จีนระงับการสั่งซื้อถั่วเหลืองและข้าวโพดจากสหรัฐฯ ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม ตามรายงานของ Nikkei เพื่อลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์เกษตรจากสหรัฐฯ และหันไปนำเข้าจากประเทศอื่น เช่น บราซิล เพื่อรักษาความมั่นคงด้านอุปทานอาหารของประเทศ
ท่าทีดังกล่าวของจีนถูกมองว่าเป็นมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อตอบโต้กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผลประโยชน์ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำที่เริ่มเปิดฉากสงครามการค้ากับจีนตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งครั้งแรก และกลับมาผลักดันมาตรการขึ้นภาษีอีกครั้งหลังกลับเข้ามารับตำแหน่ง
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ทรัมป์จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ สหรัฐฯ ไม่ได้รับคำสั่งซื้อถั่วเหลืองหรือข้าวโพดจากบริษัทจีนเลย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องทุกเดือนจนถึงเดือนธันวาคม
ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2024 ทรัมป์ประกาศว่าจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนทุกประเภทในอัตรา 60% และจนถึงเดือนเมษายน รัฐบาลของเขาได้ปรับขึ้นภาษีต่อสินค้าจีนแล้วรวมกว่า 145%
เพื่อเป็นการตอบโต้ จีนจึงประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หลายรายการในเดือนมีนาคม ทั้งถั่วเหลือง ข้าวโพด และเนื้อไก่ โดยมีการปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 15 จุดเปอร์เซ็นต์
ภายใต้มาตรการดังกล่าว บราซิลกลายเป็นแหล่งนำเข้าหลักของจีนแทนสหรัฐฯ โดย Mauricio Buffon ประธานสมาคมผู้ปลูกถั่วเหลืองบราซิล เปิดเผยกับ Nikkei ว่า จีนได้ลงนามในสัญญานำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลอย่างน้อย 2.4 ล้านตันภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียวในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งเทียบเท่ากับหนึ่งในสามของปริมาณการแปรรูปถั่วเหลืองรายเดือนของจีน
หลังสงครามการค้าระลอกแรก จีนได้ลดการพึ่งพาถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ อย่างชัดเจน โดยในปี 2017 สหรัฐฯ เคยเป็นแหล่งนำเข้าหลักของจีนคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% แต่ในปี 2024 ตัวเลขลดลงเหลือประมาณ 20% ขณะที่สัดส่วนของถั่วเหลืองจากบราซิลเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 70% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ยังส่งผลให้ราคาถั่วเหลืองบราซิลปรับตัวสูงขึ้นกว่าปกติ โดยในช่วงปลายมีนาคมถึงต้นเมษายน ราคาถั่วเหลืองบราซิลปรับตัวสูงกว่าราคาฟิวเจอร์สในตลาดชิคาโก ซึ่งปกติในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ราคาบราซิลมักจะถูกกว่าเพราะผลผลิตออกมามาก แต่ในปีนี้กลับแพงกว่าจนถึงปลายเมษายน
Hideki Hattori หัวหน้านักวิเคราะห์ธัญพืชของบริษัท Nippn ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ความต้องการถั่วเหลืองบราซิลยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านราคาและการขาดแคลนน้อยกว่าสินค้าจากสหรัฐฯ
จีนยังคงเดินหน้าลดการนำเข้าสินค้าเกษตรอเมริกันอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกรมศุลกากรจีนระบุว่า ในเดือนมีนาคม การนำเข้าฝ้ายดิบจากสหรัฐฯ ลดลงถึง 90% เมื่อเทียบกับปีก่อน และในไตรมาสแรกของปีนี้ จีนนำเข้าข้าวสาลีจากสหรัฐฯ เพียง 1% ของปริมาณในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
แนวโน้มนี้ยังขยายไปถึงการนำเข้าทรัพยากรธรรมชาติ โดยในไตรมาสแรกของปี จีนลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
ที่มา: Nikkei Asia