ณ โกดังสินค้าแห่งหนึ่งในชานเมืองแอตแลนตา หุ่นยนต์ humanoid ที่ชื่อ "Digit" กำลังยกกล่องพลาสติกเพื่อวางบนสายพานลำเลียงอย่างเป็นระบบ ช่วยลดภาระการทำงานซ้ำซากและจำเจของเพื่อนร่วมงานมนุษย์
ในขณะเดียวกัน ณ บ้านหลังหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย หุ่นยนต์ที่ชื่อ "NEO" ก็กำลังหัดชงกาแฟและตอกไข่ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งานจริงในครัวเรือน
ห่างออกไปไม่ไกลในแคลิฟอเนีย ที่งาน GTC 2025 Jim Fan นักวิจัยด้านหุ่นยนต์ชื่อดังจาก NVIDIA ได้เสนอแนวคิดที่ว่า "อีกไม่นาน เราอาจได้เห็นหุ่นยนต์ทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แทนมนุษย์ก็เป็นได้"
เรากำลังอยู่ในยุคปฏิวัติหุ่นยนต์ครั้งใหม่ที่หุ่นยนต์ทรงมนุษย์หรือ humanoid robot อาจไม่ใช่เพียงตัวละครในนิยายไซไฟแต่กำลังจะกลายมาเป็นผู้ช่วย คนดูแล และแรงงานที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมตั้งแต่โลจิสติกส์ไปจนถึงการดูแลผู้สูงอายุ
ประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนมากกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว จากสถิติล่าสุดชี้ให้เห็นว่าในสหรัฐฯ มีเบบี้บูมเมอร์เกษียณถึงวันละ 10,000 คน
ภายในปี 2030 ประชากรโลกหนึ่งในหกจะมีอายุเกิน 60 ปี และจะเพิ่มเป็นสองเท่าในปี 2050
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเช่นนี้กำลังสร้างช่องว่างแรงงานอย่างมหาศาลโดยเฉพาะในงานที่เรียกว่า "3D jobs" ซึ่งหมายถึง งานที่น่าเบื่อ (Dull) งานที่สกปรก (Dirty) และงานอันตราย (Dangerous)
หุ่นยนต์ humanoid จึงเป็นหนึ่งในคำตอบที่อาจเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ เนื่องจากมันสามารถทำงานได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่ออกแบบมาสำหรับมนุษย์โดยที่เราไม่จำเป็นต้องทำการดัดแปลงรูปทรงหรือรูปร่างสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประตู บันได ปุ่มควบคุม หรือเครื่องมือที่ออกแบบสำหรับมือมนุษย์ ซึ่งแตกต่างจากหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่ต้องการพื้นที่เฉพาะและทำงานได้เพียงบางอย่างเท่านั้น
Digit จาก Agility Robotics ได้เริ่มปฏิบัติงานจริงที่คลังสินค้าของ GXO Logistics ในรัฐจอร์เจีย ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนในหนังไซไฟ แต่เจ้า Digit ก็สามารถทำงานจำเจและซ้ำซากอย่างการย้ายกล่องพลาสติกได้อย่างดีเยี่ยม สิ่งหนึ่งที่แรงงานต้องตระหนักคือนี่ไม่ใช่การเข้ามาแย่งงานมนุษย์แต่เป็นการเข้ามาทำงานที่น่าเบื่อที่คนไม่อยากทำและมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมาเป็นเวลานาน
ทางฝั่งยุโรปบริษัท 1X Technologies จากนอร์เวย์ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ชื่อ NEO ซึ่งออกแบบมาเพื่อทำงานบ้านและดูแลผู้สูงอายุ โดย NEO ถูกสอนให้สามารถใช้เครื่องใช้ในบ้านและช่วยเหลือกิจวัตรพื้นฐานของผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในศูนย์ดูแลผู้สูงวัย ซึ่งปัจจุบัน NEO กำลังถูกทดสอบในบ้านจริง
ในขณะเดียวกัน Boston Dynamics ก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยหุ่นยนต์ Atlas ถูกออกแบบและสอนให้เน้นความคล่องแคล่วและทนทาน เหมาะสมกับการใช้งานในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เช่น ไซต์ก่อสร้าง หรือพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ ซึ่งถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่พร้อมวางจำหน่าย แต่ความสามารถของเจ้า Atlas ก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของหุ่นยนต์ที่จะทำงานเคียงข้างมนุษย์ในสภาวะแวดล้อมที่ท้าทายได้
หุ่นยนต์ humanoid ที่มีเพียงร่างกายที่แข็งแรงนั้นยังไม่เพียงพอแต่จะต้องมี "สมอง" ที่มีประสิทธิภาพด้วย
ปัจจุบัน Jim Fan จาก NVIDIA กำลังผลักดันโครงการ "Project Groot" ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะสร้างโมเดลพื้นฐาน (foundation model) ที่จะมีการเรียนรู้การควบคุมร่างกายของหุ่นยนต์ผ่านการเรียนรู้ทั้งจากโลกจริง (real world data) การฝึกฝนในโลกจำลอง (simulation data) และข้อมูลภาพ-ภาษาจากอินเทอร์เน็ต (large scale internet data) หรือที่เรียกว่า data pyramid นั่นเอง
Fan เชื่อว่าในอนาคต หุ่นยนต์จะสามารถเรียนรู้ได้เอง สามารถทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นผู้ช่วยนักวิจัยและอาจถึงขั้นออกแบบหุ่นยนต์รุ่นใหม่ได้ด้วยตัวเอง แนวคิดที่อาจฟังทะเยอทะยานแต่ก็ดูมีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่ทำให้ความฝันเรื่องหุ่นยนต์ humanoid เริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริงคือการพัฒนาที่เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายด้านไม่ว่าจะเป็น
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการใช้งานหุ่นยนต์ humanoid จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย Goldman Sachs ได้ประเมินไว้ว่าภายในปี 2030 เราอาจได้เห็นหุ่นยนต์เหล่านี้ในโรงงานนับแสนตัว และอาจขยายไปสู่บ้านและพื้นที่สาธารณะในไม่ช้า โดยหุ่นยนต์จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การยกของหนักในคลังสินค้า หรือดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล
ในระยะยาว หุ่นยนต์ humanoid จะไม่เพียงบรรเทาปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน แต่ยังจะช่วยยกระดับความปลอดภัย และเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ทุ่มเทใช้เวลากับงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความเห็นอกเห็นใจ และทักษะระดับสูง
เมื่อ AI พัฒนาไปถึงจุดที่หุ่นยนต์สามารถคิด ทดลอง และสร้างนวัตกรรมได้ด้วนตัวเอง วันหนึ่งเราจะมีผู้ช่วยคนใหม่ที่เปลี่ยนโฉมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรไปตลอดกาล