เปิดสรรพคุณเด่น "5 สมุนไพร" ใช้รักษาโรคที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน

4 ส.ค. 67

กรมการแพทย์แผนไทย ชู 5 สมุนไพร พร้อมแนะนำวิธีรักษา โรคผิวหนัง และ โรคน้ำกัดเท้า ตามศาสตร์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในช่วงฤดูฝน

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยว่า ขณะนี้หลายจังหวัดของประเทศไทยมีปริมาณฝนตกชุก และบางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ปัญหาสุขภาพที่สำคัญ สำหรับประชาชนที่ต้องอาศัยอยู่บริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน คือ โรคผิวหนังและโรคน้ำกัดเท้า ตามศาสตร์และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีการนำสมุนไพรในครัวเรือนที่หาได้ง่าย 5 ชนิด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปมาใช้รักษาโรคผิวหนัง และโรคน้ำกัดเท้า ได้แก่

1. ขมิ้นชัน

แก้คัน ยับยั้งเชื้อโรคและเชื้อราได้ดี โดยวิธีรักษาน้ำกัดเท้าด้วยขมิ้นชันให้นำแง่งขมิ้นชันมาฝนกับน้ำ หรือตำกับน้ำแล้วนำมาชโลมแผลน้ำกัดเท้าก็ได้

2. ข่าแก่

เป็นยารักษาโรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคน้ำกัดเท้าได้ ข่ายังมีฤทธิ์ ในการรักษากลาก เกลื้อน และแก้ลมพิษได้ด้วย โดยในการใช้ข่ารักษาโรคผิวหนังสามารถใช้เหง้าข่าแก่เท่าหัวแม่มือตำให้ละเอียด แล้วผสมเหล้าโรงจนเข้ากันดี จากนั้นนำมาเป็นยาสำหรับทาแผลน้ำกัดเท้าหลาย ๆ ครั้งจนกว่าอาการจะทุเลาลง

3. ใบพลู

เป็นสมุนไพรรักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งมีการนำใบพลูมาล้างสะอาด แล้วตำใบพลูผสมกับเหล้าขาว หรือแอลกอฮอล์ ใช้ทาแก้อาการคัน ลมพิษ หรือคั้นน้ำใบพลู มารักษาโรคกลาก เกลื้อน ฝี หนอง สิว และแผลอักเสบต่างๆ โดยทางการแพทย์แผนปัจจุบันก็พบว่า ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหย ที่เรียกว่า Betel oil ที่มีสรรพคุณยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบนผิวหนัง น้ำมันหอมระเหยที่มีในใบพลู ยังมีส่วนช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังได้อีก

4. เปลือกมังคุดแห้ง

เนื่องจากมีสารแทนนินมาก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและมีฤทธิ์ช่วยรักษาแผลน้ำกัดเท้าได้ นำเปลือกมังคุดแห้งมาฝนกับน้ำหรือน้ำปูนใสให้ข้นพอควร แล้วทาแผลน้ำกัดเท้า วันละ 2-3 ครั้ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการน้ำกัดเท้าได้

5. ทองพันชั่ง

มีสรรพคุณเด่นๆ คือการต้านเชื้อรา เนื่องจากพบสาร Diospyrol สารที่มีฤทธิ์รักษาเชื้อรา รักษากลาก เกลื้อน และต้านอาการผิวหนังอักเสบ โดยใช้ใบทองพันชั่งประมาณ 1 กำมือตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็น วันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน จนกว่าแผลจะหาย

ปัจจุบัน มียาแผนไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่รักษากลุ่มอาการทางระบบผิวหนังที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ซึ่งผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ยาสมุนไพรเพื่อให้สะดวกต่อการใช้ ได้แก่

- ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง สรรพคุณ ทาแก้ กลาก เกลื้อน โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา น้ำกัดเท้า
- ยาทิงเจอร์พลู สรรพคุณ บรรเทาอาการผิวหนังอักเสบ อาการอักเสบจากแมลง กัด ต่อย ยาเปลือกมังคุด สรรพคุณ ทาแผลสด และ แผลเรื้อรัง
- ยาขี้ผึ้งพญายอ สรรพคุณ บรรเทาอาการอักเสบ ปวด บวม จากแมลง กัด ต่อย

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ และวิธีการใช้ยา ตามฉลากกำกับยาอย่างเคร่งครัด

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อป้องกันการเกิดโรคผิวหนังและโรคน้ำกัดเท้า ในช่วงฤดูฝน ในกรณีถ้ามีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ หรือ แช่เท้าในน้ำเป็นเวลานานๆ ควรสวมรองเท้าบูธ และดูแลความสะอาดของเท้าอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะง่ามนิ้วเท้า ระวังอย่าให้เกิดการอับชื้น ควรสวมถุงเท้าที่สะอาดและไม่อับ

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคหรือบรรเทาอาการ ให้ปรึกษาแพทย์แผนไทยในสถานบริการสุขภาพของรัฐได้ทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์
02 149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM

สมุนไพร รักษาโรค หน้าฝน

สมุนไพร รักษาโรค หน้าฝน

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด