ร้านชาบู - สุกี้ ชื่อดังแห่ขึ้นราคาส่งท้ายปี ตอกย้ำปัญหา “ข้าวของแพง - เงินเฟ้อ” ที่คอยซ้ำเติมคนไทยตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา
Highlight
-
ชาบูอั้นไม่ไหว จากปัจจัยต้นทุนราคาแพง
-
ค่าครองชีพพุ่งสวนเศรษฐกิจชะลอตัว
-
เงินเฟ้อ ภัยเงียบที่ทำให้เงินในกระเป๋าตังค์ของเรามีมูลค่าลดลง
ปี 2564 ที่ผ่านมา ยังคงเป็นอีกหนึ่งปีที่หนักหนาของคนไทยทุกคนเพราะผลกระทบจาก ไวรัสโควิด-19 ที่ยังส่งผลต่อเนื่องต่อเงินในกระเป๋า แต่สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันต่างพาเหรดกันขึ้นราคาแทบจะทุกอย่าง สวนทางกับภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ ทำให้ “เงินเฟ้อ” เป็นปัญหาที่เข้าซ้ำเติมการใช้ชีวิตของคนไทยอีกด้วย
ชาบูอั้นไม่ไหว จากปัจจัยต้นทุนราคาแพง
ในช่วงเดือนธันวาคม ปีนี้ ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงจากเว็บไซต์ ตลาดไท.com ในช่วงวันที่ 28 ธันวาคม ปีที่แล้ว ราคาสันในหมูอยู่ที่ 135 บาท/กก. หมูสามชั้นอยู่ที่ 165 บาท/กก. ปัจจุบันราคาเนื้อหมูสันปรับเพิ่มขึ้นเป็น 170 บาท/กก. (เพิ่มขึ้น 26%) ราคาหมูสามชั้นพุ่งสู่ 220 บาท/กก. (เพิ่มขึ้น 33%) (29 ธันวาคม 2564)
สำหรับสาเหตุการปรับตัวขึ้นของราคาเนื้อหมู เกิดจากต้นทุนอาหารใช้เลี้ยงหมูและยารักษาโรคที่มีราคาสูงขึ้น รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีจำนวนลดลง เนื่องจากแบกรับต้นทุนสูงไม่ไหว ขณะที่แนวโน้มกำไรกลับต่ำลง โดยสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนมายาวนานตั้งแต่ก่อนโควิด -19 แพร่ระบาดแล้ว
อย่างไรก็ดีไม่ใช่แค่ราคาเนื้อสัตว์เท่านั้นที่มีราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวราคาผักที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นมากจากต้นทุนตามต้นทุนการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น และปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ผลผลิตที่ออกมาสู่ตลาดลดลงทำให้มีปริมาณลดลงน้อยกว่าความต้องการของผู้บริโภค
ขณะที่ร้านอาหารเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 มากที่สุด เนื่องจากต้องสูญเสียรายในทุกระลอกของการล็อกดาวน์ ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ที่ราคาแพงขึ้น จนทำให้หลายรายต้องยกธงขาว ปิดตัวธุรกิจลงไป แม้หลายร้านที่ยังสู้ไหว แต่มีความจำเป็นประกาศขอขึ้นราคาอาหาร เพื่อให้รักษาให้ธุรกิจที่ทำอยู่รอดต่อไปได้ตัวอย่างของร้านบุฟเฟ่ต์สุกี้ - ชาบู ที่ขอยับราคาค่าบริการขึ้น มีดังนี้
สุกี้ตี๋น้อย ปรับขึ้นราคาบุฟเฟ่ต์จาก จาก 199 บาท/คน เป็น 219 บาท/คน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
โม โม พาราไดซ์ ปรับขึ้นราคาบุฟเฟ่ต์จาก ชุดผู้ใหญ่จาก 560+ บาท/คน เป็น 599+ บาท/คน และปรับราคาชุดเด็กจาก 279+ บาท/คน เป็น 299+ บาท/คน (ไม่รวมค่าบริการ 10%) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
นารายณ์พิซเซอเรีย x ร้านข้าน้อยขอชาบู ปรับราคาบุฟเฟ่ต์จาก 199+ บาท/คน เป็น 229+ บาท/คน และปรับราคาบุฟเฟ่ต์พรีเมียมจาก 299+ บาท/คน เป็น 329+ บาท/คน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
ถือเป็นเพียงตัวอย่างของร้านอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งร้านอาหารเจ้าอื่นๆก็คงเผชิญปัญหาไม่แตกต่างกัน และอาจจะกำลังพิจารณาขึ้นราคาด้วยในไม่ช้า
ค่าครองชีพพุ่งสวนเศรษฐกิจชะลอตัว
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2564 รถไฟฟ้า MRT - BTS ปรับขึ้นราคา ทั้งปรับขึ้นราคาต่อสถานี และยกเลิกนโยบายคงราคาเท่าเดิมตลอดสายในบางเส้นทาง ทำให้ค่าเดินทางของบางคนที่ต้องต่อรถไฟฟ้าหลายต่อ พุ่งสูงถึง 104 บาท ต่อการเดินทาง 1 ครั้ง และในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ที่ผ่านมาถึงรอบการปรับขึ้นราคาทางด่วน ซึ่งจะปรับขึ้นในทุกๆ 5 ปีตามที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทาน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM) ส่งผลให้ราคาค่าทางด่วนสำหรับรถยนต์ 4 ล้อเพิ่มขึ้นจาก 50 บาท เป็น 65 บาท (ปรับขึ้น 15 บาท) และสูงขึ้นอัตราที่กำหนดสำหรับรถขนาดใหญ่ประเภทอื่นๆ
นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันและราคาค่าไฟฟ้าปัจจุบันก็มีทิศทางขยับขึ้นด้วยเช่นกัน โดยราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น จากก่อนหน้านี้มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐจำนวนมากทั่วโลกต้องหยุดลง ไม่มีการผลิตสินค้า ไม่มีการเดินทาง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกหดตัวลง
ย้อนไปเมื่อปี 2563 อ้างอิงจากเว็บไซต์บางจาก ราคาน้ำมัน “แก๊สโซฮอล 95” เคยร่วงลงไปถึง 16.95 บาท/ลิตร “ไฮดีเซลS” ที่ราคา 14.39 บาท/ลิตร ช่วงปลายเดือนเมษายนปีนี้ซึ่งมีการล็อกดาวน์ในประเทศ ปัจจุบันที่หลายประเทศกลับมาใช้ชีวิตจนเกือบปกติ ประเทศไทยกลับมาเดินทาง กลับมาทำธุรกิจ ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอลขยับขึ้นมาที่ 31.15 บาท/ลิตร ดีเซลขยับขึ้นมาที่ 28.44 บาท/ลิตร (24 ธันวาคม 2564) ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว
สำหรับราคาค่าไฟ ในต้นปี 2565 ที่กำลังจะมาถึงนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ปรับราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ของเดือน ม.ค. - เม.ย. 2465 เพิ่มขึ้นจาก -15.32 สตางค์/หน่วย เป็น 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้น และราคาวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าอย่างก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน มีราคาแพงขึ้น ทำให้กกพ.ต้องประกาศขึ้นค่า Ft และ จะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดอีก 2 รอบ (พ.ค. - ส.ค. 2565 และ ก.ย. - ธ.ค. 2565) ในปีนี้
ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตเพิ่มสูงขึ้น “การกินข้าวให้อิ่ม เดินทางให้ถึงบ้าน” ต้องใช้เงินสูงขึ้นกว่าเดิม นี่คือภาวะที่หลายคนกลัว นั่นคือ “ภาวะเงินเฟ้อ”
เงินเฟ้อ ภัยเงียบที่ทำให้เงินในกระเป๋าตังค์ของเรามีมูลค่าลดลง
พูดถึงเรื่อง “เงินเฟ้อ” หลายคนคงรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก และไกลตัว แต่จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ คงทำให้เห็นภาพชัดแล้วว่า เงินเฟ้อได้ “ล้อมเราไว้ทุกทิศทุกทางแล้ว”
“ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation)” พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือภาวะที่ข้าวของแพง ต้องใช้เงินสูงขึ้นในการ “กินข้าวให้อิ่ม กลับให้ถึงบ้าน” ตัวอย่างยอดฮิตของแทบจะทุกสำนักคือ “ราคาก๋วยเตี๋ยว”
ในปี 2535 ราคาก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม หรือ “1 อิ่ม” อยู่ที่ 10 บาท
ในปี 2565 ราคาก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม หรือ “1 อิ่ม” อยู่ที่ 40 บาท
จะเห็นได้ว่า กิจกรรมต่างๆ ของเรา 1 ครั้ง เช่น กิน 1 อิ่ม นอน 1 คืน เดินทาง 1 เที่ยว จากเดิมเคยทำได้ด้วยเงินจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับต้องใช้เงินจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อทำกิจกรรมเหล่านั้น สภาวะแบบนี้เรียกว่า เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินก้อนเดิมที่เรามีอยู่ ค่อยๆ ด้อยมูลค่าลงเมื่อเวลาผ่านไป
โดยตัวเลขเงินเฟ้อที่เราเห็นตามข่าว ซึ่งเป็นตัวเลข “เงินเฟ้อทั่วไป” (หรือเรียกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค) คิดจากคำนวณจากราคาสินค้าและบริการ 430 รายการ ครอบคลุมสินค้าและบริการ 7 หมวดได้แก่
1. หมวดอาหารและเครื่องดื่ม 2.หมวดเคหสถาน 3.หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 4.หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 5.หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 6.หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา 7.หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
ซึ่งในประเทศไทย ผู้ที่รายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ในแต่ละเดือน หรือปีก็คือ กระทรวงพาณิชย์
การที่ข้าวของแพงขึ้น หรือ “เงินเฟ้อสูงขึ้น” นั้น หากเกิดมาจากการที่ทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้น จับจ่ายใช้สอยกันอย่างคึกคักจนสินค้าผลิตไม่ทัน ส่งผลให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น ก็จัดว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเป็นอีกกรณีคือ วัตถุดิบ ต้นทุนการผลิตสินค้าและการให้บริการสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิต และผู้ให้บริการต้องขึ้นราคา แต่กำลังการจับจ่ายของประชาชนยังเท่าเดิม หรือน้อยกว่าเดิม ก็จะก่อจะเป็นการซ้ำเติมปัญหา และให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ดังเช่นในปัจจุบันนี้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง