Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ผญ.ครองตำแหน่งสูงในสถาบันการเงินโลกแทบไม่เพิ่ม ทรัมป์พาสหรัฐฯ ถอยหลัง
โดย : ณัฏฐณิชา ภู่คล้าย

ผญ.ครองตำแหน่งสูงในสถาบันการเงินโลกแทบไม่เพิ่ม ทรัมป์พาสหรัฐฯ ถอยหลัง

18 เม.ย. 68
17:09 น.
แชร์

“โอกาสที่พลาดไป: มีผู้นำใหม่ 63 คน แต่มีเพียงเก้าคนเป็นผู้หญิง ทำไมผู้หญิงก้าวขึ้นตำแหน่งสูงมากกว่านี้ไม่ได้?” คือหน้าปกรายงาน  The Gender Balance Index ประจำปี 2024 โดย The London-based Official Monetary and Financial Institute Forum หรือ OMFIF รายงานที่ ชี้ว่าสัดส่วนผู้นำเพศหญิงในสถาบันการเงินขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเพียงแค่ “จุดทศนิยม” เท่านั้นเมื่อปีที่ผ่านมา

สถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ว่าหมายถึง ธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์ทั่วโลก ทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญ และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติในหลายประเทศ นอกจากนี้ สัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งสูงทุกตำแหน่งยังเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 32% ขณะที่ดัชนีชี้ความสมดุลทางเพศในภาพรวมนั้นอยู่ที่ 42% ซึ่งยังน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของคำว่า “สมดุล” 

รายงานฉบับนี้ของ OMFIF ครอบคลุมสถาบันการเงินทั่วโลกกว่า 335 แห่ง ธนาคารกลาง 185 แห่ง และกองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนความมั่นคง ธนาคารพาณิชย์อีกอยางละ 50 แห่ง รวมบุคลากร 6,540 คน


ธนาคารกลาง 

ในสถาบันการเงินทั้ง 335 แห่ง คะแนนความสมดุลทางเพศ (GBI) เพิ่มขึ้นมาแตะ 16% ในปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าส่วนใหญ่อยู่ที่ธนาคารกลาง ซึ่งมีดัชนี GBI เพิ่มจาก 23% เป็น 29% เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่ OMFIF เริ่มจัดทำรายงาน 

ขณะนี้ธนาคารกลางใน 185 ประเทศทั่วโลกมีผู้นำที่เป็นผู้หญิงเพิ่มเป็น 16% เมื่อปีก่อนจาก 14% ในปี 2023 มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งหัวหน้าธนาคารกลางมากถึง 30 คน และมีผู้ว่าการผู้หญิงใหม่ในปีก่อน 9 คน ในจำนวนนี้ 5 คนอยู่ในธนาคารในทวีปยุโรป 

ตัวเลขผู้บริหารหญิงในธนาคารกลางเพิ่มขึ้นช้าๆ แต่สม่ำเสมอ และรายงานชี้ว่า ความก้าวหน้าส่วนใหญ่มาจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างเล็ก มี GDP ต่ำกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าธนาคารกลางจะมีความคืบหน้าเรื่องสมดุลทางเพศหลายประการ ความล่าถอยเองก็ปรากฎเช่นกัน ผู้ว่าการธนาคารกลางที่รับตำแหน่งใหม่ทั่วโลก 39 คนมีเพียง 7 คนที่เป็นผู้หญิง (18%) ซึ่งน้อยกว่าปี 2022 ที่ผู้ว่าการใหม่เป็นผู้หญิง 6 จาก 26 คน (23%) 

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เชิงลึกพบว่า ในกลุ่มสถาบันที่แต่งตั้งผู้อำนวยการใหม่เป็นเพศชาย มี 32 แห่ง (66%) ที่ไม่พบว่า มีรองผู้ว่าการหญิงที่เหมาะสมจะได้รับการพิจารณา เนื่องจากยังมีผู้หญิงจำนวนน้อยที่ขาดคุณสมบัติและประสบการณ์ในสายงานนี้


ธนาคารพาณิชย์

ธนาคารพาณิชย์มีความก้าวหน้าด้านความสมดุลทางเพศไม่ดีเท่าไหร่นัก เริ่มจากดัชนี GBI อยูที่ 38% เท่านั้น มีธนาคารพาณิชย์ 42% ที่มี GBI เพิ่มขึ้นและ 44% ที่มี GBI ลดลง มีธนาคารพาณิชย์ 10% ที่มีคะแนน GBI เป็นเลขตัวเดียว 

สัดส่วน CEO ในธนาคารพาณิชย์ตกลงจาก 16% ในปี 2023 มาที่ 12% ในปี 2024 และสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่ง C-suite ก็ลดจาก 18% ในปี 2023 มาที่ 15% ในปี 2024 นอกจากนี้ในบรรดา 9 ธนาคารพาณิชย์ที่ตั้ง CEO ใหม่ ก็ไม่มีผู้หญิงอยู่เลยเช่นกัน เรียกได้ว่าธนาคารพาณิชย์หาผู้นำผู้หญิงแทบไม่ได้ อีกทั้งธนาคารส่วนใหญ่ยังไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งผู้นำ หากจะมีความก้าวหน้าอยู่บ้างก็มักเกิดในตลาดเกิดใหม่



กองทุนความมั่นคง-กองทุนบำเหน็จบำนาญ

ด้านกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ กองทุนซึ่งบริหารจัดการความมั่งคั่งของประเทศ มีการพัฒนาค่าดัชนีแบบปีต่อปีมากที่สุด คือสูง 38 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของปี 2021 ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากเศรษฐกิจเกิดใหม่  

กองทุนบำเหน็จบำนาญเองก็มีสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งสูงสุด (top rank) เพิ่มขึ้นจาก 24% ในปี 2023 เป็น 28% เมื่อปีก่อน และในตำแหน่งบริหารภาพรวม 38% เพิ่มขึ้นมา 3% จากปีก่อน นอกจากนี้ คะแนน GBI ก็เพิ่มเช่นกัน 10% ของกองทุนเหล่านี้มีคะแนน GBI เพิ่มมากขึ้น แต่ในภาพรวมกองทุนบำเหน็จบำนาญมีคะแนนลดลงต่ำกว่าเหลือ 34 คะแนนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่เคยได้คะแนนสูงถึง 46 ในปี 2022 


ทำไมต้องมีผู้นำผู้หญิงในภาคการเงิน?

ผู้นำหญิงหมายถึงสมดุลทางเพศในองค์กรที่มากขึ้น รายงานอ้างอิงข้อมูล 4 ปีที่ผ่านมาชี้ว่า ธนาคารพาณิชย์ 6 จาก 8 แห่งที่มีผู้นำผู้หญิงมีคะแนน GBI เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น Banco do Brasil ในประเทศบราซิล เมื่อปี 2023 มีคะแนน GBI เพิ่มขึ้น 2 เท่าหรือ 63 คะแนนภายใน 1 ปี หลังแต่งตั้งTarciana Paula Gomes Medeiros ให้เป็น CEO หญิงคนแรกของธนาคาร และเมื่อปีก่อนคะแนนเพิ่มขึ้นมาอีก 21 คะแนนเป็น 84 คะแนน จนกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มี GBI มากที่สุด 

กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้เพราะ Banco do Brasil มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหาร (ExCo) อย่างครอบคลุม โดยสัดส่วนผู้หญิงในคณะกรรมการบริหาร (ไม่รวม Medeiros) เพิ่มขึ้นจาก 12.5% เป็น 38% ภายในหนึ่งปี

ตัวอย่างนี้ปรากฏให้เห็นได้ในกลุ่มธาคารที่มี CEO หญิงดำรงตำแหน่ง โดย GBI เฉลี่ยของธนาคารเหล่านี้เพิมขึ้น 24 คะแนนนับตั้งแต่ปี 2021 ขณะที่ธนาคารที่มี CEO ชายมีคะแนน GBI เพิ่มเฉลี่ยเพียง คะแนน

ยุโรปอาจแซงอเมริกาเหนือในไม่ช้า

ยุโรปเป็นภูมิภาคเดียวที่มีพัฒนาการของคะแนนความสมดุลทางเพศ โดยเฉพาะยุโรปตะวันออก เพิ่มจาก 28 คะแนนในปี 2021 เป็น 40 คะแนนในปี 2024 แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว หากนำภูมิภาคอื่นๆ มามัดรวมกันก็จะเห็นพัฒนาการอยู่บ้างจาก 25 คะแนนในปี 2023 เป็น 28 คะแนนในปีก่อน 

กลับกัน อเมริกาเหนือแม้ยังเป็นภูมิภาคที่มีคะแนน GBI นำภูมิภาคอื่นของโลก มีคะแนนอยูที่ 44 คะแนน รายงานแสดงความกังวลว่า อาจไม่ได้รักษาตำแหน่งนี้ไปอีกนานนัก ความพยายามในการสร้างสภาพแวดล้อมทางเพศที่หลากหลายต้องเผชิญกับอุปสรรคเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์มีแนวทางขัดขวางความหลากหลาย ออกจากการดำเนินงานของรัฐบาลกลาง และยังผลักดันให้ภาคเอกชนทำตามอีกด้วย

ภายในหนึ่งอาทิตย์แรกที่โดนัลด์ ทรัมป์ก้าวขึ้นตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคม เขาได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารหลายฉบับมุ่งเป้าไปที่โครงการด้านความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม (DEI) ในภาครัฐและเอกชน คำสั่งเหล่านั้นมีจุดประสงค์ขัดขวางการส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกัน 

Forbes ชี้ว่า มีองค์กรเอกชนหลายองค์กรเริ่มถอยห่างจากนโยบายด้านความหลากหลาย  ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม (DEI) เพราะความกดดันที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เช่นเดียวกับภาครัฐ ที่ไม่ใช่แค่เผชิญการลดจำนวนคนในองค์กรรัฐบาลกลาง แต่ในบางภาคส่วนมีการกีดกันผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือการตัดงบสนับสนุนหัวข้อด้าน DEI

รายงานอ้างถึงธนาคารขนาดใหญ่ทั้ง 6 แห่งของสหรัฐฯ Citi, Morgan Stanley, Wells Fargo, Bank of America, Goldman Sachs และ JPMorgan ต่างก็กำลังลดขนาดโปรแกรมด้านความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม (DEI) ลง

“แม้ว่าตอนนี้จะยังเร็วไปที่จะชี้ว่า การลดขนาดโปรแกรมครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อความสมดุลทางเพศ แต่ด้วยความไม่มั่นคงของกระบวนการสร้างบุคลากรในระยะยาว ก็มีแนวโน้มว่าอเมริกาเหนือจะไม่ได้เป็นภูมิภาคที่คะแนน [ความสมดุลทางเพศ] สูงสุดต่อไปในอนาคต” รายงานกล่าว

สร้างความสมดุลทางเพศอย่างยั่งยืน?

ไม่ใช่แค่นโยบายไม่ให้ค่าควาเท่าเทียมทางเพศของสหรัฐฯ เท่านั้นที่ส่งผลต่อสมดุลทางเพศในโลกการเงินและการธนาคาร  แต่วิกฤตอื่นๆ อย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโวิด-19 สงครามและความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ ก็เป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งสังคมไม่ให้ไปถึงความสมดุลทางเพศในภาคต่างๆ รวมถึงการเงิน

นั่นก็เพราะการเพิ่มสัดส่วนและมอบโอกาสให้ผู้หญิงในที่ทำงานต้องอาศัยความพยายามร่วมกันจากหลายฝ่ายในการขจัดอคติทางเพศ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และมอบโกาสสร้างผู้หญิงที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยเฉพาะในสังคมที่ความไม่เท่าเทียมทางเพศเข้มข้น และแน่นอนว่าผู้ชายเป็นฝ่ายได้ทรัพยากรก่อน กระบวนการเหล่านี้อาจทำได้ยากในสถานการณ์วิกฤต เพราะรัฐบาลและสังคมอาจต้องทุ่มเททรัพยากรแก้ปัญหาเห่านั้นก่อน และหลายครั้งที่เกิดวิกฤตต่างๆ จะส่งผลร้ายต่ผู้หญิงและกลุ่มเปราะบางมากที่สุด

รายงานจาก OMFIF ชี้ว่า การจะสร้างสมดุลทางเพศที่สำคัญวิธีหนึ่งคือ “การลงทุนโดยคำนึงถึงมุมมองทางเพศ” (Gender Lens Investing - GLI) ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของหลักการที่ถูกต้อง แต่ยังถือเป็นกลยุทธ์เพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจทั่วโลก ตัวอย่างการลงทุนโยคำนึงถึงมุมมองทางเพศคือ

  • Private equity: ลงทุนในธุรกิจที่นำโดยผู้หญิงหรือส่งเสริมผู้หญิงโดยตรง
  • พันธบัตรภาครัฐ/องค์กร (public debt): สนับสนุนโครงการของรัฐที่ส่งเสริมความเท่าเทียม เช่น การศึกษา สุขภาพ และโอกาสทางเศรษฐกิจ
  • อสังหาริมทรัพย์: สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้สำหรับผู้หญิง
  • โครงสร้างพื้นฐาน: ส่งเสริมการเข้าถึงของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียม

นอกจากลงทุนโดยคำนึงถึงมุมมองทางเพศ เรายังควรมีระบบชี้วัดที่เป็นมาตรฐานและข้อมูลที่แยกตามเพศ เพื่อให้ไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า “impact washing” หรือการกล่าวอ้างผลกระทบทางสังคมที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงอีกด้วย


แชร์
ผญ.ครองตำแหน่งสูงในสถาบันการเงินโลกแทบไม่เพิ่ม ทรัมป์พาสหรัฐฯ ถอยหลัง