Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ควันหลงแผ่นดินไหว เช็คสุขภาพกายและใจหลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติ
โดย : ณัฏฐณิชา ภู่คล้าย

ควันหลงแผ่นดินไหว เช็คสุขภาพกายและใจหลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติ

31 มี.ค. 68
13:36 น.
แชร์

ผลกระทบของแผ่นดินไหวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาไม่กี่นาทีที่แผ่นดินเคลื่อนตัว แต่แผ่นดินไหวทิ้งผลกระทบเอาไว้กับเราในระยะยาวด้วยเช่นกัน ซึ่งบางครั้งมีความรุนแรงไม่ต่างกับผลที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีเลย วันนี้ Spotlight อยากพามาสำรวจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของเราหลังการเกิดแผ่นดินไหว


แผ่นดินไหวกระทบใจ

PTSD

โรค PTSD หรือภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นหลังเหตุสะเทือนใจ เป็นหนึ่งในปัญหาทางจิตใจที่พบได้มากที่สุดหลังการเกิดแผ่นดินไหว อ้างอิงจากรายงานสำรวจความเสี่ยงโรค PTSD หลังแผ่นดินไหวปี 2017 อาการของ PTSD รายงานชี้ว่า หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ปากีสถานปี 2005 การเพิ่มขึ้นของ PTSD ในผู้ประสบเหตุการณ์สูงถึง 41.3 เปอร์เซ็นต์

หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.0 ที่เมืองเหวินฉวนประเทศจีนปี 2008 พบว่า โรค PTSD เป็นอาการที่พบได้บ่อยถึง 11.2 ใน 6 เดือนแรก และ 13.4 เปอร์เซ็นต์ใน 12 เดือนแรก เนื่องจาก PTSD จะไม่ได้ปรากฎขึ้นทันทีหลังเหตุการณ์จบลง แต่จะแสดงให้เห็นหลังเวลาผ่านไปแล้ว และเหยื่อต้องอยู่ในสถานการณ์กดดันลักษณะคล้ายเดิมอีก

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะต้องทุกข์ใจจากโรค PTSD และอาการก็อาจต่างกันไปในแต่ละคน อย่างไรก็ตาม อาการ PTSD หลังแผ่นดินไหวอาจประกอบไปด้วย การรู้สึกราวกับกำลังเกิดแผ่นดินไหวอยู่อีกครั้ง การฝันถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวซ้ำหลายครั้ง การจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่น สถานที่ ผู้คน หรือกิจกรรมบางกิจกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับประสบการณ์นั้น ความไวต่อเสียง การไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดได้ เป็นต้น


ปัญหาด้านการนอน

แผ่นดินไหวอาจทิ้งรอยร้าวให้การนอนที่มีคุณภาพได้ นอกจากการสร้างความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างโรค PTSD โรควิตกกังวล (anxiety) โรคซึมเศร้า (depression) แผ่นดินไหวอาจส่งกระทบกับร่างกาย อย่าง กระดูกหัก กล้ามเนื้ออักเสบ ทำให้หาท่านอนที่สบายได้ยาก หรือแผ่นดินไหวอาจส่งผลต่อสาธารณูปโภค ไฟฟ้าดับ ไม่มีน้ำใช้ หรือการต้องนอนในพื้นที่แออัด การนอนแปลกที่ ซึ่งไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากปัญหาทางจิตใจ ร่างกาย หรือสภาพแวดล้อมก็อาจสร้างปัญหาการนอน หรือทำให้ปัญหาการนอนที่มีอยู่แล้วแย่ลงไปอีกได้

รายงาน Earthquake and Sleep Health Effects ปี 2024 ที่ศึกษาผลกระทบแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นปี 2011 ซึ่งศึกษาคน 2 กลุ่มคือคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว และคนที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิต พบว่า คนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้วมากถึง 60.0 เปอร์เซ็นต์รายงานปัญหาด้านการนอนหลังแผ่นดินไหว และผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิตมีปัญหาด้านการนอน 12.1 เปอร์เซ็นต์


PEDS

โรคสมองเมาหลังแผ่นดินไหว หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้มากที่สุดหลังแผ่นดินไหวบริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหวและพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากความสามารถในการรักษาสมดุลของมนุษย์อาศัยการทำงานร่วมกันของหลายระบบ เช่น การมองเห็น ข้อมูลการรับรู้ตำแหน่ง ข้อมูลการทรงตัวในหูชั้นใน เมื่อข้อมูลแต่ละส่วนย้อนแย้งกัน เราจึงมีอาการเวียนศรีษะ มึนงง

รายงานปี 2023 ที่ศึกษาเมือง 11 เมืองในตุรกีหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ในปีเดียวกัน พบว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวในประเทศ มีคนกว่า 68  เปอร์เซ็นต์มีอาการสมองเมา และพบในผู้หญิงได้บ่อยกว่าผู้ชาย

อาการที่พบได้บ่อยคือ รู้สึกมึนหัว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ในร่มราวหนึ่งอาทิตย์หลังแผ่นดินไหว และรายงานยังพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการ PEDS มีแนวโน้มจะมี PTSD โรคเครียด หรือโรคซึมเศร้าหลังแผ่นดินไหวร่วมด้วยมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่มี PEDS


Seismophobia

Seismophobia หรือ Earthquake phobia เป็นอีกโรคทางใจที่พบได้ในเหยื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่เมื่อแผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์น่ากลัวขนาดนั้น ใครบ้างล่ะจะไม่กลัว? แต่ Phobia นั้นไม่ใช่แค่การกลัวธรรมดา แต่เป็น โรคกลัว 

เมื่อถูกเรียกว่า Phobia แล้วความกลัวนั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก อาจส่งผลกระทบต่อการเข้าสังคม หรือการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันเป็นอย่างมาก ยิ่งสำหรับแผ่นดินไหว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฉับพลันทันที ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมาก ในบางรายแม้ไม่เคยประสบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วยตนเอง เพียงรับรู้ความเสียหายของแผ่นดินไหวผ่านสื่อก็สามารถเผชิญกับโรคกลัวแผ่นดินไหวได้เช่นกัน 

อาการของโรคกลัวแผ่นดินไหวที่พบได้ เช่น การกลัวจะเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งและเป็นอย่างมาก การหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือสุานที่ที่จะเป็นอันตรายมากเมื่อเกิดแผ่นดินไหว มีอาการ panic attack เมื่อถูกกระตุ้น การฝันร้าย หรือการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนไป 


แผ่นดินไหวกระทบร่างกาย


ปัญหาทางเดินหายใจ

ฝุ่น ควัน ก๊าซพิษทั้งหลาย และการสัมผัสกับแร่ใยหินคือ สิ่งที่มาพร้อมแผ่นดินไหว อาการหายใจไม่ออกเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว อย่างเช่น ระหว่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองวาน ตุรกี ปี 2011 

หลังแผ่นดินไหวที่เมืองฮันชิน ประเทศญี่ปุ่นปี 1995 การประเมินคุณภาพอากาศที่ดำเนินการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวพบว่า 3 จาก 5 สถานที่ มีระดับอนุภาคแขวนลอยรวมที่สูงขึ้น โดยมีความเข้มข้นสูงสุดที่วัดได้ 150 µg/m3 และหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ภูมิภาคโทโฮคุ ปี 2011 สามสัปดาห์หลังจากเกิดแผ่นดินไหว มีรายงานผู้ป่วยโรคถุงลมปอดเนื่องจากสูดดมอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปมากเกินไป

การหายใจเอาฝุ่นหรือเศษซากอาคารที่พังถล่มหลังแผ่นดินไหวอาจทำให้เกิดภาวะขาดอากาศหายใจ ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่พังลงอาจก่อให้เกิด การกดทับและบาดแผลที่หน้าอก อาจทำให้ขาดอากาศหายใจได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหวจบลงแล้ว อย่างระบบทางเดินหายใจอักเสบ 

รายงาน Impact of Earthquake on Lung Health ชี้ว่าในประเทศหรือพื้นที่ที่มีการคำนึงถึงแผ่นดินไหวระหว่างการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง ความเสี่ยงจากโรคและอาการด้านระบบทางเดินหายใจที่กล่าวมานั้นมีต่ำกว่า เพราะนอกจากโครงสร้างอาคารจะเหมาะกับการรองรับแผ่นดินไหวมากกว่าแล้ว คุณภาพของวัสดุที่ใช้ก่อสร้างก็สร้างผลกระทบต่อระบบหายใจน้อยกว่า

นอกเหนือไปจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อระบบทางเดือนหายใจระหว่างและหลังแผ่นดินไหว อย่างอากาศที่หนาวเย็น ก็จะส่งผลเสียมากกว่า ภาวะทางใจอย่างภาวะเครียด ภาวะวิตกกังวล และ panic attack ที่ทำให้การหายใจยากลำบากลงไปอีก หรือกระทั่งการไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ในทันที


สภาพแวดล้อมง่ายต่อการติดเชื้อ

สภาพแวดล้อมหลังแผ่นดินไหวทำลายสิ่งปลูกสร้างผิวดินไปแล้ว หรือแม้แต่ความชุลมุนวุ่นวายที่ตามมาหลังแผ่นดินไหวไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะกับการอยู่อาศัยนัก ความเสี่ยงการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อบริเวณผิวหนังจากการบาดเจ็บ

การติดเชื้อที่พบบ่อยได้มากที่สุด (จากรายงานปี 2023 เรื่องการป้องกันการติดเชื้อหลังแผ่นดินไหว ศึกษาจากแผ่นดินไหวที่ตุรกีปี 2023) คือการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและตับ ด้วยความเพิ่มขึ้นเป็น 163.4 เคสใน 100,000 คน ตามมาด้วยการติดเชื้อทางผิวหนัง 84.5 เคส และการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ 9.9 เคส และสุดท้ายคือการาติดเชื้อที่ระบบประสาทส่วนกลาง 0.5 เคส

นอกจากนี้หลังแผ่นดินไหวผ่านไป บาดทะยัก แผลเน่า และการติดเชื้อที่บาดแผล ไข้หวัดใหญ่ หัดเยอรมัน และคอตีบ ก็เป็นโรคที่พบได้ในสภาพแวดล้อมที่ชุลมุนหลังการเกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลรุนแรงจนเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของคนอย่างกลับตาลปัตร อย่างการต้องอยู่ในพื้นที่สาธารณะ การต้องอยู่ในพื้นแอดอัด และมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้อื่นมากเกินไป โดยไม่มีการดูแลด้านสุขอนามัยที่ดี เพียงรอยแผลเล็กๆ บนผิวหนัง หรือรอยฟกช้ำการกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้

โรคเก่ารุมเร้า

รายงานปี 2018 ที่ศึกษาผลกระทบหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว 13 ครั้งใน 8 ประเทศชี้ว่า คนที่ผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวมา มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์ โดยอาการที่พบมากคือ อัตราการเสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดสมอง ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วง 1-3 ปีแรกหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว

รายงานเผยว่า ผลกระทบทางจิตใจอาจมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับผลกระทบทางกายประเภทนี้ เช่นเดียวกับประวัติการรักษาที่ได้รับความเสียหายระหว่างเหตุการณ์แผ่นดินไหว นำมาสู่การวินิจฉัยคลาดเคลื่อน รวมไปถึงการต้องย้ายถิ่นฐาน การต้องว่างงาน ที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ล้าช้า ไม่ต่อเนื่อง

แม้แผ่นดินไหวจะจบลงแล้ว แต่การเฝ้าระวังรักษากายใจนั้นยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ผลกระทบที่ประทับอยู่ในกายใจที่ได้กล่าวมานี้ หลายครั้งสามารถป้องกันได้ด้วยการได้รับตำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือเตรียมพร้อมรับมือหลังรับรู้ถึงความเสี่ยงแล้ว


แชร์
ควันหลงแผ่นดินไหว เช็คสุขภาพกายและใจหลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติ