ไขข้อข้องใจต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ต่างจากการต่อภาษียังไง

27 ส.ค. 67

เชื่อว่าหลายๆ คนสับสน หรือบางครั้งอาจถึงขั้นเรียกผิดๆ ถูกๆ เกี่ยวกับการต่อภาษีรถยนต์ และการทำ พ.ร.บ. (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535) หรือจะเรียกว่าประกันรถยนต์ภาคบังคับก็ได้ เราจะพาไปทำความรู้จักกันให้มากขึ้นระหว่าง การต่อภาษีรถยนต์ กับการทำพ.ร.บ.

การต่อพ.ร.บ. คืออะไร

ต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ คืออะไร?

สำหรับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตัวย่อ พ.ร.บ. ถือได้ว่าเป็นการทำประกันภัยรถยนต์แบบบังคับ คือรถยนต์ที่ใช้บนท้องถนนต้องทำประกันภัยชนิดนี้ทุกปี อย่าให้ พ.ร.บ. หมดอายุ ซึ่งการต่อพ.ร.บ. สามารถทำได้ยังตัวแทน รวมถึงการต่อ พ.ร.บ. ออนไลน์ ก็สามารถทำได้อย่างง่ายดายในปัจจุบัน

โดย พ.ร.บ. จะคุ้มครองเหตุพื้นฐานในกรณีเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน คุ้มครองทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือคนเดินถนน ส่วนในกรณีที่เกิดเหตุจนถึงแก่ชีวิต ทายาทก็จะยังสามารถได้รับค่าสินไหมทดแทนอีกด้วย แต่ถ้าหากรถยนต์คันใดไม่ได้ทำหรือต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ก็จะถือว่ามีโทษตามกฎหมาย

สำหรับการไม่ต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ หรือใช้รถที่ไม่มีพ.ร.บ. นั้นจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทสำหรับผู้ขับขี่ และโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถ รวมถึงหากรถ ไม่ได้ต่อ พ.ร.บ. ก็จะส่งผลทำให้ไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้และนั่นก็จะทำให้เสียค่าปรับเป็นหลายเด้งเลยทีเดียว

พ.ร.บ. รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง?

คุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้น ได้แก่ ผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ และผู้ที่ได้รับผลกระบทจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องรอผลพิสูจน์ความผิด

  1. ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษา ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท/คน
  2. กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร จะมีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท/คน
  3. กรณีเสียชีวิต ทายาทโดยชอบธรรมจะได้รับค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดพิธีศพ จำนวน 35,000 บาท/คน


คุ้มครองค่าสินไหมทดแทน ซึ่งจะได้รับหลังจากมีการพิสูจน์ว่าผู้ประสบภัยเป็นฝ่ายถูก

  1. ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษา ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 80,000 บาท/คน
  2. กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร จะได้รับค่าทดแทนเฉลี่ย 200,000-500,000 บาท/คน ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่สูญเสีย และเงื่อนไขอื่นที่ข้อกฎหมายได้กำหนดไว้
  3. กรณีเสียชีวิต ทายาทโดยชอบธรรมจะได้รับค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดพิธีศพ จำนวน 500,000 บาท/คน
  4. กรณีรักษาพยาบาลแบบ ผู้ป่วยใน จะได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาท รวมกันสูงสุดไม่เกิน 20 วัน


การต่อภาษีรถยนต์

ต่อภาษีรถยนต์คืออะไร?

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ภาษีรถยนต์ คือเม็ดเงินที่รัฐบาลเก็บ และถือเป็นภาระหน้าที่ของเจ้าของรถยนต์ทุกคันที่จะต้องจ่ายชำระเป็นประจำทุกปี คล้ายๆ กับภาษีในรูปแบบอื่นๆ ที่ตัวเรามีภาระหน้าที่รับผิดชอบในการจ่าย การต่อภาษีรถยนต์ในแต่ละปี จำทำให้ภาครัฐมีรายได้สำหรับใช่จ่ายในการดูแลระบบคมนาคมภาพรวม ไม่ว่าจะใช้ในการปรับปรุง พัฒนา รวมถึงซ่อมแซมถนนทั่วประเทศ เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมแก่การใช้งานตลอดเวลา

บทลงโทษ หากไม่ต่อภาษีรถยนต์

  1. ขาดการต่อภาษีรถยนต์เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ทะเบียนจะยังไม่ถูกยกเลิก ทำให้สามารถต่อภาษีรถยนต์ย้อนหลังได้ตามปกติ แต่จะมีค่าปรับในการต่อภาษีย้อนหลังอัตราเดือนละ 1%
  2. ขาดการต่อภาษีรถยนต์เกิน 3 ปี ทะเบียนจะถูกบังคับยกเลิกการใช้งานโดยอัตโนมัติ และจะต้องทำการจดทะเบียนใหม่เท่านั้น โดยเจ้าของรถมีหน้าที่ต้องนำแผ่นป้ายทะเบียน และเล่มทะเบียนรถไปคืนให้แก่กรมขนส่งทางบก หากไม่นำไปคืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ถึงจะสามารถต่อทะเบียนและต่อภาษีรถยนต์ได้ตามปกติ รวมทั้งเสียค่าปรับย้อนหลัง


ต่อภาษีรถยนต์ได้ที่ไหนบ้าง?

การต่อภาษีรถยนต์ต้องมีการเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น คู่มือจดทะเบียนฉบับจริงหรือสำเนา พ.ร.บ.รถยนต์ และในกรณีที่รถยนต์มีอายุเกิน 7 ปี หรือรถจักรยานยนต์อายุเกิน 5 ปี จะต้องมีใบรับรองการตรวจสภาพรถยื่นเพิ่มเติมอีกด้วย สำหรับช่องทางในการเลือกต่อภาษีรถยนต์ มีดังนี้

  1. สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ
  2. จุดบริการในห้างสรรพสินค้า
  3. ที่ทำการไปรษณีย์
  4. ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร)
  5. เคาน์เตอร์เซอร์วิส
  6. ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์


จะเห็นได้ว่ามีช่องทางให้เลือกในการต่อภาษีรถยนต์หลากหลายช่องทาง เจ้าของรถสามารถเลือกช่องทางที่สะดวก ตามวันเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ ก็ถือเป็นช่องทางที่สะดวก และรวดเร็ว อีกทั้งมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก และประหยัดเวลาได้มากอีกด้วย

ทำไมต้องต่อพ.ร.บ. และภาษี

ทำไมต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ต้องมาพร้อมต่อภาษี

บางคนอาจกำลังสงสัยว่าทำไม พ.ร.บ. รถยนต์ ถึงต้องคู่กับการต่อภาษีรถยนต์เสมอ ถ้าจะมองภาพแบบชัดๆ คือ พ.ร.บ. เปรียบเสมือนใบผ่านทางด่านแรก เหมือนเป็นใบอนุญาตสู่การนำรถไปต่อภาษีได้ในขั้นต่อไป เพื่อให้สามารถใช้งานรถบนถนนได้อย่างถูกกฎหมาย ถ้าเราออกรถยนต์มือหนึ่ง เราจะได้พ.ร.บ. ออกมาเป็นอย่างแรก ในระหว่างดำเนินการจดทะเบียน และได้ป้ายทะเบียนรถต่อมาในภายหลัง รวมถึงการเสียภาษีรถยนต์นั่นเอง

สาเหตุที่ต้องมี พ.ร.บ. เพื่อใช้ต่อภาษีรายปี เพราะการขับขี่บนท้องถนนย่อมมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ จึงเปรียบเสมือนการมีการคุ้มครองให้กับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น คุ้มครองทั้งการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต

เพราะเหตุนี้ พ.ร.บ. รถยนต์จึงเหมือนแพคคู่ที่ต้องมาพร้อมกับการต่อภาษีรถยนต์ เพื่อให้เกิดความคุ้มครอง และช่วยความมั่นคงในการเงินกรณีเกิดเหตุ เป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งผู้คนที่สัญจรในสังคม

การต่อ พ.ร.บ. ออนไลน์ และต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์

ยุคสมัยทำให้สิ่งต่างๆ ง่ายดาย และสะดวกสบายมากขึ้น นอกจากประหยัดเรื่องเวลา ยังทำให้สามารถทำธุรกิจธุรกรรมเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเฉพาะการจะ เช็กข้อมูลต่อพ.ร.บ.ออนไลน์ เพื่อเปรียบเทียบราคาที่คุ้มค่าที่สุด

advertisement

ยานยนต์ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม