ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดศึกโจมตีเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อย่างเปิดเผยอีกครั้ง โดยกล่าวหาว่าเขากำลัง “เล่นการเมือง” เพราะไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งยังประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่า “การปลดพาวเวลล์ควรเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด” และยืนยันว่าเขามีอำนาจ “สั่งให้พาวเวลล์ออกได้ทันที”
เบื้องหลังคำกล่าวนั้นคือความไม่พอใจที่สะสมมาจากท่าทีของเฟดในช่วงหลัง ซึ่งยังคงรักษาดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง แม้เศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวจากแรงกดดันของนโยบายภาษีชุดใหญ่ที่ทรัมป์ผลักดันเอง โดยขณะที่ทรัมป์ต้องการเห็นเฟดลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พาวเวลล์กลับย้ำชัดว่ายังไม่ถึงเวลานั้น
พาวเวลล์กล่าวในสุนทรพจน์ล่าสุดที่สโมสรเศรษฐกิจแห่งชิคาโกว่า เฟดมีภารกิจหลักในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา และจำเป็นต้อง “รอดูความชัดเจน” ก่อนจะปรับทิศทางนโยบาย พร้อมเตือนว่า หากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเพราะภาษี เฟดอาจไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้เลยในระยะใกล้
คำตอบของพาวเวลล์จึงไม่เพียงสวนทางกับวาระเศรษฐกิจของทรัมป์ แต่ยังสะท้อนถึงการรักษาความเป็นอิสระของธนาคารกลางท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น และนั่นทำให้ทรัมป์หันมาใช้ถ้อยคำที่รุนแรงขึ้น พร้อมส่งสัญญาณว่าเขาอาจพยายามถอดถอนพาวเวลล์ออกจากตำแหน่ง
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ทรัมป์ปลดพาวเวลล์ได้จริงหรือ?
ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้ Federal Reserve Act ปี 1913 โดยมีกลไกการทำงานที่ออกแบบมาให้แยกจากฝ่ายบริหาร เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างเป็นอิสระจากแรงกดดันทางการเมือง
คณะกรรมการผู้ว่าการเฟดประกอบด้วย 7 คน ซึ่งแต่ละคนมีวาระการดำรงตำแหน่ง 14 ปี โดยได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี และต้องผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ส่วนตำแหน่ง “ประธานเฟด” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ว่าการ 7 คน จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และสามารถได้รับการแต่งตั้งซ้ำได้
ในกรณีของ เจอโรม พาวเวลล์ เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานเฟดครั้งแรกโดยโดนัลด์ ทรัมป์ในปี 2018 และได้รับการแต่งตั้งอีกครั้งโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนในปี 2022 ทำให้วาระปัจจุบันของเขาจะสิ้นสุดในเดือน พฤษภาคม 2026
นอกจากนี้ พาวเวลล์ยังเป็นหนึ่งในผู้ว่าการเฟด ทำให้ต่อให้เขาถูกปลดจากตำแหน่งประธาน เขายังคงมีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการได้จนกว่าวาระ 14 ปีของเขาจะหมดลง
แม้ประธานาธิบดีจะมีอำนาจในการแต่งตั้งประธานเฟด แต่ประธานาธิบดีไม่มีสิทธิ์ปลดประธานเฟดออกจากตำแหน่งโดยอำเภอใจ เว้นแต่จะสามารถแสดง “เหตุอันควร” หรือ for cause ซึ่งเป็นคำสำคัญในกฎหมาย Federal Reserve Act
อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ไม่ได้ให้คำนิยามของ “เหตุอันควร” ไว้อย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติ ศาลตีความว่าต้องเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายร้ายแรง เช่น การทุจริต การฝ่าฝืนหน้าที่ หรือการละเมิดจริยธรรมร้ายแรง ไม่ใช่ความเห็นต่างทางนโยบาย หรือการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายบริหาร
ที่ผ่านมา คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดี Humphrey’s Executor v. United States (1935) คือเสาหลักที่ใช้ตีความอำนาจในการถอดถอนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอิสระ โดยในคดีดังกล่าว ศาลได้ตัดสินขัดขวางไม่ให้ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ปลดกรรมาธิการจากคณะกรรมาธิการการค้าแห่งชาติ (FTC) โดยไม่มีเหตุอันควร
ในคดีดังกล่าว ศาลวินิจฉัยว่า หน่วยงานอิสระต้องมีความคงทนต่อแรงกดดันจากฝ่ายบริหาร เพื่อรักษาสมดุลอำนาจและป้องกันการใช้ตำแหน่งทางการเมืองกดดันหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล
ดังนั้น คำพิพากษานี้จึงถูกนำมาใช้เป็นหลักปกป้องเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ รวมถึงธนาคารกลาง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมประธานาธิบดีจึงไม่สามารถถอดถอนประธานเฟดได้โดยอ้างเหตุผลทางการเมือง
นี่ทำให้ในกรณีของทรัมป์ คำกล่าวหาต่อพาวเวลล์ที่มุ่งเน้นที่ความไม่พอใจในแนวทางการเงิน เช่น การไม่ลดอัตราดอกเบี้ย หรือการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายภาษีของรัฐบาล จึงไม่ใช่เหตุผลที่เข้าข่าย “เหตุอันควร” ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ศาลฎีกาสหรัฐฯ กำลังพิจารณาคดีอุทธรณ์ฉุกเฉินที่อาจปฏิวัติโครงสร้างอำนาจของรัฐบาลกลาง และกลายเป็นช่องทางให้โดนัลด์ ทรัมป์มีอำนาจทางกฎหมายในการปลดเจอโรม พาวเวลล์ จากตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องอ้างเหตุผลด้านความผิดหรือความไร้ความสามารถ
คดีนี้เริ่มต้นจากการที่ทรัมป์ปลดเจ้าหน้าที่ในสองหน่วยงานอิสระ คือ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ (NLRB) และคณะกรรมการคุ้มครองระบบคุณธรรม (MSPB) ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ถูกปลดได้ฟ้องกลับ โดยอ้างว่าการกระทำนั้นขัดต่อหลักการในคำพิพากษาคดี Humphrey’s Executor v. US ปี 1935 ที่จำกัดอำนาจของประธานาธิบดีในการปลดเจ้าหน้าที่หน่วยงานอิสระ
ฝ่ายกฎหมายของทรัมป์โต้แย้งว่า หลักการดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ และเสนอให้ศาลเปิดทางให้ประธานาธิบดีสามารถปลดเจ้าหน้าที่ที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของฝ่ายบริหารได้อย่างอิสระ
ทำให้หากศาลฎีกาตัดสินเห็นชอบกับแนวทางของทรัมป์ แนวคำพิพากษาเดิมของคดี Humphrey’s Executor v. US จะถูกล้มล้าง และอำนาจของประธานาธิบดีจะขยายครอบคลุมถึงหน่วยงานอิสระทุกแห่ง รวมถึงธนาคารกลาง
แม้รัฐบาลทรัมป์พยายามยืนยันว่าเฟด “ไม่เกี่ยวข้อง” กับคดีนี้โดยตรง และมีสถานะพิเศษตามประวัติศาสตร์ที่ต่างจากหน่วยงานอื่น แต่หากศาลฎีกาพลิกคำวินิจฉัย Humphrey’s ออกไป ความเป็นอิสระของเฟดก็จะไม่มีหลักคุ้มครองอีกต่อไป และทรัมป์จะสามารถใช้อำนาจฝ่ายบริหารปลดพาวเวลล์ได้ทันที
นอกจากนี้ ผู้พิพากษาศาลฎีกาแนวอนุรักษนิยมหลายคน เช่น คลาเรนซ์ โธมัส และนีล กอร์ซัช ยังได้แสดงจุดยืนเรียกร้องให้ล้มเลิกหลักการ Humphrey’s โดยมองว่าเป็นอุปสรรคต่อรัฐธรรมนูญ หากเสียงข้างมากของศาลเห็นชอบด้วย การตัดสินครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การควบคุมธนาคารกลางโดยฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ มาก่อน
แม้ในปี 2020 ศาลฎีกาจะตัดสินให้ประธานาธิบดีสามารถถอดถอนผู้อำนวยการ CFPB ได้ แต่ในคำวินิจฉัยนั้น ศาลได้ระบุว่า “CFPB แตกต่างจากธนาคารกลางโดยสิ้นเชิง” เนื่องจากลักษณะของเฟดมีความพิเศษในแง่โครงสร้างและภารกิจ
เฟดเป็นหน่วยงานเดียวที่มีอำนาจควบคุมนโยบายการเงินทั้งระบบ และได้รับทุนสนับสนุนจากกิจกรรมของตนเอง (เช่น ค่าธรรมเนียมจากธนาคาร) แทนที่จะรับงบประมาณจากสภาคองเกรส ทำให้มีความเป็นอิสระในเชิงโครงสร้างและการเงิน
นอกจากนี้ ผู้พิพากษาหลายคนเคยแสดงความเห็นว่า เฟดควรได้รับการปกป้องพิเศษ เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก และไม่ควรตกอยู่ภายใต้แรงจูงใจทางการเมืองแบบฉับพลัน
ในทางปฏิบัติ หากทรัมป์ออกคำสั่งปลดพาวเวลล์โดยไม่มี “เหตุอันควร” พาวเวลล์สามารถยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อท้าทายคำสั่งดังกล่าวได้ ซึ่งจะนำไปสู่การต่อสู้ทางกฎหมายที่ยืดเยื้อ โดยระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณา พาวเวลล์ยังสามารถดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการเฟดได้ และยังมีอำนาจลงมติในที่ประชุม FOMC ซึ่งดูแลการกำหนดอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนนี้อาจสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงิน โดยเฉพาะเมื่อความน่าเชื่อถือของเฟดในฐานะองค์กรอิสระถูกสั่นคลอนจากแรงกดดันทางการเมืองโดยตรง เพราะการปลดประธานเฟดด้วยเหตุผลทางการเมืองไม่เพียงเป็นประเด็นทางกฎหมาย แต่ยังเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดการเงินโลก
นักวิเคราะห์จาก Evercore ISI เตือนว่า หากเฟดสูญเสียความเป็นอิสระ อาจนำไปสู่ ภาวะ stagflation ที่ทั้งเงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมกัน ขณะที่ IMF ก็เตือนว่า การแทรกแซงนโยบายการเงินจะทำให้เครื่องมือควบคุมเศรษฐกิจของรัฐไร้ประสิทธิภาพ และลดความน่าเชื่อถือในระยะยาว
ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Kalshi ระบุว่า ความน่าจะเป็นที่พาวเวลล์จะพ้นตำแหน่งก่อนสิ้นปีเพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 25% ภายในเดือนเดียว สะท้อนว่าตลาดเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงนี้อย่างจริงจัง
คำตอบในปัจจุบันคือ ไม่สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามี “เหตุอันควร” ซึ่งในกรณีนี้ยังไม่มีหลักฐานหรือพฤติกรรมของพาวเวลล์ที่เข้าข่ายนั้น
การปลดพาวเวลล์โดยไม่มีเหตุผลทางกฎหมายอาจก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาในธนาคารกลาง จุดชนวนความปั่นป่วนในตลาดการเงิน และเปิดศึกทางกฎหมายที่จะกระทบถึงโครงสร้างรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ทั้งระบบ
สุดท้ายแล้ว การต่อสู้ครั้งนี้จะไม่เพียงตัดสินชะตาของเจอโรม พาวเวลล์ แต่จะเป็นบทพิสูจน์ความแข็งแกร่งของหลักการแบ่งแยกอำนาจ และความเป็นอิสระของนโยบายการเงินในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา