วัณโรคเทียม คืออะไร เป็นโรคติดต่อหรือไม่ อาการป่วยน่าสงสัย ควรรีบพบแพทย์

6 ต.ค. 67

จากข่าว กัสจัง จีร่าร์ ออกมาเปิดเผยถึงอาการหน้าติดเชื้อ วัณโรคเทียม หมดเงินค่ารักษาไปเป็นล้าน รู้จัก วัณโรคเทียม คืออะไร อาการ วิธีป้องกัน

กรณี กัสจัง จีร่าร์ พิทักษ์พรตระกูล ออกมาเปิดเผยถึงอาการหน้าติดเชื้อ วัณโรคเทียม ทำให้ต้องพักรักษาตัวมานานเกือบ 2 ปี หมดเงินค่ารักษาไปเป็นล้าน ซึ่งตอนนี้อาการดีขึ้นมากแล้ว ดังที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

"กัสจัง" เผยเรื่องที่ไม่เคยออกสื่อ สุดทรมานมาเกือบ 2 ปี จิตตกเสียรายได้หลายล้าน

สืบเนื่องจากประเด็นดังกล่าว "อมรินทร์ออนไลน์" ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ วัณโรคเทียม คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด อาการน่าสงสัย ควรรีบพบแพทย์ รวมถึงวิธีป้องกันตนเองจากเชื้อวัณโรคเทียม 

วัณโรคเทียม คืออะไร

การติดเชื้อมัยโคแบคทีเรีย กลุ่มที่ไม่ได้ก่อให้เกิดวัณโรค (Nontuberculous Mycobacteria - NTM) หรือที่เรียกว่า วัณโรคเทียม พบว่า มีการกระจายตัวอยู่ในธรรมชาติสูงทั้งในดิน น้ำ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในคนได้ คนที่มีปอดปกติเมื่อหายใจเอาเชื้อวัณโรคเทียมเข้าไป จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่คนที่มีโรคปอดอยู่แล้ว หรือโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค โดยการติดเชื้อนี้จะมีผลต่อการเกิดโรคที่บริเวณปอด ต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งผิวหนัง

ซึ่งปัจจุบันพบว่า ผู้ติดเชื้อ NTM มักดื้อยารักษาวัณโรค ซึ่งหากมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากไม่มีการตรวจคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจส่งผลให้มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

วัณโรคเทียม การติดต่อ

การติดต่อ ส่วนใหญ่จะไม่แพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คน สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง เช่น การหายใจรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม หรือ ทางผิวหนังบริเวณที่มีแผล

วัณโรคเทียม อาการ

สำหรับผู้ป่วยวัณโรคเทียม จะมีอาการคล้ายผู้ป่วยวัณโรคเนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้ ไอเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยง่าย เสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกในตอนกลางคืน อ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังพบอาการอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ หรือขาหนีบ ผื่นผิวหนัง ฝี หรือแผลเรื้อรัง เป็นต้น

หากสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้ หรือสงสัยว่าตนเองป่วยวัณโรค ควรรีบไปตรวจหาการป่วยเป็นวัณโรคโดยเร็ว ด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน

วิธีป้องกันวัณโรคเทียม

เราสามารถป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

วัณโรค โรคร้ายที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด "รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย" ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองวัณโรค โทร. 02 212 2279 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ข้อมูล : กองวัณโรค

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด