เจดี แวนซ์ (J.D. Vance) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางถึงกรุงนิวเดลีในวันนี้ (21 เม.ย.) เพื่อพบกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเร่งผลักดันข้อตกลงการค้าทวิภาคี ในขณะที่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทวีความรุนแรง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับโลกของสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ เริ่มสั่นคลอน
ในการเยือนอินเดียครั้งนี้ รองประธานาธิบดีเจ.ดี. แวนซ์ เดินทางมาพร้อมภริยา อูชา แวนซ์ ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย และบุตรทั้งสาม ยวน วิเวก และมิราเบล โดยกำหนดการตลอด 4 วันผสมผสานระหว่างภารกิจการทูตระดับสูงกับกิจกรรมส่วนตัวของครอบครัว
เมื่อเดินทางถึงกรุงนิวเดลี ครอบครัวแวนซ์ได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรถไฟ แอชวินี ไวศณาว ท่ามกลางกองทหารตั้งแถวเกียรติยศและเสียงเพลงชาติสหรัฐฯ จากวงดุริยางค์ทหาร
ทำเนียบขาวระบุว่า การเยือนครั้งนี้เน้นวาระด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญร่วมกัน ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียมองว่าเป็นโอกาสสำคัญในการทบทวนความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
สหรัฐฯ และอินเดียกำลังเร่งเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้า ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ตึงเครียดมากขึ้น หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากับหลายประเทศ รวมถึงอินเดีย ซึ่งถูกจัดเก็บภาษีถึง 26% เมื่อวันที่ 2 เมษายน ก่อนจะมีการประกาศระงับชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน
เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว รัฐบาลอินเดียจึงเร่งเดินหน้าเจรจาอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ บางรายการ และอยู่ระหว่างการพิจารณาลดเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าปิดข้อตกลงเบื้องต้นให้ได้ภายในฤดูใบไม้ร่วงนี้
สหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอินเดีย ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศที่สูงกว่า 190,000 ล้านดอลลาร์ และผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ประกาศเป้าหมายที่จะผลักดันให้แตะระดับ 500,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เรียกความร่วมมือดังกล่าวว่าเป็น “หุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับมหภาค”
นอกเหนือจากการค้า อินเดียยังเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการลงทุน ความมั่นคง และการทหาร อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม Quad ร่วมกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ที่มีเป้าหมายหลักในการถ่วงดุลอำนาจของจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ขณะเดียวกัน บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง Apple, Google และล่าสุด Starlink ต่างเร่งขยายการลงทุนในอินเดีย โดย Starlink ได้ลงนามความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของอินเดีย เพื่อเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศในระดับโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ แม้ว่าความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และอินเดียจะดูแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ แต่กระแสคัดค้านจากประชาชนอินเดีย โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ก็กำลังทวีความรุนแรง เนื่องจากกังวลว่าข้อตกลงการค้าระหว่างสองประเทศอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรอย่างรุนแรง
ในวันเดียวกับที่รองประธานาธิบดีแวนซ์เดินทางถึงอินเดีย สหภาพเกษตรกร All India Kisan Sabha (AIKS) ซึ่งเป็นองค์กรเกษตรกรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้จัดการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศเพื่อต่อต้านข้อตกลงการค้า พร้อมเตือนว่าการเปิดเสรีทางการค้าอาจทำให้เกษตรกร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมนม ต้องเผชิญกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ
AIKS ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 16 ล้านคนและมีความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย ยังได้วิพากษ์วิจารณ์ฮาวเวิร์ด ลัตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ว่าใช้แรงกดดันทางการเมืองเพื่อผลักดันให้อินเดียเปิดตลาดเกษตรกรรมที่ยังคงได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
นอกจากปัญหาภาคเกษตรแล้ว ประเด็นเรื่องวีซ่าก็กลายเป็นอีกหนึ่งความกังวลสำคัญ โดยเฉพาะวีซ่านักศึกษาและวีซ่าแรงงานชั่วคราวประเภท H-1B ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อแรงงานเทคโนโลยีชาวอินเดีย ข้อมูลจากทางการสหรัฐฯ ระบุว่า ในจำนวนวีซ่านักศึกษาที่ถูกเพิกถอน 327 รายล่าสุด มีชาวอินเดียได้รับผลกระทบถึงครึ่งหนึ่ง
ไจราม ราเมศ ผู้นำพรรคคองเกรส เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียหยิบยกประเด็นการเพิกถอนวีซ่าเข้าสู่การหารือกับสหรัฐฯ โดยระบุว่า "เหตุผลที่สหรัฐฯ ใช้เพิกถอนวีซ่ายังไม่ชัดเจน และกำลังสร้างความหวาดกลัวในหมู่ชาวอินเดียอย่างกว้างขวาง"
ในขณะเดียวกัน สมาคมทนายความตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ ก็เปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกำลัง "จับตานักศึกษาต่างชาติอย่างเข้มงวด" แม้แต่ผู้ที่ไม่มีประวัติการกระทำผิดใด ๆ ส่วนในภาคแรงงาน H-1B ซึ่งชาวอินเดียถือครองถึง 70% ของวีซ่าประเภทนี้ในปีที่ผ่านมา ก็เริ่มเผชิญกับความไม่แน่นอน ส่งผลให้หลายคนเริ่มตัดสินใจยกเลิกแผนการเดินทางกลับประเทศ
รันธีร์ ไจสวาล โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ระบุว่า อินเดีย “มองการเยือนของรองประธานาธิบดีแวนซ์ในเชิงบวก” และเชื่อว่าจะมีส่วนช่วย “ยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” พร้อมย้ำว่า “ประเด็นสำคัญทุกเรื่องจะถูกหยิบยกขึ้นหารืออย่างครบถ้วน”
แวนซ์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ของประธานาธิบดีทรัมป์มาโดยตลอด โดยเขาเคยออกมาวิจารณ์พันธมิตรยุโรปเกี่ยวกับการใช้งบประมาณด้านกลาโหมต่ำเกินไป และเคยให้สัมภาษณ์ระหว่างเยือนกรีนแลนด์ว่า “สหรัฐฯ จำเป็นต้องครอบครองกรีนแลนด์ ไม่ใช่คำถามว่าจะอยู่ได้หรือไม่หากไม่มีมัน”
การเยือนอินเดียของแวนซ์ยังเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทัลซี แก็บบาร์ด ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เดินทางมานิวเดลีเพื่อผลักดันความร่วมมือในกรอบกลุ่ม Quad ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยมีเป้าหมายเพื่อถ่วงดุลอำนาจจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนก็กำลังเดินหน้าเสริมสร้างอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอบทบาทของจีนในฐานะ “พันธมิตรทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและเชื่อถือได้” ซึ่งถือเป็นภาพลักษณ์ที่ตั้งใจวางตัวให้แตกต่างจากสหรัฐฯ อย่างชัดเจน
ที่มา: Bloomberg, The Guardian