แค่สูบบุหรี่ เท่ากับเสี่ยงโรคซึมเศร้า

18 ก.ย. 67

งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าการสูบบุหรี่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าและภาวะทางจิตอื่น ๆ ได้เช่นกัน

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการสูบบุหรี่ช่วยลดความเครียดและทำให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว นิโคตินในบุหรี่กลับส่งผลกระทบต่อสมองและร่างกายในทางลบ นอกจากนี้ ในทางจิตเวช อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าได้

นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพกาย ไม่ว่าจะเป็นโรคปอด โรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังรวมถึงสุขภาพจิตอีกด้วย ซึ่งงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าการสูบบุหรี่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าและภาวะทางจิตอื่น ๆ ได้เช่นกัน

จากการศึกษาหนึ่งพบว่า คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าสูงขึ้นถึง 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบ และมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2.5-4.3 เท่า โดยอัตราการฆ่าตัวตายจะสูงขึ้นตามจำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน ความสัมพันธ์นี้อาจเกิดจากหลายปัจจัย รวมถึงผลกระทบทางเคมีในสมองที่เกิดจากนิโคติน เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อสมองโดยตรง ทำให้เกิดการกระตุ้นระบบการให้รางวัลสมอง ผู้สูบบุหรี่จึงรู้สึกผ่อนคลายหรือมีความสุขในช่วงสั้น ๆ แต่เมื่อระดับนิโคตินลดลง ผู้สูบจะรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือหดหู่ ทำให้ต้องการสูบบุหรี่มากขึ้นเพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้ โดยวงจรนี้สามารถนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าในระยะยาว

อาการของภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากการสูบบุหรี่

• รู้สึกเศร้า หมองหม่น เบื่อหน่าย
• ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ
• นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป
• เบื่ออาหาร หรือทานมากผิดปกติ
• เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
• รู้สึกผิด หรือไร้ค่า
• มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย

24_09_03cigar-01_0

การเลิกสูบบุหรี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการฟื้นฟูสุขภาพ ไม่เพียงแต่จะลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งและโรคหัวใจ แต่ยังมีผลดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาวด้วย อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจพบกับความยากลำบากในการพยายามเลิกสูบบุหรี่ และอาจประสบกับความเครียด วิตกกังวล ในช่วงที่ไม่ได้สูบ ซึ่งวิธีหนึ่งในการช่วยให้สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้น ก็คือใช้ยา ซึ่งสามารถช่วยลดความอยากบุหรี่ รวมถึงลดความเครียด และวิตกกังวล ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เลิกสูบบุหรี่ได้

นอกเหนือจากการใช้ยา การบำบัดทางจิตวิทยา ก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ที่ต้องการจะเลิกสูบบุหรี่สามารถจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการเลิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเลิกสูบบุหรี่เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยให้สุขภาพกาย สุขภาพจิต ดีขึ้น และลดความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าได้อย่างมีนัยสำคัญ การขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และการสนับสนุนจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูบบุหรี่สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากและกลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้น

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด