วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงน้ำท่วม พร้อมความเสี่ยงต่อโรคที่มากับน้ำ

30 ส.ค. 67

น้ำท่วม 2567 อันตรายที่สร้างความเสียหายต่อสัตว์เลี้ยง ควรเตรียมรับมือด้วย วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงน้ำท่วม พร้อมรู้จักอันตรายจากโรคที่มาพร้อมน้ำ

สถานการณ์น้ำท่วม 2567 คือหนึ่งสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน ทั้งต่อทรัพย์สิน ร่างกาย รวมไปถึงแหล่งสร้างรายได้ นอกจากนี้แล้วบ้านไหนที่มีน้องหมาน้องแมว ก็อาจเกิดการพลัดหลงระหว่างนั้นได้ ดังนั้นแล้วเพื่อการฟื้นฟูทุกอย่างไปพร้อมกัน ทั้งคนและสัตว์ วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงน้ำท่วม จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นไม่แพ้กัน Amarin Online มีข้อมูลเกี่ยวกับ วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงน้ำท่วม พร้อมความเสี่ยงต่อโรคที่มากับน้ำ มากฝาก ซึ่งมีวิธีง่าย ๆ ดังนี้

วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงในช่วงน้ำท่วม

  • ควรพาสัตว์เลี้ยงมาอยู่ในที่ปลอดภัยของบ้าน ในจุดที่น้ำท่วมไม่ถึง ไม่ควรปล่อยทิ้งหรือล่ามโซ่ไว้
  • เลี่ยงการปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่บริเวณใต้ถุนหรือชั้นล่าง
  • เตรียมประวัติส่วนตัวของสัตว์เลี้ยงเผื่อล่วงหน้า เช่น รูปถ่ายกรณีพลัดหลง เอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ ฯลฯ
  • เตรียมชุดยังชีพสำหรับสัตว์เลี้ยง ย้ายอุปกรณ์ ของใช้ และของเล่น เพื่อป้องกันความเสียหาย
  • ไม่พาสัตว์เลี้ยงไปสัมผัสกับสัตว์ตัวอื่นนอกบ้าน
  • เก็บเศษอาหารและอุจจาระของสัตว์เลี้ยงให้ถูกสุขอนามัย และหมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัย
  • ไม่ควรปล่อยให้น้องตากฝนหรือแช่ในน้ำเป็นเวลานาน
  • หาที่พักฉุกเฉินล่วงหน้าไว้หลาย ๆ ที่ หากเกิดการอพยพฉุกเฉิน

นอกจากนี้แล้ว สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจไม่ได้รับการฝึกหรือมีนิสัยที่ชอบเล่นน้ำ ควรที่จะหาเสื้อชูชีพสำหรับสัตว์เลี้งเผื่อไว้ เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย และเมื่อพบเหตุการตายโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นจำนวนมาก ไม่ควรนำมาให้สัตว์กินเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาช่วยดูแล เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อไป

 

วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงในช่วงหลังน้ำท่วม

  • หากฝากสัตว์เลี้ยงไว้กับศูนย์พักพิง ควรรีบไปรับกลับมาโดยเร็วที่สุด
  • หลังน้ำลดคอยให้อาหารอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพราะช่วงก่อนหน้านี้อาจต้องอดหรือทานได้น้อยกว่าปกติ
  • อย่าปล่อยสัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้านทันทีหลังน้ำลด อาจบาดเจ็บจากเศษต่าง ๆ ที่มาจากน้ำท่วม
  • เลี่ยงการพาสัตว์เลี้ยงไปสัมผัสหรือมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์อื่นนอกบ้าน ป้องกันการป่วยจากสัตว์ตัวอื่น
  • หมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัยและของใช้ของสัตว์เลี้ยงให้สะอาด ก่อนให้สัตว์เลี้ยงใช้งาน
  • รีบกำจัดซากสัตว์ตายโดยเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค
  • หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบนำไปรักษาทันที

 

ความเสี่ยงต่อโรคที่มากับน้ำ
โดยส่วนใหญ่แล้ว หากสัตว์เลี้ยงจำเป็นต้องอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วม มักมีปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ที่อาจส่งผลต่อเนื่องมายังปัญหาการขาดแคลนอาหารต่อสัตว์เลี้ยง เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมมีระยะเวลานานเกินไป การขาดแคลนอาหารสัตว์เลี้ยงจะส่งผลในระยะยาว ทำให้สัตว์เกิดความเครียด ภูมิต้านทานต่อโรคลดลง ง่ายต่อการติดเชื้อ อาทิ

  • โรคคอบวมในวัว ควาย : เกิดจากความเครียดของสัตว์ ส่งผลให้ถึงแก่ความตายได้
  • โรคปากและเท้าเปื่อยในวัว ควาย และสัตว์เท้ากีบ : เป็นโรคติดต่อที่ระบาดจากสัตว์ถึงสัตว์ด้วยกันอย่างรวดเร็ว
  • โรคอหิวาต์ โรคนิวคาสเซิล โรคหลอดลมอักเสบ : อาจทำให้ไก่ในเล้าป่วยและติดเชื้อตายอย่างรวดเร็ว

สำหรับหมา แมว หากเจ้าของไม่ได้เอาไปฝากที่ศูนย์พักพิง จังหวะที่เผลอหรือไม่ทันระวัง สัตว์เลี้ยงอาจหนีหายไปเล่นน้ำฝน จนเกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงจนตายได้ อีกทั้งการปล่อยให้คลาดสายตา สัตว์เลี้ยงอาจติดเชื้อโรคฉี่หนู ที่สามารถแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนได้ นอกจากนี้ หากบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นผู้เลี้ยงศุกร ต้องระมัดระวังโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ที่อาจไม่แสดงออกซึ่งอาการ แต่ในอนาคตหากมีการขายต่อหรือแปรรูปเป็นเมนูอาหาร อาจทำให้เกิดการติดเชื้อโรคหูดับ ที่มาจากการทานอาหารที่ประกอบจากเนื้อหมูได้

 

ที่มา : กรมปศุสัตว์ (dld.go.th) / กรมควบคุมโรค (dcd.ddc.moph.go.th) / สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (warning.acfs.go.th)

advertisement

เทรนดี้ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด