Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
GDP ไทยปี 68 เหลือเท่าไหร่? หาก "ทรัมป์" ขึ้นภาษีตอบโต้กับไทยจริง
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

GDP ไทยปี 68 เหลือเท่าไหร่? หาก "ทรัมป์" ขึ้นภาษีตอบโต้กับไทยจริง

2 เม.ย. 68
19:55 น.
แชร์

ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว สำหรับ “วันปลดแอก” หรือ Liberation Day ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีการเปิดเผยอัตราภาษีนำเข้า และมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ที่ทรัมป์จะนำมาใช้ “ปรับสมดุลดุลการค้า” ของสหรัฐฯ ให้เท่าเทียมกับประเทศคู่ค้า 

แหล่งข่าวจากสื่อต่างประเทศเผยว่า งานแถลงข่าวจะมีขึ้นที่สวนกุหลาบในทำเนียบขาว เวลา 16.00 น. ตามเวลานิวยอร์ก หรือตรงกับ 04.00 น. ตามเวลาไทย ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดการซื้อขายพอดี ขณะที่ทีมเศรษฐกิจของทรัมป์กำลังเร่งมือสรุปรายละเอียดขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับ “ขนาด” และ “รัศมีทำการ” ของมาตรการภาษีเหล่านี้

แม้จะยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าแผนของทรัมป์จะมีอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ “ภาษีตอบโต้” (reciprocal tariffs) ซึ่งยึดแนวคิดว่า หากประเทศใดเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราสูง หรือมียอดเกินดุลการค้ามหาศาล สหรัฐฯ ก็จะ “ตอบโต้” ด้วยการเก็บภาษีในอัตราเท่ากันหรือมากกว่า

ท่ามกลางรายชื่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ “ไทย” คือหนึ่งในชาติที่ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เพราะเราถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 10 ของประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ สูงที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท ตัวเลขนี้เพียงพอที่จะทำให้ไทยติดโผกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าในการประกาศมาตรการครั้งใหม่

คำถามใหญ่ที่ยังไร้คำตอบในเวลานี้คือ ไทยจะได้รับผลกระทบหนักแค่ไหน? มาตรการภาษีที่ทรัมป์เตรียมงัดออกมาจะเป็นแบบครอบคลุมทั้งประเทศ หรือจะเลือกยิงตรงเป้าไปยังบางอุตสาหกรรมแบบเฉพาะเจาะจง?

ก่อนที่ภาพทั้งหมดจะกระจ่างในเช้าตรู่วันที่ 3 เมษายน SPOTLIGHT ขอพาผู้อ่านไปสำรวจมุมมองและการประเมินจากนักวิเคราะห์หลากหลายสำนัก ว่าไทยอาจต้องเผชิญอะไร และจะเตรียมรับมือได้อย่างไร

Innovest X มองหากขึ้นภาษีจริง กระทบหนักกว่า “แผ่นดินไหว” 

จากรายงานของ Innovest X สำนักวิจัย Goldman Sachs ประเมินว่า กลุ่มประเทศที่อยู่ใน “Dirty 15” ซึ่งรวมถึงไทย อาจถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 15-16% ภายใต้นโยบาย “Reciprocal Tariffs” หรือการจัดเก็บภาษีตอบโต้

การวิเคราะห์ฉากทัศน์ (Scenario Analysis) ของ Innovest X พบว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ เลือกไม่ขึ้นภาษีเพิ่มเติม และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งจากระดับ 2.0% เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ราว 2.5%

อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีในระดับต่างๆ เศรษฐกิจไทยอาจชะลอตัวลงจากคาดการณ์ที่ 2.5% ตามระดับภาษีที่ถูกเรียกเก็บ ดังนี้

  • ภาษีโต้ตอบ 6% (โอกาส 30%) จะทำให้ GDP ลดเหลือ 1.9 - 2.0%
  • ภาษีโต้ตอบ 10% (โอกาส 20%) จะทำให้ GDP ลดเหลือ 1.4–1.5%
  • ภาษีโต้ตอบ 16% (โอกาส 10% ) จะทำให้ GDP ลดเหลือ 0.9–1.0%

นี่ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจในระดับที่ Innovest X คาดการณ์ รุนแรงกว่าผลกระทบของ “แผ่นดินไหว” ที่เพิ่งเกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาเสียอีก เพราะ Innovest X ประเมินว่า ความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะอยู่ในวงจำกัดและไม่กระทบต่อโครงสร้างหลักของระบบเศรษฐกิจ รวมถึงไม่กระทบกับ GDP ไทยอย่างมีนัยสำคัญ 

KKP Research มองไทยเสี่ยงถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีเพิ่ม อาจกระทบ 0.2-0.4% ของ GDP

ศูนย์วิจัย KKP Research ประเมินว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มสูงที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะหากมีการบังคับใช้มาตรการ "ภาษีตอบโต้" ซึ่งเป็นนโยบายที่สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มสูงที่จะกลับมาใช้อีกครั้ง โดยไทยอาจอยู่ในกลุ่มประเทศแรกที่ถูกบังคับใช้มาตรการนี้ในภูมิภาคเอเชีย จาก 2 เหตุผลหลัก ได้แก่

  1. ไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง โดยในแต่ละปี ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในมูลค่าที่สูงกว่าการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าเป็นความไม่สมดุลทางการค้า และอาจใช้เป็นเหตุผลในการเก็บภาษีตอบโต้
  2. ช่องว่างของอัตราภาษีที่ทั้งสองประเทศเรียกเก็บซึ่งต่างกันมาก โดยหากพิจารณาอัตราภาษีเฉลี่ยตามน้ำหนักการค้า (trade-weighted average tariff) พบว่า ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีช่องว่างภาษีสูงเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets) และยังเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มอาเซียน อีกทั้งไทยยังใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff measures) เพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการถูกตอบโต้ทางการค้า

KKP Research ระบุว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากมาตรการนี้มีความไม่แน่นอนสูง และยังไม่สามารถรวมไว้ในการคาดการณ์ GDP ซึ่งอยู่ในระดับ 2.3% ได้ในขณะนี้ 

ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้น หากสหรัฐฯ ใช้นโยบายเก็บภาษีตอบโต้จริง ไทยอาจเผชิญภาษีนำเข้าในช่วง 10-20% ซึ่งคำนวณจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีเฉลี่ยที่ไทยเรียกเก็บกับสหรัฐฯ และที่สหรัฐฯ เรียกเก็บกับไทย และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอาจอยู่ในช่วง 0.2-0.4% ของ GDP ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบจากการเจรจาหรือข้อเสนอที่อาจตามมา เช่น การที่ไทยอาจต้องยอมปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อลดแรงกดดันทางการค้า

ทั้งนี้ KKP เตือนว่า การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักอย่าง ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารแปรรูป ซึ่งพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก

หากสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการภาษีดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยไม่มีความพยายามในการเจรจาหรือมาตรการรองรับจากภาครัฐ ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อไทยอาจยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

K Research มองภาษีทรัมป์ฉุดอุตสาหกรรมไทยหดตัว 1% แรงส่งท่องเที่ยวเอาไม่อยู่

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด หรือ K Research เปิดเผยว่า หากสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาใช้นโยบายขึ้นภาษีตอบโต้ ไทยจะเผชิญแรงกระแทกทางเศรษฐกิจชัดเจน โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจหดตัวราว 1% ในปี 2568

นอกจากนี้ หากไทยถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10% จะกระทบ GDP ราว -0.3% ซึ่งรวมอยู่ในประมาณการ GDP ปี 2568 ที่ 2.4% แล้ว แต่หากสหรัฐฯ กดภาษีขึ้นถึง 25% อาจฉุด GDP ลงไปถึง -0.6% และการเติบโตทั้งปีอาจเหลือใกล้เพียง 2.0%

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบตรงคือผู้ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง คำสั่งซื้อที่ลดลงและภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจะซ้ำเติมต้นทุนและรายได้ ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ เหล็ก และอะลูมิเนียม จะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ด้านผลกระทบต่อแรงงานและการจ้างงาน แรงงานทักษะต่ำในภาคการผลิตจะเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่เริ่มมีสัญญาณปิดกิจการเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ไทยก็ไม่สามารถพึ่งพาการท่องเที่ยวได้เท่าปีก่อน หลังนักท่องเที่ยวจากจีนและมาเลเซียชะลอตัว อีกทั้งการแข่งขันระดับภูมิภาคและพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ทำให้การฟื้นกลับสู่ระดับก่อนโควิดยังเป็นเรื่องยาก


แชร์
GDP ไทยปี 68 เหลือเท่าไหร่? หาก "ทรัมป์" ขึ้นภาษีตอบโต้กับไทยจริง