หลังจากเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ปี 2563 ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินทั่วโลก “การบินไทย” ก็ได้ใช้เวลากว่า 4 ปีในการพลิกฟื้นองค์กร ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ และเดินหน้าอย่างมีวินัยตามแผนฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลาง
วันนี้ “การบินไทย” กำลังจะก้าวสู่หมุดหมายใหม่อีกครั้ง เมื่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 มีมติแต่งตั้งบอร์ดบริหารชุดใหม่ครบ 11 คน ถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญก่อนยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน หุ้น “THAI” จะกลับมาเทรดในกระดานตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายใน เดือนกรกฎาคม 2568
สำหรับบอร์ดบริหารชุดใหม่ของการบินไทยประกอบด้วย 3 คนเดิม ได้แก่
และมีกรรมการใหม่ที่เข้ามาใหม่เพิ่มเติมอีก 8 คน ได้แก่
บอร์ดชุดใหม่นี้ได้รับการกลั่นกรองจากคณะผู้บริหารแผนฯ และคณะกรรมการสรรหา มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่สอดคล้องกับความท้าทายใหม่ขององค์กร
เมื่อมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการอย่างเป็นทางการ การบินไทยจะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอ “ยกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการ” หากศาลอนุมัติ การบินไทยก็จะเริ่มกระบวนการนำหุ้นกลับเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยตั้งเป้าให้ทันภายใน เดือนกรกฎาคม 2568
ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการปลดล็อกภารกิจฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้การบินไทยพร้อมกลับเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพของตลาดทุนไทยอีกครั้ง พร้อมต่อยอดการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ในฐานะสายการบินที่คนไทยภาคภูมิใจ”
“โดยตลอดช่วงเวลาของการฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ อย่างเคร่งครัด ทั้งการมีวินัยในการชำระหนี้โดยไม่ผิดกำหนดนัดชำระ มุ่งมั่นสร้างผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเพื่อให้ EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบินตามงบเฉพาะกิจการมากกว่า 20,000 ล้านบาทตามเงื่อนไขตามแผนฟื้นฟูฯ โดยในปี 2567 ที่ผ่านมาบริษัทฯ มี EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบินอยู่ที่ 41,473 ล้านบาท ตลอดจนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกโดยการปรับโครงสร้างทุนผ่านการแปลงหนี้เป็นทุนและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ สิ้นปี 2567 เป็นบวกที่ 45,495 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือว่าบรรลุทุกเงื่อนไขที่กำหนดในการยื่นคำร้องขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ”
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่าการบินไทยพร้อมปรับตัวให้ทันกับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม เทคโนโลยี หรือพฤติกรรมของผู้โดยสาร โดยเรามีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการจัดหาฝูงบินใหม่ เพื่อขยายกำลังการผลิตในการสร้างการเติบโตและความสามารถในการจ่ายหนี้ตามกำหนดในแผนฟื้นฟูฯ และดำเนินการแบบสายการบินเครือข่าย (Network Airline) เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ในเส้นทางภูมิภาค (Regional Route) มากขึ้น พร้อมเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจอื่น ๆ ทั้งการขนส่งสินค้า ครัวการบิน และการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)
“เมื่อการบินไทยได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการตามที่ได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งอนุมัติการแต่งตั้งกรรมการบริษัทในครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว จะถือว่าการบินไทยได้บรรลุเป้าหมายสำคัญในการดำเนินการตามเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูฯ ได้ครบถ้วน พร้อมเดินหน้ายกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้น ‘THAI’ กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ภายในเดือนกรกฎาคมของปีนี้ ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการฟื้นคืนสถานะทางการเงินเท่านั้น หากยังเป็นการประกาศจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ขององค์กรที่แข็งแกร่ง และพร้อมแข่งขันในระดับสากล โดยที่เรายังคงมุ่งมั่นพัฒนา ยกระดับขีดความสามารถการดำเนินงานในทุกมิติ ดำเนินงานอย่างโปร่งใส ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน” นายชาย เอี่ยมศิริ กล่าวเสริม
แม้จะยังอยู่ในแผนฟื้นฟู แต่ผลการดำเนินงานของการบินไทยในช่วงสองปีที่ผ่านมาถือว่าปรับตัวดีขึ้น
แม้จะมีผลขาดทุนทางบัญชี 26,901 ล้านบาทในปี 2567 (จากการแปลงหนี้เป็นทุน) แต่เป็นเพียงรายการบัญชีที่เกิดขึ้นครั้งเดียว และไม่ได้ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจจริง จึงไม่ใช่อุปสรรคในการพ้นจากแผนฟื้นฟู
ปัจจุบัน การบินไทยและบริษัทย่อยมีฝูงบินรวม 79 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง 59 ลำ และลำตัวแคบ 20 ลำ โดยใน ตารางบินฤดูหนาวปี 2568 บริษัทจะทำการบินไปยัง 64 จุดบิน รวม 883 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 40 เที่ยวบิน)
ในอนาคต บริษัทเตรียมขยายฝูงบินเพิ่มเติม พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์สายการบินแบบ Network Airline เพื่อเจาะตลาดเส้นทางภูมิภาค รวมถึงต่อยอดธุรกิจอื่น ๆ อย่างครัวการบิน, ขนส่งสินค้า และศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO)
แม้จะผ่านมรสุมธุรกิจมานาน แต่ “การบินไทย” กำลังแสดงให้เห็นว่าบทใหม่ของสายการบินแห่งชาติ กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว และการกลับเข้าเทรดในตลาดหุ้นครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์ของการฟื้นตัวทางการเงิน แต่คือ “การกลับมาทวงศักดิ์ศรี” ในฐานะสายการบินของคนไทยอีกครั้ง
ที่มา : SET , การบินไทย