สิ้นเดือนเมษายนนี้ก็จะครบรอบ 100 วันแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ในสมัยที่ 2 ตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง ในวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา ก็ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษแบบรัว ๆ รวมทั้งหมด 26 ฉบับ จนผ่านมาเกือบ 3 เดือน ได้ทุบสถิติผู้นำสหรัฐฯ ที่ลงนามในคำสั่งพิเศษมากที่สุดในช่วงหนึ่งร้อยวันแรก โดยทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งบริหารพิเศษ ไปแล้วทั้งหมด 124 ฉบับ ทำลายสถิติสูงสุดของอดีตประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ที่ 99 คำสั่ง และเกินสองเท่าของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่ 42 คำสั่ง
ทั้งนี้ CBS News รายงานว่า รูสเวลต์เคยสร้างสถิติการลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารมากที่สุดภายใน 100 วันแรก รวมถึงการประชุมพิเศษของรัฐสภา ช่วยให้สหรัฐฯ หลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ได้ และเขาเป็นผู้คิดค้นเกณฑ์มาตรฐาน 100 วันของรัฐบาลกลางนั่นเอง ส่วนคำสั่งฝ่ายบริหารในช่วงแรกของไบเดนมุ่งเน้นที่การต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นหลัก และพลิกกลับนโยบายหลายประการในช่วงวาระแรกของทรัมป์
ในโอกาสที่ฝ่ายบริหารของทรัมป์กำลังจะทำงานครบ 100 วันแรกในเร็ว ๆ นี้ Spotlight ชวนคุณผู้อ่านมาย้อนดู “คำสั่งพิเศษสุดโต่ง” ที่ทรัมป์ได้ลงนามไปและสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง และท้ายที่สุดได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตผู้คนไปทั่วโลก ในขณะที่บางคำสั่งถูกมองว่า เป็นการเอาอกเอาใจฐานแฟนคลับรีพับลิกันและตัวทรัมป์เองเท่านั้น แต่กลับไม่ได้คิดถึงผลกระทบต่อประชาชนที่จะเดือดร้อนเลย จะมีคำสั่งด้านใดบ้าง?
ทรัมป์สั่งขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีนครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังจากที่เขารับตำแหน่งในสมัยที่ 2 โดยประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมดที่ 10% และค่อย ๆ ปรับขึ้นตอบโต้กันไปมา เช่น ขึ้นอีก 10% สำหรับสินค้าทั้งหมด หรือขึ้น 25% สำหรับเหล็กและอะลูมิเนียม จนเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จีนและสหรัฐฯ ขึ้นภาษีโต้ตอบอย่างดุเดือด จนอัตราภาษีพุ่งขึ้นไปสูงถึง 125% ก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศรวมภาษีเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์สารเสพติดเฟนทานิลอีก 20% จนกลายเป็นอัตราสูงสุด 145%
สำหรับตัวเลข 245% นั้น สหรัฐฯ ไม่ได้เรียกเก็บเพิ่มจาก 145% ล่าสุด แต่เป็นอัตราภาษีสูงสุดที่เป็นไปได้ ที่สินค้าจีนบางประเภทอาจต้องเผชิญในขณะนี้ เนื่องจากเป็นการนับรวมสินค้าจีนบางรายการที่เคยถูกเรียกเก็บภาษีภายใต้มาตรา 301 ในอัตราสูงสุด 100% ดังนั้น สินค้าบางประเภทอาจจะต้องเผชิญกับอัตราภาษีรวมสูงสุดถึง 245% เมื่อรวมกับภาษีตอบโต้และภาษีฝิ่น ซึ่งตัวเลขนี้ถูกผยแพร่โดยทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา
สหรัฐฯ ได้ดำเนินการเก็บภาษีในวงกว้างซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก นโยบายหลักคือแนวคิด "ภาษีตอบโต้" โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับสมดุลการขาดดุลทางการค้าและจัดการกับสิ่งที่ฝ่ายบริหารมองว่าเป็นแนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ทรัมป์เรียกเก็บภาษีพื้นฐาน 10% กับสินค้านำเข้าจาก 180 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังเรียกเก็บภาษีจากประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยและหลายประเทศในอาเซียนก็โดนมาตรการนี้เล่นงานด้วย รวมถึงพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยอัตราภาษีที่เรียกเก็บพิเศษนี้ถูกประกาศใช้กับ 90 ประเทศ มีอัตราตั้งแต่ 11% ไปจนถึง 50% เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ก่อนที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ สหรัฐฯ ก็ได้ออกมาประกาศว่าจะรับคำสั่งดังกล่าวชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อระงับการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาต่างประเทศทั้งหมดของสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วัน คำสั่งนี้มีผลกระทบต่อโครงการและความช่วยเหลือต่างๆ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่ฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกสัญญาและความช่วยเหลือจำนวนมากที่ USAID จัดการอยู่ คิดเป็นมูลค่า 83% ของงบประมาณทั้งหมด
การระงับและการตัดงบประมาณของ USAID ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อโครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การพัฒนา และสุขภาพทั่วโลก หลายองค์กรระหว่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแสดงความกังวลว่าการกระทำเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อความพยายามในการบรรเทาความยากจน ต่อสู้กับโรคภัย และส่งเสริมเสถียรภาพในประเทศกำลังพัฒนา
ในวันแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ในสมัยที่ 2 นี้ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารที่ 14155 ซึ่งสั่งให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวจากการเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยให้เหตุผลว่า WHO จัดการกับการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ผิดพลาด ไม่สามารถดำเนินการปฏิรูปที่จำเป็นเร่งด่วน และไม่สามารถแสดงความเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองของประเทศสมาชิกได้ คำสั่งดังกล่าวสั่งให้ระงับการโอนเงิน การสนับสนุน หรือทรัพยากรใดๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้แก่ WHO
ทั้งนี้ การถอนตัวของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของ WHO จะส่งผลกระทบอย่างมากต่องบประมาณขององค์กรให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ต่าง ๆ ทั่วโลก WHO ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯ โดยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญขององค์กรในการดูแลสุขภาพโลกและความร่วมมืออันยาวนานกับสหรัฐฯ
สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้หลักการให้สัญชาติโดยการเกิด ซึ่งระบุไว้ในบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ว่า ทารกที่เกิดในสหรัฐฯ จะได้รับสัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติ แต่ทรัมป์พยายามเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ โดยการเพิ่มเงื่อนไขว่าต้องมีพ่อหรือแม่อย่างน้อยคนหนึ่งที่เป็นพลเมืองชาวอเมริกัน บุตรจึงจะได้รับสัญชาติอเมริกันด้วย มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการผู้อพยพผิดกฎหมาย แต่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐบาลกลางในวอชิงตันได้มีคำพิพากษาระงับคำสั่งของทรัมป์เป็นการชั่วคราว
วิธีการของทรัมป์ต่อผู้อพยพผิดกฎหมายเป็นไปอย่างดุดันและรุนแรง เริ่มแรกฝ่ายบริหารของทรัมป์กดดันแคนาดาและเม็กซิโกอย่างหนัก ให้จัดการกับผู้อพยพที่ข้ามชายแดนสหรัฐฯ เข้ามาอย่างผิดกฏหมาย รวมถึงมีการตรึงกำลังทหารตามแนวชายแดนสหรัฐฯ และเม็กซิโกด้วย หลังจากนั้นก็เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างผู้อพยพอย่างหนัก โดยเฉพาะกรณีล่าสุด รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งเนรเทศสมาชิกแก๊งอาชญากรชาวเวเนซุเอลามากกว่า 200 คน ออกจากประเทศไปยังเรือนจำซูเปอร์แม็กซ์ในเอลซัลวาดอร์ ซึ่งมีดรามาภายในสหรัฐฯ เอง เพราะการส่งตัวผู้อพยพออกนอกประเทศ นับเป็นการขัดคำสั่งศาลสหรัฐฯ ด้วย
นอกจากนี้ การส่งตัวผู้อพยพขัดต่อหลักมนุษยธรรม เนื่องจากภาพการขนย้ายผู้อพยพถูกปฏิบัติราวกับนักโทษรุนแรง และการส่งตัวชาวเวเนซุเอลาไปยังคุกที่ไร้มาตรฐานในเอลซัลวาดอร์ ก็สร้างเสียงประณามในเวทีโลกเช่นกัน
วิลเลียม ฮาวเวลล์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ กล่าวว่า "ปริมาณการพลิกคำตัดสินของศาลที่สูงเป็นพิเศษในช่วงต้นของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีนี้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา" จากคำสั่ง 124 ฉบับ ทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปรับลดงบประมาณและหน่วยงานของรัฐบาลกลางทั้งหมด 18 ฉบับ
ปลายเดือนมกราคม หลังเขาขึ้นรับตำแหน่งได้ไม่นาน ก็มีคำสั่งระงับการใช้งบประมาณรัฐบาลกลางหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการชั่วคราว ไม่ให้รัฐบาลใช้งบประมาณที่ผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส เงินเหล่านี้คืองบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษา สุขภาพ และเงินช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ หลายฝ่ายมองเป็นการแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ หลังคำสั่งดังกล่าวมีผลได้ไม่นาน ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในวอชิงตัน ดีซี ออกมาขวางคำสั่งของทรัมป์
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังมอบหมายให้อีลอน มัสก์ เป็นผู้บัญชาการกระทรวงประสิทธิภาพสหรัฐฯ หรือ DOGE นำการตรวจสอบหน่วยงานราชการต่าง ๆ เขาอ้างว่า ภาครัฐของสหรัฐฯ มีสภาพเทอะทะและใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง และ DOGE อ้างว่า สามารถประหยัดเงินได้ 105,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ตั้งแต่ทรัมป์รับตำแหน่งถึงช่วงกลางเดือนมีนาคม มีคำสั่งเลิกจ้างข้าราชการและพนักงานราชการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มากกว่า 1 หมื่นคน จากทั้งหมด 2.3 ล้านคน
ทรัมป์ลงนามในคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหาร เพื่อสั่งยุบกระทรวงศึกษาฯ ของสหรัฐฯ คำสั่งที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนในสหรัฐฯ หรือแม้แต่ในโลกนี้จะกล้าทำได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเปิดโอกาสให้แก่เด็กและครอบครัวในการหลุดพ้นจากระบบซึ่งทำให้พวกเขาล้มเหลว เขากล่าวว่า ภายใต้ระบบใหม่ที่ไม่มีกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนต่าง ๆ จะสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในยุโรปและจีนได้
แต่แท้จริงแล้ว เบื้องหลังของคำสั่งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดงบประมาณรัฐบาลกลางเช่นกัน พนักงานของกระทรวงศึกษาธิการเกือบครึ่งหนึ่งได้รับแจ้งว่าอาจถูกเลิกจ้าง และโปรแกรมต่าง ๆ จำนวนมากที่มุ่งส่งเสริมความหลากหลายและปกป้องนักศึกษาข้ามเพศก็ถูกยกเลิกเช่นกัน และมีตัวเลขที่เผยออกมาว่าการยุบกระทรวงศึกษาจะช่วยลดงบประมาณรัฐบาลกลางได้ถึง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์มีคำสั่งพิเศษพุ่งเป้าลบแนวคิดด้านความหลากหลาย ความเสมอภาค และการรวมกลุ่ม (DEI) ออกจากกองทัพ เพื่อคืนตำแหน่งให้อดีตทหารสหรัฐฯ ที่ถูกปลดประจำการไปเนื่องจากปฏิเสธการรับวัคซีนโควิด-19 ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่ล่าสุด ผู้พิพากษาของศาลรัฐบาลกลางที่กรุงวอชิงตัน ดีซี มีคำสั่งระงับคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่กีดกันคนข้ามเพศจากการเข้ารับราชการทหารในกองทัพสหรัฐฯ เป็นการชั่วคราว เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวมีแนวโน้มละเมิดสิทธิการได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญของคนกลุ่มนี้
คำสั่งดังกล่าวซึ่งเรียกว่า "การปกป้องผู้หญิงจากอุดมการณ์ทางเพศสุดโต่ง และฟื้นฟูความจริงทางชีวภาพแก่รัฐบาลกลาง" ประกาศว่าสหรัฐฯ รับรองอย่างเป็นทางการว่า มีเพียงสองเพศเท่านั้น คือ "ชายและหญิง" ประกาศนี้ระบุว่า พนักงานของรัฐทุกคน ต้องใช้คำว่า "เพศ" (sex) ไม่ใช่คำว่า "เพศสภาพ" (gender) ในนโยบายและเอกสารต่าง ๆ ขณะที่เอกสารทางการต่าง ๆ รวมถึงหนังสือเดินทาง ควรยึดตามเพศที่บันทึกไว้ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอธิบายว่าเป็น "การจำแนกทางชีววิทยาที่ไม่เปลี่ยนรูปของบุคคล"
เมื่อไม่นานมานี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารล่าสุด ยกเลิกข้อจำกัดด้านแรงดันน้ำของฝักบัว เครื่องล้างจาน และอุปกรณ์ใช้น้ำภายในบ้าน เพื่อ “ทำให้การอาบน้ำในอเมริกายอดเยี่ยมอีกครั้ง” สะท้อนจุดยืนที่เขายึดถือมายาวนานว่าผู้บริโภคควรมีสิทธิในการใช้น้ำโดยไม่ถูกควบคุมจากรัฐ แต่เบื้องหลังของเรื่องนี้คือ “สงครามฝักบัว” (Showerhead War) ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่ขัดแย้งกันระหว่างสองฝ่ายการเมืองในสหรัฐฯ ว่า ควรให้ความสำคัญกับเสรีภาพของผู้บริโภค หรือ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน ซึ่งทรัมป์ก็ยืนอยู่ในฝั่งที่ไม่ต้องจำกัดแรงดันน้ำ พลิกคำสั่งของผู้นำฝ่ายเดโมแครต
ในช่วงหนึ่งของการปราศรัย หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขากล่าวว่า “อเมริกาจะกลับมามีสถานะที่ชอบธรรมอีกครั้งในฐานะประเทศที่ยิ่งใหญ่ ทรงพลัง และเป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดในโลก ซึ่งจะสร้างความเกรงขามและชื่นชมให้กับคนทั้งโลก ในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโกเป็นอ่าวอเมริกา” แต่เขาไม่ได้พูดลอย ๆ ให้ตลกโปกฮา แต่ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษซึ่งส่งผลให้แบบเรียนภูมิศาสตร์ ไปจนถึง Google Map จะต้องเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโกแห่งนี้ให้เป็นอ่าวของอเมริกาตามบัญชาของทรัมป์