Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ร้อนแล้วหนา! ระวัง 6 โรค ที่มากับภัยความร้อน กันไว้ดีกว่าแก้

ร้อนแล้วหนา! ระวัง 6 โรค ที่มากับภัยความร้อน กันไว้ดีกว่าแก้

6 มี.ค. 67
12:00 น.
|
531
แชร์

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน แพทย์เตือนให้ระวัง 6 โรค ที่มากับภัยความร้อน ป้องกันไว้ดีกว่าอย่าชะล่าใจจนเจ็บป่วย

6 โรค ที่ควรระวังในช่วงฤดูร้อน ได้แก่

1. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปโตซัว พยาธิ มักพบในอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรืออาหารที่ปรุงทิ้งไว้เป็นเวลานาน ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปมักมีไข้ ปวดท้อง เกิดการอักเสบที่ลำไส้ได้ ทำให้ปวดท้อง อุจจาระร่วง หรือติดเชื้อไปยังอวัยวะอื่น เช่น ข้อกระดูก ถุงน้ำดี หัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง ไปจนถึงติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ซึ่งหากเกิดในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ จะมีโอกาสทำให้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ควรเลือกทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก สดใหม่ ไม่ค้างคืน โดยเฉพาะอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบจะบูดเสียง่าย ไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ มีแมลงวันตอม และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร

2. โรคบิด

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านการรับประทานอาหาร ผักดิบ รวมถึงน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค การติดเชื้อสามารถทำให้เกิดอาการไข้ ปวดท้องบิด ปวดเบ่งถ่ายไม่สุด ถ่ายอุจจาระบ่อย และอาจทำให้อุจจาระมีมูกหรือมูกปนเลือดได้อีกด้วย

3. โรคอาหารเป็นพิษ

ติดต่อโดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค มักพบในอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ ซึ่งมีอยู่ทั้งในเนื้อสัตว์ ไข่ หรืออาหารที่ปรุงทิ้งไว้เป็นเวลานาน ซึ่งคนที่ได้รับเชื้อเข้าไปมักมีไข้ ปวดท้อง เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้ จึงทำให้มีอาการปวดท้อง ปวดเมื่อย คลื่นไส้อาเจียน อุจจาระร่วง หรือการติดเชื้อไปยังอวัยวะอื่น ไปจนถึงติดเชื้อในกระแสเลือดได้เช่นกัน ซึ่งหากเกิดในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ซึ่งภูมิต้านทานโรคลดลงจะมีโอกาสทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ การรักษาหลักคือ การรักษาแบบประคับประคอง ยาฆ่าเชื้ออาจพิจารณาให้ในการติดเชื้อบางกลุ่มเท่านั้น และไม่แนะนำให้ใช้ยาหยุดถ่ายเอง เว้นแต่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์

4. อหิวาตกโรค

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ที่ลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อจากอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ซึ่งหากติดเชื้อจะทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมากๆ โดยอาจไม่มีอาการปวดท้อง ทำให้เกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว เช่น กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อก หมดสติจากการเสียน้ำ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับผู้ป่วยถ่ายเหลวเฉียบพลัน ควรชงผงน้ำตาลเกลือแร่ดื่มชดเชยให้ทันกับการสูญเสียน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์

5. ไข้ไทฟอยด์หรือ ไข้รากสาดน้อย

ติดต่อจากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร และอาจท้องผูกหรือท้องเสียได้ นอกจากนี้เชื้ออาจปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะเป็นครั้งคราวได้ด้วย ทำให้เราสามารถเป็นพาหะนำโรคได้

6. โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ

ส่วนใหญ่มักเกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นพาหะนำโรค มักจะพบเชื้อจากสุนัขและแมว สามารถติดต่อได้จากทั้งการโดนกัด หรือถูกเลียบริเวณที่มีแผลถลอก หรือแม้แต่น้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก จมูก ซึ่งหากถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันและต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบเพื่อเข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันทีะ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการภายใน 15-60 วัน ซึ่งบางรายอาจใช้เวลานานเป็นปี และเนื่องจากปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษา จึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 2-7 วันหลังแสดงอาการ

ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำเพื่อหลีกเลี่ยงโรคต่างๆ ในหน้าร้อนนี้ ได้แก่ ดื่มน้ำที่สะอาดเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่ทิ้งไว้นาน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ

Advertisement

แชร์
ร้อนแล้วหนา! ระวัง 6 โรค ที่มากับภัยความร้อน กันไว้ดีกว่าแก้