Nissan ประกาศชัด แบตเตอรีแบบ Solid-State ที่ขณะนี้กำลังเร่งพัฒนาอย่างเต็มความสามารถ โดยที่ตั้งเป้าในอีก 5 ปีนับจากนี้แบตเตอรี Solid-State จะพร้อมสำหรับการผลิตจำนวนมากจนเพียงพอต่อความต้องการของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า แต่คาดว่าจะมีการผลิตนำร่องก่อนในปี 2568 และค่อยๆ ปรับปรุงพัฒนาต่อไป
Nissan มองเห็นโอกาสของเทคโนโลยีแบตเตอรีความเร็วสูง เชื่อว่าจะสามารถลดต้นทุนในการผลิตลงได้ถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับแบตเตอรีแบบ Lithium-Ion ในขณะที่ให้พลังงานได้มากขึ้นเป็น 2 เท่าและการชาร์จประจุไฟจะเร็วขึ้น 3 เท่าตัว ตามคำกล่าวของ David Moss รองประธานอาวุโสฝ่ายวิจัยและพัฒนา Nissan ยุโรป โดยที่การวิจัยพัฒนากำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องในศูนย์วิจัยที่ประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษ
ผู้ผลิตรถยนต์จากหลายค่ายและซัพพลายเออร์จำนวนมากที่กำลังมุ่งพัฒนาแบตเตอรี Solid-State ไม่ใช่เฉพาะทาง Nissan เพียงผู้เดียวเท่านั้น ปัญหาของแบตเตอรี Solid-State บางรุ่นยังคงมี liquid electrolyte อยู่ และเมื่อมันถึงจุดเดือดจะส่งผลกระทบต่อการใช้งานทั้งการปล่อยพลังงานและการประจุ โดยทางทีมพัฒนา Nissan กำลังทำงานอย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้ได้แบตเตอรี Solid-State ที่แท้จริงซึ่งต้องไม่มี Liquid Electrolyte อยู่ข้างใน
สำหรับ Electrolyte ในแบตเตอรีคือสารละลายภายใน ขึ้นอยู่กับประเภทของแบตเตอรีโดยที่อาจอยู่ในรูปของเหลวหรือสารเหนียวคล้ายแป้งเปียก แต่ว่าไม่ว่าจะอยู่ในรูปสสารใดก็จะมีหน้าที่เดียวกันนั่นก็คือเป็นตัวขนส่งไอออนที่มีประจุบวกระหว่างขั้ว Cathonde และขั้ว Anode
อย่างไรก็ดี แบตเตอรี Solid-State ยังอยู่ในขั้นตอนของตัวตันแบบ แต่ Nissan มุ่งมั่นและให้คำมั่นต่อชาวโลกว่าจะปลดล็อกข้อดีที่มีอยู่หลายประการออกมาเมื่อเทียบกับแบตเตอรี Lithium-Ion ที่นิยมใช้ในรถอีวียุคนี้ จุดแรกที่แตกต่างชัดเจนคือความเร็วในการประจุไฟกลับเข้าสู่แบตเตอรี ตรรกะสำคัญ Nissan มองว่าระยะทางในการวิ่งจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไปหากการชาร์จสามารถทำได้อย่างรวดเร็วใกล้เคียงกับการเติมน้ำมันในรถยนต์สันดาป ผู้ผลิตรถยนต์จะสามารถติดตั้งแบตเตอรีที่มีขนาดเล็กลงส่งผลต่อราคาต้นทุนและราคารถยนต์ไฟฟ้าที่จะถูกลงตามไปด้วย
แต่ก็ยังเป็นเรื่องเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่ารถยนต์รุ่นใดของ Nissan ที่จะเป็นรุ่นแรกในการใช้แบตเตอรี Solid-State หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุว่ารถยนต์ที่จะใช้แบตเตอรีแบบใหม่นี้อาจต้องสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มใหม่ทั้งหมด รวมถึงอาจต้องผลิตและประกอบในโรงงานแบบใหม่อีกด้วย แต่ทาง Nissan ได้อธิบายถึงจุดนี้ว่าเทคโนโลยีแบบใหม่จะไม่ได้เป็นโครงการยานยนต์เฉพาะ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลให้เกิดความล่าช้าง แต่อย่างไรก็ดีหากทุกอย่างไม่สามารถเป็นไปตามแผนที่วางไว้ในปี 2571 Nissan จะยังคงลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี Lithium-Ion ให้มีความปลอดภัยสูงสุดต่อไป
การพัฒนารถยนต์อีวีทำให้ Nissan ต้องใช้เงินไปแล้วกว่าเฉียด 3 แสนล้านบาท Nissan Leaf คือรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นหลักที่ทาง Nissan ผลิตสู่ตลาดโลกในปี 2010 ซึ่งทางทีมผู้บริหาร Nissan วางแผนลงทุนอีกกว่า 6 แสนล้านบาท สำหรับงานวิจัยและพัฒนาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า