วันนี้เป็นวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ครั้งที่ 55 แล้ว นับตั้งแต่เมื่อปี 1970 มีการแต่งตั้งให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็นวันสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม แต่การดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกของเรามีมากขึ้นเพียงพอแล้วหรือยัง?
สิ่งที่ไม่พอแน่ๆ คือพลังงานไม่หมุนเวียนที่เราเหลืออยู่
ธีมวันคุ้มครองโลกปี 2025 คือ OUR POWER, OUR PLANET หรือ “พลังงานของเรา โลกของเรา” ตั้งใจส่องไฟไปที่พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานที่ได้มาจากแหล่งธรรมชาติ สามารถสร้างทดแทนได้ไวกว่าที่เราใช้ไป
เป้าหมายคือการใช้พลังงานหมุนเวียนมาแทนที่แหล่งพลังงานแบบเดิมที่พึ่งพิงพลังงานฟอสซิลอย่าง ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันดิบ พลังงานเหล่านี้ไม่เพียงแค่สร้างคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก อันสาเหตุหลักของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ยังสามารถหมดไปได้ด้วย
ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 18 โลกของเราหมุนไปได้ด้วยพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แหล่งพลังงานที่โลกสะสมจากซากสัตว์และพืชที่สะสมรวมกันนับล้านปี แต่ถูกนำใช้โดยมนุษย์ด้วยอัตราที่เร็วกว่ากระบวนการสร้างมาก จนแทบจะหมดไปในเวลาไม่ถึง 200 ปีเท่านั้น เชื้อเพลิงฟอสซิลจึงเป็นแหล่งพลังงานที่เราไม่สามารถสร้างทดแทนได้ทัน หมุนเวียนไม่ได้ ทำได้เพียงนับถอยหลัง มองวันเวลาที่หมดไปพร้อมกับพลังงาน
พลังงานหลัก 3 ชนิดที่โลกของเราใช้คือ น้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ที่มีอัตราการใช้งานเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา
อ้างอิงจากข้อมูลสถาบันพลังงาน (Energy Institute) ในปี 2023 เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เราใช้มากที่สุดคือ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ตามลำดับ พลังงานเหล่านี้จะถูกส่งมาที่ปลายทางคือพาหนะของเรา ใช้เป็นพลังงานในครัวเรือน ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซ โรงไฟฟ้าน้ำมัน หรือโรงไฟฟ้าขยะ และอื่นๆ
สำหรับประเทศที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานฟอสซิลมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี ยุโรป จีน ตามลำดับ
ที่มา: OurWorldinData
แน่นอนว่ากราฟที่ปรากฎข้างต้นคงไม่ได้ไต่ขึ้นไปตลอด เพราะพลังงานฟอสซิลที่โลกเหลืออยู่มีน้อยเต็มที แล้วใน 3 พลังงานหลักจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนี้ พลังงานไหนที่จะหมดไปเร็วที่สุด?
คาดการณ์ว่าจะหมดใน: ราว 50 ปี
เหลืออยู่ 1,335,916,000,000 บาร์เรล
ข้อมูลจาก U.S. Energy Information Administration (EIA), worldometers
ความร้อน ความดัน และเวลาอีกหลายพันล้านปี เป็นอุปกรณ์ชั้นเยี่ยมในการเปลี่ยนวัตถุดิบอย่างซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นน้ำมันดิบ ข้อมูบลจาก Oil Price ปี 2019 ชี้ว่า โลกเราใช้น้ำมันเฉลี่ยวันละ 96.92 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2016 หรือราวปีละ 2.1% ของจำนวนน้ำมันดิบที่เรามีอยู่ และด้วยอัตราความเร็วการใช้งานขนาดนี้ มีการคาดการณ์ว่า น้ำมันจะหมดจากโลกของเราภายใน 50 ปี แต่น้ำมันจะหมดไปจริงหรือ?
คำตอบคือ ไม่ แต่ที่เหลืออยู่ เรา (ยัง) เอามาใช้ไม่ได้
ศาสตราจารย์เดวิด แมคโดนับด์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านธรณีวิทยาปิโตรเลียมแห่งมหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน ประเทศสหราชอาณาจักร อธิบายในบทสัมภาษณ์กับ Live Scienece เมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ว่า น้ำมันบางแห่งอยู่ในพื้นที่อย่าง ทวีปแอนตาร์กติกา และบางส่วนอาจเกิดขึ้นลึกมากในชั้นใต้พิภพจนเราไม่สามารถวัดปริมาณหรือขุดมาใช้งานได้
จำนวนน้ำมันราว 1.3 พันล้าน (1.6 พันล้านตามข้อมูลปี 2016) ที่เหลืออยู่จึงเป็นจำนวนน้ำมันที่เราสามารถขุดและนำมาใช้ได้ เท่าที่วิทยาการปัจจุบันจะอนุญาต และ 5 ประเทศที่พบแหล่งน้ำมันนี้มากที่สุดคือ เวเนซูเอลา ซาอุดิอาราเบีย แคนาดา อิหร่าน และอิรัก ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม รายงานปี 2023 จาก Rystad Energy ชี้ว่า อาจมีน้ำมันที่เราสามารถขุดค้นได้เพิ่มมากกว่าจำนวนนี้ แต่เรายังไม่ค้นพบ ดังนั้นจำนวนปีที่มีการคาดการณ์จึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำมันใหม่ที่โลกค้นพบ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับอัตราการใช้ ทำให้แต่ละแหล่งที่มาอาจมีวันเส้นตายก่อนน้ำมันหมดต่างกัน แต่ก็มักไม่ต่างกันมากนัก และปักอยู่ที่ราวปี 2050-2080
คาดการณ์ว่าจะหมดใน: ราว 52 ปี
เหลืออยู่ 1,061,657,000,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมัน
ข้อมูลจาก U.S. Energy Information Administration (EIA), worldometers
ก๊าซธรรมชาติคือ พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ไร้สี ไร้กลิ่น ไร้สารไฮโดรคาร์บอนอันตราย สามารถติดไฟได้ สร้างขึ้นมาจากสาสารอินทรีย์ (โดยเฉพาะจุลินทรีย์ในทะเล) สลายตัวจากความร้อนใต้สภาวะไร้ออกซิเจน แต่มีความร้อนสูงใต้พื้นดินเป็นเวลาหลายล้านปี
ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานถึง 1 ใน 4 ที่ยุโรปและสหรัฐฯ ใช้ ส่วนประเทศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมากที่สุดคือ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน อิหร่าน และญี่ปุ่น ตามลำดับ และใน 1 ปี โลกของเราใช้ก๊าซธรรมชาติราว 1.9% ของก๊าซธรรมชาติที่มีเก็บไว้ นั่นทำให้เรามีเวลาเหลือราว 52 ปีก่อนก๊าซธรรมชาติจะหมดไป
และเช่นเดียวกันกับน้ำมันดิบ คือมีแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่นๆ ที่เรายังไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา (The U.S. Geological Survey) ประมาณการณ์ไว้ว่าโลกของเรามีก๊าซธรรมชาติอีกราว 5,606 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
ประเทศที่พบก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรกคือ รัสเซีย อิหร่าน กาตาร์ สหรัฐฯ และ ซาอุดิอาราเบีย
คาดการณ์ว่าจะหมดใน: ราว 133-150 ปี
เหลืออยู่ 4,264,277,000,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมัน
ข้อมูลจาก U.S. Energy Information Administration (EIA), worldometers
ถ่านหินเริ่มต้นการเดินทางจากซากพืชตายแล้วที่สะสมรวมกันในสภาพแวดล้อมที่เป็นหนองน้ำ และเสริมด้วยเวลาอีกหลายล้านปี ผสมกับความร้อน แรงดัน แต่ไม่มีออกซิเจน นี่คือกระบวนการสร้างถ่านหิน กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่สร้างมลพิษให้โลกมากที่สุด
เราใช้ถ่านหินทั้งในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เป็นท่อพลังงานให้ไฟฟ้าที่เราใช้กันทั่วโลกเป็นสัดส่วนถึง 36% ประเทศที่ใช้พลังงานจากถ่านหินมากที่สุดคือ จีน อินเดีย สหรัฐฯ เยอรมนี และรัสเซีย ตามลำดับ โลกเราใช้ถ่านหินต่อปีราว 0.8% ของถ่านหินที่เรามีกักเก็บไว้ นั้นทำให้เรามีเวลาเหลือราว 133-139 ปีก่อนถ่านหินจะหมดลง
แต่เมื่อเทียบกับน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่ค้นพบได้ง่ายกว่า ทำให้มีการประมาณการณ์ว่า มีถ่านหินที่ยังไม่ถูกค้นพบน้อยกว่าพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกสองแหล่ง EIA ประมาณการณ์ไว้ในปี 2023 ว่า สหรัฐฯ มีถ่านหินที่สามารถค้นพบได้เพิ่ม แต่ยังไม่ถูกค้นพบอยู่อีกราว 250 ล้านตัน หรือ 849.1 พันล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมัน
ประเทศที่มีถ่านหินกักเก็บไว้มากที่สุดคือ สหรัฐฯ รัสเซีย ออสเตรเลีย จีน และอินเดีย ตามลำดับ
แม้ว่าโลกเราจะยังมีพลังงานจากก๊าซธรรมชาติเก็บไว้รอการค้นพบด้วยนวัตกรรมอนาคตอีกมาก และวันเส้นตายพลังงานหมดอาจขยายได้ด้วยเทคโนโลยีการการลงทุนใหม่ๆ แต่การเร่งใช้พลังงานจากเชื้อเพลิง
เชื้อเพลิงฟอสซิลเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ต่อโลกเท่าไหร่นัก เนื่องจากกระบวนการนำพลังงานเหล่านี้มาใช้ เพิ่มก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศและแหล่งน้ำ นำมาสู่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ทัน และสร้างความสูญเสียต่อธรรมชาติและชีวิตมากมาย การลดใช้พลังงานฟอสซิล และหันมาหาพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นทางออก (ซึ่งถึงแม้ไม่สมบูรณ์แบบ และยังไม่สามารถพลิกสถานการณ์วิกฤตทางสภาพอากาศจากหน้ามือเป็นหลักมือได้ทันที) ที่เราพอจะสามารถทำได้ในขณะนี้
อ้างอิง: Worldometers, Live Science, MET, Smenet, infinity, EIA