Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
รับมืออย่างไรเมื่อคนใกล้ตัวป่วย "โรคซึมเศร้า" ฮีลใจเขา ใจเราก็ต้องไม่ละเลย

รับมืออย่างไรเมื่อคนใกล้ตัวป่วย "โรคซึมเศร้า" ฮีลใจเขา ใจเราก็ต้องไม่ละเลย

21 ส.ค. 67
11:04 น.
|
709
แชร์

คำแนะนำหมอ วิธีดูแลผู้ใกล้ชิดป่วยเป็น "โรคซึมเศร้า" หัวใจสำคัญคือ การเปิดใจรับฟัง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่ตัดสิน

จากข้อมูลของ กรมสุขภาพจิต เผยว่าในปี 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาสุขภาพจิตแบบผู้ป่วยนอก จำนวน 22,481 ราย ส่วนใหญ่จากอาการ โรคจิต ซึมเศร้า วิตกกังวล และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับ จิตแพทย์ นักจิตบำบัด ที่มีจำนวนน้อย

โดยสัดส่วนจิตแพทย์ในไทยตอนนี้อยู่ที่ราว 1.25 คน ต่อประชากร 100,000 คน ต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือควรมี จิตแพทย์ 1.7 คน ต่อ ประชากร 100,000 คนเป็นอย่างต่ำ

และจากข้อมูลจาก สสส. เผยว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลกป่วยจิตเวช หรือสูงถึง 450 ล้านคน ไทยพบ "นักศึกษา" มีภาวะ "เครียด ซึมเศร้า" สูงเกือบ 30% ปี 60-64 มีรายงานนักศึกษาฆ่าตัวตายสำเร็จ 14 ราย

ข้อมูลชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงสุขภาวะจิตวิกฤต "โรคซึมเศร้า" อยู่รอบตัวเรา คำนี้คงไม่เกินจริงในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลทางการแพทย์คาดการณ์ถึงแนวโน้มผู้ป่วยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราจะมีวิธีรับมือหรือข้อปฏิบัติอย่างไร หากบุคคลใกล้ชิดป่วยด้วยโรคนี้

ศ. นพ.มาโนช หล่อตระกูล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำว่า ญาติต้องพึงตระหนักว่าเขากำลังป่วย ต้องระวังคำพูดบางคำอาจสร้างบาดแผลทางความรู้สึกให้กับอีกฝ่าย

"บางครั้ง ญาติมักจะรู้สึกห่วงผู้ที่เป็น ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องที่มากระทบก็ดูไม่หนักหนา ทำให้บางคนพาลรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง เห็นว่าผู้ป่วยเป็นคนอ่อนแอ เป็นคน "ไม่สู้" ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงต้องเศร้าเสียใจขนาดนี้ ท่าทีเช่นนี้กลับยิ่งทำให้ผู้ที่เป็นรู้สึกว่าตัวเองยิ่งแย่ขึ้นไปอีก เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น ทำให้จิตใจยิ่งตกอยู่ในความทุกข์

แต่ทั้งนี้ ภาวะที่เขาเป็นนี้ไม่ใช่อารมณ์เศร้าธรรมดา หรือเป็นจากจิตใจอ่อนแอ หากแต่เป็นภาวะของความผิดปกติ เขากำลัง "เจ็บป่วย" อยู่ หากจะเปรียบกับโรคทางกายเช่น โรคปอดบวม อาจจะทำให้พอเห็นภาพชัดขึ้น คนเป็นโรคปอดบวมจะมีการอักเสบของปอด เสมหะเหนียวอุดตันตามหลอดลม ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก มีไข้ สิ่งที่เขาเป็นนั้นเขาไม่ได้แกล้งทำ หากแต่เป็นเพราะมีความผิดปกติอยู่ภายในร่างกาย เขากำลังเจ็บป่วยอยู่

โรคซึมเศร้า

กับโรคซึมเศร้าก็เป็นเช่นเดียวกัน ความกดดันภายนอกที่รุมเร้าร่วมกับปัจจัยเสี่ยงหลายๆ อย่างในตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและระบบฮอร์โมนต่างๆ ในสมอง เกิดมีอาการต่างๆ ตามมาทั้งทางกายและใจนอกเหนือไปจากความเศร้าโศก ณ ขณะนั้น

นอกจากอารมณ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังพบมีอาการทางร่างกาย ต่างๆ นานา รวมถึง ความคิดเห็น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ ก็กลับจะยิ่งไปส่งเสริมให้จิตใจเศร้าหมอง กลัดกลุ้มมากขึ้นไปอีก เขาห้ามให้ตัวเองไม่เศร้าไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ของความเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาหายแล้ว อารมณ์เศร้าหมองก็จะดีขึ้น จิตใจแจ่มใสขึ้น การมองสิ่งรอบตัวก็จะเปลี่ยนไป อาการต่างๆ จะค่อยๆ หายไป

หากญาติมีความเข้าใจผู้ที่เป็น โรคซึมเศร้า มองว่าเขากำลังไม่สบาย ความคาดหวังในตัวเขาก็จะลดลง ความหงุดหงิด คับข้องใจก็ลดลง เรามักจะให้อภัยคนที่กำลังไม่สบาย มีข้อยกเว้นให้บางอย่าง เพราะเราทราบดีว่าเขาไม่ได้แกล้งทำ ไม่มีใครอยากป่วย"

เช่นเดียวกับคำแนะนำของ พญ.เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต ให้คำแนะนำเรื่อง การปฏิบัติตัว เมื่อคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้า

โดยคุณหมอบอกว่า กำลังใจและแรงซัพพอร์ตจากคนรอบข้างคือปัจจัยที่จะช่วยผู้ป่วยหายจากอาการได้โดยเร็ว คนใกล้ตัว โดยเฉพาะคนในครอบครัว ควรช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจผู้ป่วย ช่วยจับมือเขาไว้ให้ผ่านช่วงเวลาที่มืดมนไปให้ได้ และที่สำคัญคือ การทำความเข้าใจกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วย

หัวใจของการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าคือ การเปิดใจรับฟัง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่ตัดสินคนที่เรารัก เพราะผู้ป่วยไม่สามารถหยุดเศร้าได้ คำพูดถนอมใจ การอยู่ข้าง ๆ และเป็นเซฟโซนให้แก่เขา ผู้ป่วยจะรู้สึกอุ่นใจว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวในช่วงเวลาที่แย่

โรคซึมเศร้า

Advertisement

แชร์
รับมืออย่างไรเมื่อคนใกล้ตัวป่วย "โรคซึมเศร้า" ฮีลใจเขา ใจเราก็ต้องไม่ละเลย