Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ย้อนประวัติศาสตร์ "อหิวาตกโรค" หรือ "โรคห่า" ระบาดครั้งใหญ่ในไทย

ย้อนประวัติศาสตร์ "อหิวาตกโรค" หรือ "โรคห่า" ระบาดครั้งใหญ่ในไทย

22 ธ.ค. 67
12:42 น.
|
309
แชร์

ย้อนประวัติศาสตร์ "อหิวาตกโรค" ระบาดครั้งใหญ่ในไทย เปิดตำนานสยอง "แร้งวัดสระเกศ" บทเรียนจากอดีตสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการสุขาภิบาล การดูแลตนเองตามหลักอนามัย

อหิวาตกโรค คืออะไร

อหิวาตกโรค (Cholera) หรือที่เรียกกันในสมัยก่อนว่า ป่วง ลงราก หรือ โรคห่า เป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae มีแมลงวันเป็นพาหะ ซึ่งเป็นโรคที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณและยังคงพบได้ในบางพื้นที่ของโลกในปัจจุบัน แม้ว่าในหลายประเทศโรคนี้จะถูกควบคุมได้ดีแล้ว แต่ในบางภูมิภาคที่การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัยยังไม่เพียงพอ โรคนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ

ประวัติศาสตร์ของอหิวาตกโรค

1. ยุคโบราณ เชื่อว่าอหิวาตกโรคมีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เนื่องจากในเอกสารทางประวัติศาสตร์ เช่น เอกสารของอินเดียและกรีกโบราณ มีการบันทึกโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับอหิวาตกโรค

อย่างไรก็ตาม การระบุว่าโรคที่บันทึกในเอกสารโบราณเหล่านี้คืออหิวาตกโรคจริงหรือไม่นั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงในวงการวิชาการ เนื่องจากขาดหลักฐานที่ชัดเจนและเทคโนโลยีการวินิจฉัยที่ทันสมัยในสมัยนั้น

2. การระบาดครั้งใหญ่ มีการบันทึกการระบาดครั้งใหญ่หลายครั้งในประวัติศาสตร์โลก เช่น

- การระบาดในศตวรรษที่ 19 เริ่มต้นในอินเดียแล้วแพร่กระจายไปยังเอเชีย ยุโรป และอเมริกา

- ในไทย การระบาดครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะช่วงรัชกาลที่ 2 และ 3 มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก

สำหรับการระบาดใหญ่ในไทยเกิดขึ้น 2 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. 2363 การระบาดของอหิวาตกโรคในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากราว 30,000 คน ศพลอยเกลื่อนแม่น้ำ ในพระนคร และอีกครั้งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2392 เกิดอหิวาตกโรคระบาดหนักอีกครั้ง เรียกกันว่า "ห่าลงปีระกา" การระบาดในครั้งนั้นตรงกับการระบาดทั่วโลก โดยเริ่มระบาดจากอินเดียไปยุโรป อเมริกา และระบาดเข้าไทยผ่านปีนัง ปัตตานี สงขลา แพร่ระบาดผ่านทางเรือเข้าสมุทรปราการ กรุงเทพฯ และแพร่ระบาดไปยังเมืองต่างๆ

การระบาดครั้งนี้มี ผู้เสียชีวิตถึง 40,000 คน วัดที่ใช้เป็นสถานสำหรับเผาศพในขณะนั้นคือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) และวัดตีนเลน (วัดเชิงเลน หรือ วัดบพิตรพิมุข) แต่เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจึงทำให้มีศพที่เผาไม่ทัน ถูกกองรวมกันอยู่ตามวัด โดยเฉพาะที่วัดสระเกศ มีศพกองเป็นจำนวนมาก ทำให้ฝูงแร้งแห่ไปลงกินซากศพตามลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิเต็มไปด้วยแร้ง แม้จะมีเจ้าหน้าที่ถือไม้คอยไล่ก็ไม่สามารถไล่ฝูงแร้งที่เข้ามารุมทึ้งซากศพได้ ความดุสยองของ แร้งวัดสระเกศ เป็นที่โจษจันขวัญผวาตั้งแต่ยุคนั้นกระทั่งปัจจุบัน

อาการหลังได้รับเชื้ออหิวาตกโรค

ผู้ที่ได้รับเชื้อจะเกิดอาการได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมง ถึง 5 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดอาการภายใน 1-2 วัน มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว รวมถึงมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนได้ ถ้าอาการไม่รุนแรงมักหายภายใน 1-5 วัน แต่หากถ่ายเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีมูกหรือมูกเลือด จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ช็อก ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิตได้

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการท้องเสีย

- ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ / น้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส บ่อยครั้ง ให้จำนวนทดแทนกับที่เสียไป

- หากมีอาการมากขึ้น เช่น ถ่ายเหลวบ่อยครั้งมากขึ้น มีมูกเลือด อาเจียน ไข้สูง ชัก หรือซึม ควรรีบพาไปพบแพทย์

- งดอาหารที่มีรสจัดหรือเผ็ดร้อนหรือของหมักดอง

การป้องกันโรคอหิวาตกโรค

- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหารควรล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง สุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงไว้นานๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม

- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หรือก่อนปรุงอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ

- ถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ไม่เทอุจจาระ ปัสสาวะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งเรี่ยราด

- ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง

- การรับวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรคเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันคือ ควรเน้นการปรับปรุงสุขาภิบาล มีสุขอนามัยที่ดี

ข้อมูลอ้างอิง : กรมควบคุมโรค, สสส., กรมศิลปากร

Advertisement

แชร์
ย้อนประวัติศาสตร์ "อหิวาตกโรค" หรือ "โรคห่า" ระบาดครั้งใหญ่ในไทย