โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง อันตรายที่ไม่มีสัญญาณเตือน ภัยเงียบที่มากับอาการปวดศีรษะ รุนแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต
เส้นเลือดโป่งพองในสมอง คืออะไร?
โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง คือ ความผิดปกติที่เกิดจากการบางลงของผนังหลอดเลือดสมอง ทำให้ผนังเส้นเลือดสมองโป่งพองออกคล้ายบอลลูนและอาจแตกออกได้ง่าย
เส้นเลือดสมองโป่งพองเป็นภาวะของผนังหลอดเลือดอ่อนแรงลงจึงเกิดอาการโป่งพอง ซึ่งเกิดได้ทั้งหลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำ โดยส่วนมากที่พบมักจะเป็นหลอดเลือดแดง
ประเภทของโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
1.เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบยังไม่แตก ทำให้อาการที่ไปกดทับเส้นประสาทข้างเคียง หรือมีขนาดใหญ่มากกว่า 2.5 เซนติเมตร อาจทำให้เกิดอาการชักหรืออ่อนแรงได้
2.เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบแตกแล้ว เมื่อมีการแตกเลือดที่ออกมาจะทำให้ความดันในกะโหลกสูงขึ้น ถ้าร่างกายหยุดเลือดไม่ได้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตทันที แต่ถ้าเลือดหยุดได้ ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยเลือดออกในชั้นต่างๆ ของสมอง เส้นเลือดโป่งพองถึงจุดหนึ่งก็จะมีการแตก โดยทำให้เกิดภาวะที่สำคัญ คือ เลือดออกในช่องใต้เยื้อหุ้มสมอง ซึ่งภาวะนี้เป็นอันตรายถึงพิการหรือนำไปสู่การเสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติแต่กำเนิด หรือโรคทางพันธุกรรมเส้นเลือดแข็งตัวและเสื่อม ภาวะการติดเชื้อ หรือมีการอักเสบในร่างกาย เนื้องอกบางชนิด และอุบัติเหตุ เป็นต้น
อาการของโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
หลอดเลือดโป่งพองในสมองที่ยังไม่แตก มักตรวจพบโดยบังเอิญและยังไม่มีอาการ มีเพียงแค่ประมาณ 1% เท่านั้น ที่ตรวจพบจะแสดงอาการหลักคือปวดศีรษะ แต่อาจพบอาการอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนได้ โดยมักเกิดจากหลอดเลือดโป่งพองที่มีขนาดใหญ่และกดเบียดสมองหรือเส้นประสาทสมอง ซึ่งมีผลทำให้การมองเห็นผิดปกติ
ส่วนอาการที่ปรากฏเมื่อหลอดเลือดโป่งพองมีการรั่วหรือแตก ได้แก่ อาการเลือดออกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง คือ ปวดศีรษะฉับพลันทันที คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตึงต้นคอ คอแข็ง หมดสติ ชักเกร็ง ระดับความรู้สึกตัวลดลง ซึ่งหากเกิดขึ้น เป็นภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการทุพพลภาพและเสียชีวิตค่อนข้างสูง จึงควรรีบพบแพทย์
การวินิจฉัยโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
การวินิจฉัยโรคแพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และการตรวจหลอดเลือดในสมอง เพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือดได้แก่ 1.เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมกับการฉีดสารทึบแสง (CTA) 2.ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับการฉีดสารทึบแสง (MRA) 3.การเจาะหลังใช้เมื่อต้องการพิสูจน์ภาวะเลือดออกมาช่องใต้เยื่อหุ้มสมองอะแร็คนอยด์ กรณีที่มองไม่เห็นในซีทีสแกน แพทย์จะทำการรักษาผู้ป่วยโดยการผ่าตัดและรังสีร่วมรักษาโดยอุดหลอดเลือด ในบางกรณีต้องใช้การรักษาทั้ง 2 แบบร่วมกัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการโตหรือแตกของเส้นเลือดโป่งพอง โรคเส้นเลือดสมองโป่งพองเป็นภัยเงียบที่ไม่อาจทราบได้ล่วงหน้า ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือถ้ามีอาการผิดปกติ อย่ารอช้าควรรีบมาพบแพทย์โดยทันที
ใครควรตรวจหาโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
• บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีประวัติสูบบุหรี่ ใช้สารเสพติดมาก่อน
• ประวัติคนในครอบครัวใกล้ชิด (first degree relative) มีภาวะหลอดเลือดโป่งพองในสมอง
• มีโรคทางพันธุกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
การรักษาโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
ความเสี่ยงของหลอดเลือดโป่งพองขึ้นอยู่กับขนาดของหลอดเลือดที่โป่งพอง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่กว่า 7 มิลลิเมตรขึ้นไป จะเพิ่มโอกาสของการปริแตกมากขึ้นเป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับขนาดที่เล็กกว่า 7 มิลลิเมตร รวมถึงตำแหน่งของหลอดเลือดโป่งพองซึ่งจะมีผลต่อแรงกระแทกต่อหลอดเลือดนั้น
หากหลอดเลือดโป่งพองมีขนาดไม่ใหญ่ มักจะใช้การติดตามเป็นระยะๆ เพื่อดูอัตราการโตของหลอดเลือดโป่งพองนั้น หากมีความเสี่ยงที่จะแตกมากขึ้น จำเป็นจะต้องทำการอุดปิดหลอดเลือดที่โป่งพองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดปริแตก หรือเมื่อมีการปริแตกของหลอดเลือดโป่งพองนั้นแล้ว จำเป็นต้องทำการอุดปิดรอยรั่วของหลอดเลือดโป่งพองนั้นไม่ให้เกิดเลือดออกซ้ำอีก สามารถทำได้โดยการรักษาทางหลอดเลือด และการผ่าตัดแบบเปิดเพื่อหนีบเส้นเลือด
วิธีควบคุมลดปัจจัยเสี่ยงโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
• ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
• หยุดสูบบุหรี่ งดแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น