแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนที่ล้าหลังจึงไม่เหมาะกับการจัดงานระดับโลก รวมไปถึงการใช้งานกีฬามาปรับภาพลักษณ์ของประเทศ (sportswashing) ทำพีอาร์ให้กาตาร์ดูเป็นประเทศทันสมัย ทั้งๆ ที่ยังมีกฎหมายเอาผิดกับชาว LGBTQ+ ในประเทศ
โดยในช่วงเดือนที่มีการจัดการการแข่งขันฟุตบอล รัฐบาลกาตาร์ได้ออกกฎมากมายที่เรียกเสียงวิจารณ์จากทั่วโลก เช่น
จากข้อขัดแย้งเหล่านี้เอง ทั้งหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน แฟนบอล รวมไปถึงทีมฟุตบอลที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้จึงได้มีการแสดงออกเพื่อต่อต้านการตั้งกฎของกาตาร์อย่างต่อเนื่อง เช่น
เรียกได้ว่าเต็มไปด้วยความขัดแย้งตั้งแต่ต้นจน(เกือบ)จบจริงๆ สำหรับงานฟุตบอลโลกในปีนี้ของกาตาร์ ที่ถึงแม้จะต้องผจญเสียงคัดค้านจากนานาชาติมาตลอด 12 ปี ก็ยังเข็นงานฟุตบอลโลกให้เกิดขึ้นจนได้
แต่จนกว่าจะถึงนัดสุดท้ายในที่ 18 ธันวาคม 2022 แฟนบอลก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าระหว่างการแข่งขันจะมีการกระทบกระทั่งระหว่างทีมที่เข้าร่วมแข่งขันกับกับเจ้าภาพอีกหรือไม่ หรือจะมีเหตุการณ์ประท้วงอะไรในระหว่างเดือนแห่งการแข่งขันบอลโลก ให้ดราม่าหนักหนากว่านี้อีก
ที่มา: DW, Bloomberg, The Guardian, Vox, Livemint