พิธีพุทธาภิเษก คืออะไร สำคัญอย่างไร ทำไมคนถึงแห่ไปรอ หลวงปู่ศิลา

6 ส.ค. 67

เปิดความหมาย ขั้นตอน และวัตถุประสงค์ พิธีพุทธาภิเษก มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน ทำไมครั้งนี้ถึงได้มีประชาชนแห่ไปรอ หลวงปู่ศิลา ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ด้วยกระแสปรากฏการณ์การไปรอข้ามวันข้ามคืน หลังมีการจัด พิธีพุทธาภิเษก เหรียญรุ่นยอดเศรษฐี หลวงปู่ศิลา สิริจันโท แล้วประชาชนหลั่งไหลมาต่อคิวเข้าแถว เพื่อรอรับวัตถุมงคลตะกรุด จำนวน 5,000 ชิ้น ณ วัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

ต้องบอกก่อนด้วยความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ หลวงปู่ศิลา ทำให้มีคนแห่จองวัตถุมงคลไปตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้วอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันยังคงมีคนตามหาไว้เพื่อครอบครองอย่างต่อเนื่อง เชื่อกันว่าหลังจากที่มีพิธีพุทธาภิเษก และได้เปิดให้เช่าบูชาแล้ว ราคาในการจับจองจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน

pic6

พิธีพุทธาภิเษก คืออะไร ?
พิธีพุทธาภิเษก ตามความหมายพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน และพจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสตร์ ชุด คำวัด ได้ให้ความหมายไว้ว่า "พิธีพุทธาภิเษก คือ พิธีการในการปลุกเสกพระพุทธรูป หรือวัตถุมงคล โดยมี คณะปรก หรือพระเถระผู้เชี่ยวชาญในการทำสมาธิจำนวนหนึ่ง นั่งภาวนาส่งกระแสจิต เพ่งคุณพระรัตนตรัยเข้าไปสู่องค์พระ หรือวัตถุมงคลนั้น ๆ"

ซึ่งพิธีพุทธาภิเษก ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการปลุกเสกเฉพาะพระพุทธรูปอย่างเดีบง แต่ครอบคลุมไปยังวัตถุมงคลอื่นด้วย โดยเรียกว่าพิธีพุทธาภิเษกเหมือนกันหมด และมีความเชื่อว่าหากผ่านพิธีพุทธาภิเษก จะเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น สามารถป้องกันภัยอันตรายให้กับผู้ที่ครอบครอง ช่วยให้เกิดความมีชัยได้

ในปัจจุบันมีการแตกย่อยคำเรียกพิธีกรรมขึ้นมาใหม่ และใช้โดยทั่วกัน เช่น พิธีพุทธาภิเษก, พิธีมังคลาภิเษก, พิธีเทวาภิเษก โดยมีวิธีแบ่งแยกชื่อพิธีให้ตรงตามวัตถุมงคลนั้น ๆ สามารถจำแนกได้ดังนี้

  • พิธีพุทธาภิเษก คือ พิธีปลุกเสกพระพุทธรูปจำลอง และรูปจำลองพระเกจิอาจารย์ทั้งหลาย
  • พิธีมังคลาภิเษก คือ พิธีปลุกเสกพระบรมรูปจำลองพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์
  • พิธีเทวาภิเษก คือ พิธีปลุกเสกรูปจำลองเทพเจ้าต่าง ๆ

 

พิธีพุทธาภิเษก สำคัญอย่างไร ?
ในอดีตถือว่าพิธีพุทธาภิเษก เป็นพิธีสำคัญที่ใช้ในการหล่อพระพุทธรูป สมโภชพระพุทธรูป มีการใช้ตั้งแต่พระประธาน พระกริ่ง ไปจนถึงรูปพระคณาจารย์ที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ วัดที่สามารถทำพิธีได้ ถือเป็นวัดที่มีกำลังและมีความพร้อม เนื่องจากมีพิธีกรรมการสวดพระคาถาที่สำคัญ รวมถึงต้องเชิญพราหมณ์ หรือโหรบัณฑิต สำหรับประกอบพิธีกรรมร่วมด้วย นอกจากนี้การประกอบพิธีพุทธาภิเษกที่สมบูรณ์ จำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์สูงมากกว่าพิธีการอื่น

วัตถุประสงค์ของ พิธีพุทธาภิเษก
วัตถุประสงค์ในการจัดพิธีพุทธาภิเษกแตกต่างกันไป ขึ้นกับตามประสงค์ของคณะเกจิอาจารย์ ศิษยานุศิษย์ และเจ้าภาพ แต่ละวัดที่จะมีศรัทธา อาจสร้างขึ้นเพื่อเป็นการสิริมงคล หรือแม้แต่เพื่อรวบรวมจตุปัจจัยในการก่อสร้าง บูรณะพระอาราม วัดวาต่าง ๆ แต่ประโยชน์ที่เกิดแก่พุทธศาสนิกชน คือ ได้มีโอกาสในการบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญจิตตภาวนาร่วมกัน

ขั้นตอนเตรียมการพิธีพุทธาภิเษก

  • จัดสถานที่ประกอบพิธี โต๊ะหมู่บูชา อาสนะสำหรับพระสงฆ์ ที่นั่งสำหรับผู้ร่วมพิธี
  • นิมนต์พระสงฆ์
    • พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ 9 รูป
    • พระสงฆ์สวดพุทธาภิเษก 4 รูป
    • พระเกจิอาจารย์นั่งปรก ตามความศรัทธาของเจ้าภาพ ไม่จำกัด
  • จตุปัจจัยไทยธรรม ถวายพระสงฆ์ตามจำนวนที่นิมนต์
  • อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในพิธี
    • เทียนชัย 1 เล่ม หนัก 80 บาท ไส้ 108 เส้น สูงเท่าความสูงของประธานพิธีหรือเจ้าภาพ
    • เทียนมงคล 1 เล่ม หนัก 10 บาท ไส้มีจำนวนเส้นเกินกว่าอายุประธานฯ หรือเจ้าภาพ สูงเท่าความยาวรอบศีรษะของประธานฯ หรือเจ้าภาพ
    • เทียนพุทธาภิเษก 2 เล่ม หนักเล่มละ 32 บาท ไส้ 56 เส้น สูงประมาณกึ่งหนึ่งของเทียนชัย
    • เทียนนวหรคุณ 9 เล่ม หนักเล่มละ 2 บาท ไส้ 9 เส้น
    • เทียนหน้าพระพุทธาภิเษก 2 เล่ม ขนาดและน้ำหนักเหมือนเทียนนวหรคุณ
    • เทียนโต๊ะหมู่บูชาพระประธาน 2 เล่ม ขนาดพองาม น้ำหนักประมาณเล่มละ 5 บาท
    • ธูปหอม 3 ดอก
    • เทียนหนัก 6 สลึง 28 เล่ม ไส้ 9 เส้น
    • ธูปจีนดอกเล็กสำหรับปักเครื่องสังเวยเท่าจำนวนสิ่งของ
    • เทียนบูชาพระรัตนตรัย 108 เล่ม หนักเล่มละ 2 สลึง
    • ธูป 108 ดอก
    • กำหญ้าคาพรมน้ำมนต์ 1 กำ
    • ใบพลู 7 ใบ สำหรับดับเทียนชัย ใส่พานเตรียมไว้
    • แป้งเจิม 1 ที่
    • เครื่องสังเวย
    • ตู้ใส่เทียนชัย กันลม มิให้เทียนชัยดับ

 

ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีพุทธาภิเษก

พิธีบวงสรวง

  • ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาฤกษ์หน้าโต๊ะสังเวย
  • พราหมณ์บูชาฤกษ์ และอ่านเทวโองการ บวงสรวง
  • ประธานในพิธีจุดธูปบูชาปักที่เครื่องสังเวย ตามจำนวนเครื่องสังเวย

 

พิธีเจริญพระพุทธมนต์

  • ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ณ โต๊ะหมู่บูชา
  • พิธีกรกล่าวนำผู้ร่วมพิธีบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล และรับศีลพร้อมกัน
  • พิธีกร อาราธนาพระปริตร
  • พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์
  • ประธานในพิธีและท่านผู้มีเกียรติ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
  • ประธานในพิธีกรวดน้ำ
  • พระสงฆ์อนุโมทนาให้พร

 

พิธีจุดเทียนชัย

  • นิมนต์พระสงฆ์สวดพุทธาภิเษก 4 รูป และพระเกจิอาจารย์นั่งปรกประจำ ณ อาสนะ
  • ประธานสงฆ์และประธานในพิธีพร้อม ณ สถานที่จัดพิธี
  • ประธานสงฆ์เจิมเทียนชัย เทียนพุทธาภิเษกและเทียนมงคล จากนั้นจุดเทียนชัยเมื่อถึงเวลาฤกษ์
  • พระสงฆ์ 4 รูป สวดคาถาจุดเทียนชัย
  • ประธานในพิธี จุดเทียนมงคล และเทียนนวหรคุณ เมื่อจบบท “นะโม” จะเริ่มบทสรณคมน์
  • จุดธูปอย่างละ 1 เรื่อยไปในระหว่างที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จนครบ 108
  • จุดเทียน ณ ที่สวดพุทธาภิเษก เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ
  • จุดเทียนพุทธาภิเษกทั้ง 2 เล่มข้างเทียนชัย
  • พระสงฆ์ 4 รูป สวดพุทธาภิเษกเรื่อยไป อาจเปลี่ยนกันสวดเป็นสำรับ ๆ ก็ได้จนกว่าเทียนจะหมดเล่ม อาจสวดตลอดคืนหรือตามเวลาที่คณะเจ้าภาพกำหนด
  • พระนั่งปรกนั่งขัดสมาธิบริกรรมภาวนา พร้อมกับพระสงฆ์สวดพุทธาภิเษก

 

พิธีดับเทียนชัย

  • ประธานสงฆ์ดับเทียนชัยโดยใช้ใบพลู 7 ใบที่เตรียมไว้ ประกบไส้หัวเทียนให้ดับ
  • พระสงฆ์สวดคาถาดับเทียนชัย
  • ประธานในพิธีและท่านผู้มีเกียรติ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
  • ประธานในพิธี กรวดน้ำ
  • พระสงฆ์อนุโมทนาให้พร
  • เสร็จพิธี

 

เนื่องจากพิธีพุทธาภิเษก เป็นพิธีกรรมที่ต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก มีเครื่องใช้ในพิธีที่กำหนดไว้อย่างล้นหลาม ในอดีตจึงสงวนพิธีไว้เฉพาะสำหรับการสร้างพระประธาน การสร้างพระประจำเมือง หรือการสร้างวัตถุมงคลที่เป็นพระเถระ ระดับจังหวัด จึงเป็นหนึ่งในพิธีการที่เห็นได้ยากในปัจจุบัน บางพิธีจึงเป็นการย่นย่อพระราชพิธีให้มีความพอดีกับกำหนดการ

 

ที่มา : กองอนุรักษ์ศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก (thaichaplain.com) / เพจโนรา (facebook.com) / ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (m-culture.in.th)

Powered by amarintv

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด