เช็กด่วน! คุณกำลังเข้าข่ายเสพติดความรุนแรงหรือไม่ พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีรักษาหรือแก้ไขหรือไม่
พญ.ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH - Bangkok Mental Health Hospital เปิดเผยว่า คนสมัยนี้มีแนวโน้มที่จะมีความก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น การได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวทำให้เกิดความรู้สึกมีความสุขคล้ายๆ กับการมีความสุขของคนติดยาเสพติด เมื่อคนเราทำพฤติกรรมใดใดที่ทำแล้วมีความสุขจะมีแนวโน้มทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ เหมือนคนที่เสพยาเสพติดซ้ำๆ คนที่เสพติดความรุนแรงก็จะแสดงพฤติกรรมรุนแรงซ้ำๆ เช่นกัน
การเสพติดความรุนแรงเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
• สาเหตุทางชีวภาพ ได้แก่ ความผิดปกติของสมองบางส่วน ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง และการมีฮอร์โมนเทสโทสโตโรนสูง ซึ่งผู้เสพติดความรุนแรงและผู้ที่ติดยาเสพติดมีความผิดปกติของสมองในลักษณะเดียวกัน ความอยากที่จะแสดงความก้าวร้าวมีลักษณะคล้ายกับความอยากยาเสพติดหรืออยากมีเพศสัมพันธ์ ด้วยเหตุนี้คนที่เสพติดความรุนแรงจึงได้ทำพฤติกรรมรุนแรงซ้ำๆ ทั้งที่ทราบว่าทำแล้วจะเกิดผลเสียตามมา
• เกิดจากโรคทางจิตเวชบางอย่าง เช่น โรคบุคลิกภาพแปรปรวนซึ่งมักเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น และมีพฤติกรรมรุนแรงตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบ
• การเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม เช่น การอยู่ในครอบครัวที่มีการแสดงความก้าวร้าวอยู่เป็นประจำเช่นบิดามารดาทะเลาะวิวาท ใช้กำลัง ใช้วาจาหยาบคาย ทำร้ายซึ่งกันและกัน เป็นต้น เด็กที่อยู่ในครอบครัวลักษณะนี้ จะรู้สึกว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน
- การมีประวัติถูกทารุณกรรม ทางร่างกายหรือทางเพศ ในวัยเด็ก
- ความเชื่อและค่านิยมของสังคมและวัฒนธรรม การอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมที่มีความเชื่อและค่านิยมว่าการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นการแสดงออกของคนที่มีพละกำลังและเป็นหนทางที่ได้มาซึ่งอำนาจ โดยเฉพาะผู้ชายจะมีความรู้สึกว่าตนเองมีพละกำลังมากกว่าผู้หญิงทำให้ผู้ชายมีการแสดงความก้าวร้าวรุนแรงมากกว่าผู้หญิง
- ระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความกดดันในลักษณะต่างๆ เช่น ความยากจน ขาดแคลนอาหาร ไม่มีงานทำ ขาดโอกาสทางการศึกษา มีการแก่งแย่งแข่งขัน เป็นต้น ทำให้ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อการดำรงชีวิตและเรียนรู้การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อปกป้องตนเองและอาจเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยเรื่อย
พฤติกรรมแบบไหนที่ส่อว่าเสพติดความรุนแรง
• มีการวางแผนและมีเป้าหมายชัดเจนในการทำพฤติกรรมรุนแรง ไม่ใช่พฤติกรรมที่เกิดด้วยความโกรธหรือความหุนหันพลันแล่น แต่เป็นพฤติกรรมรุนแรงที่กระทำลงไปโดยปราศจากความตั้งใจที่จะยับยั้งตัวเอง
• มีพฤติกรรมรุนแรงบ่อยครั้ง
• ก่อให้เกิดปัญหากับตัวเองและปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
• พฤติกรรมรุนแรงมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
• ไม่สามารถควบคุมหรือยับยั้งพฤติกรรมรุนแรงของตนเองได้
วิธีแก้ไขหรือวิธีการรักษาการเสพติดความรุนแรง
การรักษาหลักคือการใช้ยา โดยเฉพาะในผู้ที่มีพฤติกรรมรุนแรงจากการที่มีโรคประจำตัวทางจิตเวชเดิม อาจเลือกใช้ยาต้านโรคจิตและหรือยาควบคุมให้อารมณ์คงที่ ร่วมกับการทำจิตบำบัดโดยเน้นให้ฝึกทักษะการควบคุมอารมณ์ ควรเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุดเพราะพฤติกรรมรุนแรงจะทำให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกายหรือจิตใจแก่ผู้อื่นหรือแม้แต่ตัวคุณเอง การรักษาที่ดีที่สุดขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง นักบำบัดจะมองหาตัวกระตุ้นและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมรุนแรงนั้น นักบำบัดต้องทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัย ไม่ทำให้รู้สึกว่าถูกตัดสินเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถแชร์ประสบการณ์ที่นำพาให้เกิดความโกรธและพฤติกรรมรุนแรง ให้ความสนใจกับประวัติการถูกทารุณกรรมในวัยเด็กที่อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง ช่วยผู้ป่วยพัฒนาวิธีใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาหรือช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับอารมณ์ที่ท่วมท้นที่ผู้ป่วยจัดการได้ยาก ให้ผู้ป่วยฝึกหาทางเลือกอื่นในการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับบุคคลอื่นตรงตรงแทนที่จะสื่อสารด้วยการแสดงพฤติกรรมรุนแรง
โดยส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมรุนแรงมักเกิดขึ้นเพราะมีเหตุผลบางอย่าง เราจำเป็นต้องหาสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนั้นเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น