การสร้างรากฐานทางอารมณ์ที่ไม่ดีพอให้กับเด็ก อนาคต เราจะได้ผู้ใหญ่ที่โตมามีทัศนคติ ยึดตนเองเป็น "ศูนย์กลางจักรวาล" เลี้ยงลูกอย่างไรให้ โตมาไม่ "เบียว"
เคยไหม...? เจอคนประเภท "ฉันถูกเสมอ" ความคิดฉันคือ ความถูกต้องทั้งปวง หากมันจะผิดก็ผิดที่อื่นไม่ใชช่ฉัน การยึดแต่เหตุผลและความเชื่อของตัวเอง ไม่เปิดรับความเห็นต่าง และมีแนวโน้มสูงว่าเธอหรือเขาจะไม่มีวันเปลี่ยน "นิสัย" นี้ได้ ?
ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่อง Mental Health มากขึ้น การเข้าใจในสถานการณ์เมื่อต้องเผชิญกับผู้ที่มี ตรรกะบิดเบี้ยว หรือ สถานการณ์ที่อบอวลไปด้วยมลพิษทางอารมณ์ เราควร "เรียนรู้" เพื่อได้ "รู้" และปกป้องตนเองจากสิ่งเหล่านั้นย่อมดีต่อสุขภาพจิตของตนเอง
พฤติกรรม ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล เข้ากันได้กับ Grandiose Narcissist (อ้างอิง NSM Thailand) โดยเป็นหนึ่งในความผิดปกติทางบุคลิกภาพ โรคหลงตัวเอง ประเภท ยกตนเองเหนือคนอื่น
คือบุคคลที่มีบุคลิกภาพหลงตัวเองในแบบที่โดดเด่น มั่นใจในตัวเองสูงมากจนเกินพอดี ต้องการการยอมรับจากคนอื่นอยู่ตลอด และเชื่อว่าตนเองพิเศษกว่าใคร
คนกลุ่มนี้อาจดูเป็นคนมีเสน่ห์ มั่นใจ พูดเก่ง ดูมีภาวะผู้นำ แต่ภายในลึกๆ พวกเขามักหลีกเลี่ยงความเปราะบาง ไม่ยอมรับความผิดพลาด และพยายามสร้างภาพลักษณ์เพื่อให้คนชื่นชมตลอดเวลา
มั่นใจในตัวเองแบบเกินพอดี
• เชื่อว่าตนเอง "เหนือกว่า" หรือ "พิเศษกว่า" คนอื่นอย่างแท้จริง
• ต้องการคำชื่นชมตลอดเวลา
• หากไม่ได้รับคำชม อาจรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ หรือพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจ
• ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
• ไม่ค่อยเข้าใจหรือใส่ใจความรู้สึกของคนรอบตัว
• ชอบควบคุมและแสดงอำนาจ
• ต้องการอยู่เหนือผู้อื่น มักมองว่าคนอื่นคือ "ผู้ตาม" หรือ "เบี้ยล่าง"
• เก็บอารมณ์เปราะบางไว้ลึกมาก
• ไม่แสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น กลัวการดูอ่อนแอ หรือ "แพ้"
การเป็น Grandiose Narcissist ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มี รากฐานมาจากวัยเด็ก โดยเฉพาะในเรื่องของความรัก การเลี้ยงดู และความรู้สึกมีคุณค่า
ปัจจัยที่ต้องพิจารณา เลี้ยงดูอย่างไรถึงสร้างผ้าขาวให้กลายเป็น Grandiose Narcissist
• เติบโตมาในครอบครัวที่ให้ความรักแบบมีเงื่อนไข
เด็กอาจรู้สึกว่า "จะได้รับความรัก ก็ต่อเมื่อทำดี สำเร็จ หรือเก่งเท่านั้น" ทำให้โตมาแล้วผูกความรู้สึกมีคุณค่ากับ "ความสำเร็จ" หรือ "คำชม"
• ได้รับการยกย่องเกินจริง
พ่อแม่อาจพูดว่า "ลูกฉลาดที่สุด" "ไม่มีใครเก่งเท่าหนู" โดยไม่สอนให้ลูกรู้จักข้อผิดพลาด ความล้มเหลว หรือการเห็นอกเห็นใจ
• ถูกเปรียบเทียบหรือกดดันให้เป็นที่หนึ่ง
เด็กที่ถูกคาดหวังให้ "ไม่ธรรมดา" ตลอดเวลา อาจสร้างบุคลิกแบบต้อง "โอ่อ่า" เพื่อให้ได้การยอมรับ
• ยกย่องลูกแบบไม่สมดุลกับความเป็นจริง เช่น ชมลูกว่า "ลูกเก่งที่สุดในโลก" ทั้งที่อาจยังต้องฝึกอีกมาก เด็กจะโตมาด้วยภาพว่า "ฉันต้องดีที่สุด" ไม่สามารถยอมรับความธรรมดาได้
• ไม่สอนเรื่องการยอมรับความผิดพลาด หากลูกล้มเหลวแล้วพ่อแม่รีบปกป้องหรือโทษคนอื่นแทน ลูกจะไม่เรียนรู้ความรับผิดชอบ และจะกลัวความล้มเหลวแบบสุดขีด
• ความรักมีเงื่อนไข หากลูกได้รางวัลถึงจะได้รับความสนใจ แต่พอธรรมดากลับถูกละเลย เด็กจะเข้าใจว่า "ฉันต้องเก่งเท่านั้นถึงจะมีคุณค่า"
• เปรียบเทียบลูกกับคนอื่นตลอดเวลา เด็กจะโตมาแบบแข่งขัน ต้องเหนือกว่าคนอื่นเสมอ เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองมีค่า
Grandiose Narcissist คือบุคคลที่เติบโตมากับความต้องการการยอมรับและความกลัวความธรรมดา เขาเรียนรู้ว่า "ความรัก = ความสำเร็จ" ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่เน้นภาพลักษณ์มากกว่าความรู้สึก
• ชมในสิ่งที่เป็นจริง และยอมรับข้อผิดพลาดของลูกอย่างเข้าใจ
• สอนให้ลูกรู้ว่าความล้มเหลวคือโอกาสในการเรียนรู้
• ให้ความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข – ไม่ว่าเขาจะเก่งหรือธรรมดา
• ส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจและการเคารพผู้อื่น
อ้างอิงข้อมูล : verywellmind.com / psychologytoday.com / istrong.co
Advertisement