Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อเกิดขึ้น ต้องรับมืออย่างไร เพื่อให้อยู่ต่อไปได้

ล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อเกิดขึ้น ต้องรับมืออย่างไร เพื่อให้อยู่ต่อไปได้

16 ก.ค. 67
17:57 น.
|
605
แชร์

ทำความเข้าใจปัญหา ล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ควรต้องรับมืออย่างไร เพื่อให้เหตุการณ์นี้ไม่เป็นปัญหาทางใจ!

ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นด้วยพฤติกรรมแบบใด หากเป็นการกระทำที่ให้เหยื่อหรือบุคคลหนึ่ง รู้สึกถึงความไม่สบายใจ ไม่ได้รับความยินยอม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเหตุการณ์นี้ สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่คู่สมรส

การล่วงละเมิดทางเพศ คืออะไร ?

การถูกล่วงละเมิดทางเพศ บางครั้งอาจเกิดจากบุคคลในครอบครัว เพื่อน พี่น้อง โรงเรียน ที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งจากคู่สมรส ซึ่งหากเรื่องนี้เกิดขึ้นกับบุคคลที่เป็นเด็กและมีอายุน้อย จำเป็นที่จะต้องเข้าพบแพทย์ทันทีที่รู้เรื่อง เพราะเหตุการ์ณเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน ก่อนที่จะได้รู้เรื่อง จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด บางรายอาจเกิดเป็นผลกระทบต่อเนื่องไปจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นหรือวัยทำงาน

ล่วงละเมิดทางเพศ หรือ Sexual Harassment เป็นพฤติกรรมที่ฝ่ายหนึ่งแสดงออกโดยนัยถึงเพศ ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี รู้สึกเหมือนถูกคุกคาม ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ที่การกระทำอย่างเดียว แต่ยังมีหลายวิธีการที่ทำให้เหยื่อรู้สึกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการถูกลดทอนคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

istock-1566697788

 

การกระทำที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศ

1. การกระทำจากการสัมผัสร่างกาย
การใช้อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง รวมถึงของสงวน ของลับของผู้ที่กระทำ ในการสัมผัสกับฝั่งตรงข้าม โดยขาดการขออนุญาต หรือความยินยอมก่อน หากเกิดเป็นความรู้สึกติดลบ โดยที่ผู้ถูกกระทำรู้สึกได้ ล้วนเป็นการล่วงละเมิดทั้งสิ้น เช่น การแตะเนื้อต้องตัว, การลูบไล้, การเข้าใกล้จนเกินความจำเป็น ฯลฯ

2. การกระทำจากการใช้คำพูด
เป็นหนึ่งในการกระทำที่สามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุด ซึ่งเป็นการกระทำที่มักแฝงไปด้วยมุกตลกทางเพศ เมื่อผู้ที่ถูกกล่าวถึงรู้สึกไม่สะดวกใจ มักตบท้ายด้วยคำว่า "ล้อเล่น" เช่น เห็นแล้วแข็ง, เห็นแล้วน้ำเดิน, ทำไมไม่มีหน้าอก, แค่เห็นกล้ามก็พร้อมขึ้นเตียง ฯลฯ ซึ่งคำพูดเหล่านี้ มักเกิดจากความใกล้ชิด ที่ไม่มีความเกรงใจต่ออีกฝ่าย

3. การกระทำที่แสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง หรือสายตา
โดยส่วนใหญ่ข้อนี้สามารถระบุความชัดเจนได้ยาก ซึ่งบางครั้งผู้ที่กระทำจะแสดงออกถึงเรื่องเพศ โดยที่เหยื่อรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวได้ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างการกระทำที่เหยื่ออาจสัมผัสได้ถึงการคุกคาม เช่น การมองหน้าอก การส่งสายตาพร้อมกับแลบลิ้น การมองท่าทางการนั่ง ซึ่งการกระทำในข้อนี้ รวมถึงการใช้มือทำท่าทางที่ส่อไปในลักษณะเพศด้วย

4. การกระทำที่แสดงออกทางข้อความ ทั้งในความเป็นจริงและโลกออนไลน์
โดยส่วนใหญ่มักเห็นได้ตามโซเชียลมีเดีย เนื่องจากคิดกันเอาเองว่า "การลงรูปที่ส่อสื่อเท่ากับยินยอมที่จะถูกคุกคาม" ซึ่งการกระทำเหล่านี้ รวมไปถึงการคอมเมนต์ถึงบุคคลาสาธารณะ หรือคนอื่นที่ถูกแอบอ้างการใช้รูปด้วย

 

ตัวอย่างลักษณะการล่วงละเมิดทางเพศ

  • การล่วงละเมิดโดยไม่มีการสัมผัส ได้แก่ การเปิดอวัยวะเพศให้ดู, การให้ดูภาพหรือวิดีโอโป๊, การสำเร็จความใคร่ต่อหน้า, การทำกิจกรรมทางเพศให้ดู,
  • การล่วงละเมิดโดยการสัมผัส ได้แก่ การสัมผัสกอดจบลูบคลำร่างกายหรืออวัยวะเพศ, การให้ลูบคลำจับต้องอวัยวะเพศ หรือให้สำเร็จความใคร่ให้, การสอดใส่อวัยวะเพศ หรือสิ่งของอย่างอื่นทางช่องคลอด หรือ ทวารหนัก หรือ ทางปาก
  • การใช้เหยื่อเพื่อหาผลประโยชน์ ได้แก่ การใช้เหยื่อในการถ่ายภาพหรือวิดีโอโป๊, การใช้เหยื่อค้าประเวณี, การเผยแพร่ภาพหรือวิดีโอโป๊โดยที่เหยื่อไม่ยินยอม

 

ผลกระทบจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเหยื่อ มีผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งมีต่อทั้งทางร่างกาย ทั้งสภาพจิตใจ ที่อาจเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เหยื่อรู้สึกหวาดระแวง รู้สึกถูกคุกคาม โดยอาจเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตต่อไปได้

1.ผลทางร่างกาย (Physical Effects)
ในกรณีที่เกิดกับเด็ก นับเป็นการถูกกระตุ้นเรื่องเกี่ยวกับเพศก่อนวัย อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ที่อาจแสดงออกไวกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน บางรายอาจเกิดเป็นการลอกเลียนแบบใด

ในบางรายอาจเกิดเป็นความเครียด หรือความหวาดกลัว ร่างกายอาจเกิดการต่อต้านได้ทุกระบบ เมื่อถูกบังคับให้อยู่ในความรู้สึกอันตราย เช่น อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เจ็บปวดตามส่วนต่างของร่างกาย เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังมีผลต่อการนอนหลับ หรือมีอาการหวาดผวาได้

2.ผลทางจิตใจ (Emotional / Mental Health Effects)
สำหรับเหยื่อบางราย อาจรู้สึกผิดหวังในตัวเอง รู้สึกถึงความล้มเหลวในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี อาจเกิดเป็นความรู้สึกในแง่ที่ต้องรับผิดชอบ เพราะเมื่อเรียกร้องขอความช่วยเหลือ กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องที่ทำให้ครอบครัวแตกแยก

สำหรับเหยื่อบางรายอาจเกิดอาการกลัว หรือหมดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกถึงความไร้ค่า รู้สึกอ่อนแอที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ อาจเกิดเป็นผลกระทบต่อเนื่อง ขาดความไว้ใจต่อคนอื่น กลัวการเข้าสังคม จนนำไปสู่การเจ็บป่วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล PTSD

 

istock-1477677913

 

วิธีรับมือเมื่อคนใกล้ตัว ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

  1. ตั้งสติ : เมื่อรับรู้เหตุการณ์นี้ขึ้น อันดับแรกควรตั้งสติให้มั่น พร้อมทั้งไม่แสดงอาการตระหนก เพื่อให้เด็กสบายใจที่จะเล่า พร้อมทั้งต้องดูแลความปลอดภัยของเหยื่อ
  2. รับฟัง : เมื่อเหยื่อเปิดใจและพร้อมจะเล่า ต้องไม่ขัดหรือโต้แย้ง หรือแสดงท่าทีไม่เชื่อในคำพูด พร้อมทั้งหาคนที่ทำ อาจต้องใช้เวลาในการกล่อมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน
  3. เก็บหลักฐาน : รวมรวมหลักฐานทั้งหมด ที่ผู้กระทำอาจหลงเหลือเป็นหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ พร้อมทั้งหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นและรู้เรื่องไว้ ควรต้องพาเด็กไปโรงพยาบาล เพื่อเป็นอีกหนึ่งหลักฐานการเอาผิด และป้องกันโรคติดต่อหรือการตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์
  4. ขอความช่วยเหลือ : สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความช่วยเหลือ เช่น สายด่วน 191 หรือ สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 โดยบอกรายละเอียดอื่นเท่าที่ทราบ

 

เพื่อเป็นการช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หากเกิดเรื่องขึ้นแล้ว การทำความเข้าใจและคอยให้กำลังใจ โดยที่ไม่ตัดสินว่าเป็นความผิดของเหยื่อ ถือเป็นขั้นตอนแรกของการช่วยเหลือที่ดีที่สุด

 

ที่มา : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก (thaichildrights.org) / กรมอนามัย (anamai.moph.go.th) / โรงพยาบาลมนารมย์ (manarom.com)

Advertisement

แชร์
ล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อเกิดขึ้น ต้องรับมืออย่างไร เพื่อให้อยู่ต่อไปได้