เพจที่พักปลอม มิจฉาชีพสายท่องเที่ยว เช็กให้ชัวร์ก่อนโอนจองเงิน

19 ส.ค. 67

เช็กให้ดีก่อนตกเป็นเหยื่อมิจ เพจที่พักปลอม หลอกเหยื่อสายท่องเที่ยว แอบอ้างเป็นที่พักรับโอนเงินรับจอง สุดท้ายนกทริป เช็กให้มั่นก่อนโอนเงิน!

การหาสถานที่ท่องเที่ยวในโซเชียลมีเดียบางครั้งก็อาจเป็นภัยได้ เพราะในปัจจุบันมิจฉาชีพมีให้เกลื่อน ซึ่งลามมาถึงวงการท่องเที่ยวด้วย จากที่เคยออกข่าวบ่อย ๆ ว่ามี เพจที่พักปลอม ปลอมทุกอย่างที่เหมือนต้นฉบับ จนเกิดการจองซ้อนและหลอกเชิดเงินไป บางครั้งการหลงเชื่อในเพจต่าง ๆ เหล่านั้น โดยไม่ได้มีการตรวจทานอย่างรอบคอบ อาจเป็นต้นเหตุของความเสียหายได้

ใครที่มีแพลนจะจองที่พักอาจต้องระวังตัวให้ดีกว่าเดิม เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพทำงานหนัก เพื่อเข้ามาหลอกลวงโดยเฉพาะ โดยจะทำการหลอกหลวงให้โอนเงินจองที่พัก เพจที่ตั้งมาจะมีการตั้งชื่อให้เหมือนกับของจริง มีการคัดลอกภาพ เนื้อหา โปรโมชันต่าง ๆ รวมถึงมีการบูสต์โพสต์ เพื่อโฆษณาให้เห็นมากกว่าเดิม โดยข้อมูลทั้งหมดจะมาจากเพจจริงที่เป็นต้นฉบับ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเพจ หลังจากนั้นหากมีการโอนเงินเกิดขึ้น อาจจะมีการจองซ้อนกับระบบจริง หรือแม้กระทั่งไปถึงหน้าที่พักแล้ว กลับได้รับคำตอบที่ไม่เป็นที่พอใจ และทริปนั้นเสียเที่ยวก็เป็นได้

 

เช็กลิสต์ว่าเข้าข่าย เพจที่พักปลอม หรือไม่?
Anti-Fake News Center Thailand ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเช็กเพจปลอม โดยเป็นขั้นตอนที่ง่าย เสียเวลานิดเดียวเพื่อความปลอดภัยในทรัพย์สิน โดยได้ระบุดังนี้

  • เช็กชื่อเพจสะกดถูกต้อง : สังเกตชื่อเพจสะกดถูกต้องหรือไม่ เพราะมิจฉาชีพอาจใส่จุดหรืออักขระพิเศษเพื่อเลียนแบบเพจจริง
  • เช็กวันที่เปิดเพจ การเปลี่ยนชื่อเพจ ที่อยู่ผู้จัดการเพจ : ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด
  • เช็กจำนวนผู้ติดตามเพจ ไม่น้อยเกินไป ไม่ปิดการมองเห็น : ตรวจสอบรายละเอียดผู้ติดตาม เช่น เพจปลอมอาจปิดการมองเห็นยอดผู้ติดตาม หรือมีการสร้างยอดผู้ติดตามปลอมไว้ที่รายละเอียดของเพจ ซึ่งคล้ายกับจำนวนผู้ติดตามของจริง
  • เช็กการโพสต์ ความคิดเห็น ยอดไลก์ กดโกรธ หรือรีวิวให้ละเอียดทุกช่องทาง : สังเกตการโพสต์เนื้อหาและโต้ตอบในเพจ รวมถึงการรีวิวที่พักจากผู้พักจริง เช่น มีการกดโกรธในโพสต์ต่าง ๆ ให้สงสัยได้เลยว่าเป็นเพจปลอม
  • เช็กชื่อบัญชีที่โอน โดยต้องตรงกับชื่อที่พักหรือเจ้าของ : ก่อนโอนเงินจอง ให้ดูชื่อบัญชีที่โอนว่าตรงกับชื่อเจ้าของที่พัก หรือเป็นบัญชีชื่อของที่พักนั้นหรือไม่

 

ทั้งนี้ หากตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ สามารถแจ้งไปได้ที่ศูนย์ AOC 1441 เพื่อทำการอายัดบัญชีคนร้าย และดำเนินคดีตามกฎหมายกับมิจฉาชีพ

เพราะมิจฉาชีพมักฉวยโอกาสกับความไม่รู้ รวมถึงโปรโมชันลด แลก แจก แถม ที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้หลงเชื่อ และคิดว่าราคาที่พักเหมาะแก่การยอมจ่าย ซึ่งการคิดเช่นนี้ อาจเป็นต้นเหตุของการเสียทรัพย์ได้ง่าย อย่าลืมตรวจสอบความโปร่งใส หรือการช่องทางการติดต่ออื่นไว้ด้วย และระลึกไว้เสมอว่า ทุกการจองที่พักควรมีการสั่งจ่ายเป็นใบเสร็จเต็มรูปแบบ

 

 

ที่มา : Anti-Fake News Center Thailand (facebook.com)

advertisement

เทรนดี้ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด