ภาพถนนอินเดียที่เราส่วนใหญ่นึกถึง คงจะเป็นภาพถนนจอแจ เสียงบีบแตรรถดังระงม และรถขับประชิดติดกันเว้นระยะห่างเพียงช่วงฝ่ามือ บรรยากาศวุ่นวายนี้ หากบอกว่ามีอุบัติเหตุบ่อยก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก แล้วก็จริงเช่นนั้น เพราะในปี 2023 มีคนอินเดียเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในถนนไปมากกว่า 172,000 คน หรือเฉลี่ยราว 474 คนต่อวัน
ในจำนวนนั้น 10,000 คนที่เสียชีวิตเป็นเด็ก และอีก 10,000 ราย การเสียชีวิตเกิดขึ้นใกล้โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ส่วนราว 35,000 คนเป็นผู้ใช้ทางเท้า และยังมีข้อมูลเปิดเผยมาว่า 54,000 คนตายจากการไม่ใส่หมวกกันน็อก และอีก 16,000 คนจากการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ราว 12,000 คนจากการบรรทุกคนเกินจำนวน นอกจากนี้ยังพบว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นราว 34,000 ครั้งนั้นเกิดจากผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่
ในปี 2021 กว่า 13% ของอุบัติเหตุทางท้องถนนเกิดจากผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตเรียนขับรถเท่านั้น หรือผู้ที่ไม่มีใบขับขี่เลย อีกทั้งพาหนะบางคันบนท้องถนนนั้นเก่ามาก จนไม่มีอุปกรณ์รักษษความปลอดภัยอย่าง เข็มขัดนิรภัย หรือถุงลมนิรภัย นอกจากนี้สภาพแวดล้อมบนท้องถนนก็มีส่วนเกี่ยว
อินเดียมีระบบทางหลวงที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกตามหลังเพียงแค่สหรัฐอมเริกา มีอาณาเขตขยายกว้างขวางกว่า 6.6 ล้านกิโลเมตร และมีพาหนะลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 350 ล้านคัน
แต่ระบบถนนที่กว้างใหญ่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นถนนที่ดี นิทิน คัดการี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทางหลวงกล่าวว่า โครงสร้างทางโยธาที่ไร้คุณภาพเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุบนท้องถนนในอินเดีย อย่างป้ายจราจรและเครื่องหมายที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งติดอย่างผิดๆ การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน และการจัดการที่ไม่ดี
“ผู้ร้ายสำคัญคือพวกวิศวกรโยธา” คัดการีกล่าว
นอกจากนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การตรวจสอบความปลอดภัยทางถนนที่ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยด้านการขนส่งและการป้องกันการบาดเจ็บ (TRIPP) แห่งสถาบันเทคโนโลยีอินเดีย (IIT) เดลี เปิดเผยข้อผิดพลาดมากมายที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการสร้างพื้นฐานถนนของอินเดีย
แม้ว่าอินเดียจะมีกฎที่ชัดเจนในการสร้างถนนที่เป็นมาตรฐาน “บนกระดาษ” แต่ความเป็นจริง การปฏิบัติและบังคับใช้ตรงกันข้าม ตัวอย่างแรกคือ การติดตั้งแผงกั้นจราจรจากเหล็กในความสูงที่ผิด วางบนฐานคอนกรีต หรือวางในตำแหน่งไม่เหมาะ ซึ่งอาจทำให้รถบรรทุกหรือรถบัสพลิกคว่ำได้
“ถ้าไม่ติดตั้งให้เหมาะสม แผงกั้นกันชนจะทำให้เกิดอันตรายมากกว่าป้องกัน” คีตัม ติวารี ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านวิศวกรรมโยธาแห่งสถาบันเทคโนโลยีอินเดีย (IIT) เดลีกล่าวกับสำนักข่าว BBC
อีกปัญหาหนึ่งของถนนอินเดียคือเกาะกลางถนนที่สูงเกินไป โดยเฉพาะบนถนนที่รถใช้ความเร็วสูง เกาะกลางถนนไม่ควรมีความสูงมากกว่า 10 เซนติเมตร เมื่อรถที่ใช้ความเร็วสูงชนเข้ากับเกาะกลางถนน ยางจะเกิดความร้อน เสี่ยงต่อการระเบิด และรถพลิกคว่ำได้
และยังมีปัญหาถนนสูงกว่าขอบถนน เกิดจากการปูถนนทับถนนเดิมซ้ำเรื่อยๆ บนถนนสายชนบทหลายๆ สาย บางแห่งพื้นถนนหลักมีความสูงมากกว่าขอบถนนถึง 6-8 นิ้ว ความสูงที่ต่างนี้อันตรายมาก โดยเฉพาะต่อผู้ใช้จักรยานยนต์ เพราะเมื่อผู้ขับขี่หักหลบสิ่งกีดขวาง รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ก็อาจลื่นไถล พลิกคว่ำ หรือเสียหลักได้
ศาสตราจารย์ติวารีกล่าวว่า “หนึ่งในปัญหาสำคัญคือ การไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย [ในการสร้างถนน] นั้นแทบไม่มีบทลงโทษเลย สัญญาว่าจ้างมักไม่มีการระบุข้อกำหนดไว้อย่างชัดเจน และการจ่ายเงินก็มักคิดตามกิโลเมตรที่สร้างเสร็จมากกว่าการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย” ศาสตราจารย์ติวารีกล่าว
ท้องถนนในอินเดียคือที่สัญจรของพาหนะมากมาย ทั้งรถยนต์ รถบัส จักรยานยนต์ แย่งชิงพื้นที่กับพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์อย่าง จักรยาน รถลาก และเกวียนเทียมสัตว์ แออัดแก่งแย่งกันบนถนนสายเดียว นอกจากนี้ยังมีคนและสัตว์ที่ต้องเบียดตัวเองมาเดินบนถนนรถ เพราะทางเท้าถูกจับจองด้วยร้านค้าหาบเร่ แผงลอย และกิจกรรมอื่นๆ โครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว แต่เพราะพฤติกรรมของคนด้วย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สาเหตุที่ถนนอินเดียเป็นหนึ่งในถนนที่อันตรายที่สุดในโลกนั้น ไม่ใช่เพราะลักษณะถนนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะพฤติกรรมการใช้ถนนด้วย รัฐมนตรีคัดการีกล่าวเมื่อเดือนมีนาคมว่า สาเหตุของอุบัติเหตุนั้นมาจากการไม่เคารพกฎจราจรและขาดความกลัวเกรงในกฎหมาย “อุบัติเหตุนั้นมีสาเหตุหลายประการ แต่ที่มากที่สุดคือนิสัยคน”
อุบัติเหตุบนท้องถนนสร้างความสูญเสียเป็นราคากว่า 3% ของ GDP ต่อปีของอินเดีย ตามข้อมูลที่เปิดเผยโดยคัดการี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568
นอกจากนี้รัฐมนตรียังเพิ่งประกาศโครงการใหม่ ปรับถนนสองเลน ยาว 25,000 กิโลเมตรให้เป็นถนน 4 เลน “นี่จะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุได้อย่างมาก” เขากล่าว
แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศรายได้น้อย-ปานหลาง ควี ภัลลา จากมหาวิทยาลัยชิคาโกแสดงความเห็นแย้ง “ไม่มีเหตุผลให้เชื่อเลยว่า การขยายถนนจะช่วยทำให้การตายบนท้องถนนลดลง มีหลักฐานมากมายชี้ว่าการปรับปรุงถนนในอินเดียมักนำไปสู่ความเร็วการจราจรที่เพิ่มขึ้น และเป็นอันตรายต่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่จักรยานและจักรยานยนต์”
ภัลลายังอธิบายเพิ่มเติมว่า การออกแบบถนนในอินเดียมักจะเลียนแบบมาจากประเทศตะวันตก โดยไม่คำนึงถึงลักษณะการจราจรของอินเดียและโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศจำเป็นต้องมีจริงๆ
“ปัญหาหลักก็คือ ถนนในอินเดียทุกวันนี้ลอกมาจากการออกแบบในสหรัฐฯ และยุโรป ที่สภาพแวดล้อมด้านการจราจรต่างกันมาก อินเดียพยายามจะสร้างทางด่วนสไตล์สหรัฐฯ แต่ไม่ได้ลงทุนกับการวิจัยเรื่องวิศวกรรมความปลอดภัยหรือระบบข้อมูลอุบัติเหตุแบบสหรัฐฯ”
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห้นพ้องว่า การสร้างถนนเพิ่มในอินเดียจะช่วยเรื่องการเติบโตของประเทศ แต่ก็เน้นย้ำว่าการเติบโตควรยั่งยืน และไม่ควรเอาชีวิตของคนเดินเท้าและผู้ขับขี่จักรยานยนต์มาเสี่ยง
แหล่งที่มา: BBC