เตรียมรถไปเที่ยวปิดเทอม วิธีการไม่ได้ยุ่งยาก ลองทำดูได้

11 ต.ค. 67

ช่วงนี้ใกล้เด็กๆ ปิดเทอมกันแล้ว คนที่มีบ้านอยู่ในต่างจังหวัด ก็อาจจะเริ่มวางแผนพาลูกพาหลานเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้าน หรือแม้แต่บางครัวครัวอยู่กรุงเทพฯ แต่อยากเดินทางออกเที่ยวต่างจังหวัด หรือบ้านอยู่ต่างจังหวัด อยากเดินทางมาเที่ยวในกรุงเทพฯ เพื่อพาเด็กๆ ไปเที่ยวสวนสนุก หรือสวนสัตว์ต่างๆ อย่างสวดสัตว์เปิดเขาเขียว แวะชื่นชมความน่ารักของน้องหมูเด้ง ฮิปโปแคระที่แสนจะน่ารัก ชื่อเสียงโด่งดังไกลไปทั่วโลก ก่อนจะออกเดินทาง ก็ต้องมาเตรียมรถให้พร้อมกับการเดินทางในครั้งนี้กันก่อนา วิธีการก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ลองมาดูกัน

ก่อนจะตรวจก็ต้องเตรียมกันก่อน ด้วยการเตรียมเครื่องมือประจำรถให้พร้อม เช่น ประแจแหวน ประแจปากตาย ประแจบ็อกขนาดเบอร์ต่างๆ กัน ไขควงปากแบน ไขควงปากแฉก คีมล็อก คีมปากจิ้งจก คีมปอกสายไฟ เทปพันสายไฟ น้ำกลั่นสำรอง ถังน้ำใบเล็ก 1 ใบ กาวตราช้าง 1 หลอด สายพานหน้าเครื่องอะไหล่ไว้อย่างละ 1 เส้น แม่แรงยกรถเวลาเปลี่ยนยาง ประแจถอดน็อตล้อ ที่สำคัญก็คือ ยางอะไหล่ ที่สภาพดีพร้อมเติมลมไว้เต็ม ไม่ใช่ว่ามียางอะไหล่จริง แต่ไม่เติมลมไว้ก็ลำบากล่ะ ถ้าไปยางแตกไกลจากที่มีลมเติมซัก 3 - 4 กิโลแทบอาเจียนแล้ว

ตรวจดูจำพวกของเหลวทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำมันเบรก น้ำมันคลัทช์ น้ำมันเกียร์อัตโนมัติ น้ำมันเครื่อง น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ น้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำหรือถังน้ำสำรอง น้ำฉีดกระจก น้ำกลั่นในแบตเตอรี่ สิ่งเหล่านี้ท่านสามารถตรวจเองได้ โดยไม่ต้องขับรถไปหาช่าง หลักการตรวจดูหรือเช็คระดับว่าของเหลวเหล่านี้ มีเพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่นั้นใกล้เคียงกันหมด อย่างระดับน้ำมันเบรก น้ำมันคลัทช์ น้ำฉีดกระจก น้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำหรือถังน้ำสำรอง น้ำกลั่นในหม้อแบตเตอรี่ สามารถตรวจสอบได้ด้วยสายตา ส่วนใหญ่ถ้วยหรือภาชนะบรรจุของเหลวพวกนี้ มักมองเห็นของเหลวที่บรรจุอยู่ภายใน และด้านนอกของภาชนะที่ใช้บรรจุ มักจะมีสเกลบอกระดับของเหลวที่บรรจุไว้ภายในอยู่แล้ว เราแค่อ่านตรงสเกลว่าตอนนี้ของเหลวหรือน้ำมันต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ภายในเหลืออยู่ในระดับใดเท่านั้น

สเกลโดยทั่ว ๆ ไปก็จะบอกระดับสูงสุดหรือ MAX และระดับต่ำสุดหรือ MIN โดยปรกติถ้าเราไม่ทราบว่าบริษัทผู้ผลิตกำหนดระดับการใช้งานจริงๆไว้ที่เท่าไหร่กันแน่ ก็ให้ยึดหลักง่ายๆว่า ยังไงซะก็เหลือไว้ซักครึ่งนึงก่อนเป็นดี คือให้ปริมาณของเหลว อยู่ในช่วงระดับกึ่งกลางระหว่างขีด MAX กับ MIN และถ้าต่ำกว่าครึ่งหรืออยู่ใกล้เคียงระดับ MIN ควรเติมของเหลวนั้นๆ เพิ่มทันทีให้ได้ระดับ

ส่วนระดับน้ำมันเครื่อง น้ำมันเพาเวอร์ และน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ นั้น สามารถเช็คได้ไม่ยากเช่นกัน เพราะเขามีก้านวัดระดับ หรือ OIL DIPSTICK มาให้แล้ว แค่ดึงก้านวัดนี้ขึ้นมาอ่านสเกลตรงปลาย ก็จะรู้ทันทีว่าปริมาณน้ำมันที่เราจะเช็คนั้นเหลืออยู่มากน้อยเท่าไหร่? โดยทั่ว ๆ ไปแล้วตรงปลายก้านวัดระดับ จะมีสเกลที่บอกระดับ MAX และ MIN เหมือนกับสเกลวัดของเหลวทั่ว ๆ ไป วิธีการดูว่าน้ำมันที่เหลืออยู่นั้นเพียงพอหรือไม่ ก็ใช้หลักการเดียวกับการอ่านสเกลของน้ำมันเบรกนั่นแหละ คือ ไม่ควรต่ำกว่ากึ่งกลางระหว่างขีด MAX กับ MIN เป็นดีที่สุด ถ้าปริมาณน้ำมันต่ำกว่าระดับที่ว่า ก็ควรเติมให้ได้ระดับ

การอ่านสเกลบนก้านวัดระดับ หรือ OIL DIPSTICK นั้น ถ้าจะให้แน่นอนแม่นยำ ไม่ควรอ่านสเกลในครั้งแรกที่ดึงขึ้นมา เมื่อดึงก้านวัดระดับขึ้นมาแล้ว ให้ใช้ผ้าสะอาด ๆ ที่ไม่เป็นขุยหรือขน เช็ดก้านวัดให้สะอาดทั้งเส้น ดูอย่าให้มีเศษขุยผ้าหรือผงต่าง ๆ ติดที่ก้านวัดเด็ดขาด หลังจากนั้นให้นำก้านวัดใส่กลับไปที่เดิมจนสุด แล้วดึงขึ้นมาอ่านสเกล การอ่านสเกลด้วยวิธีนี้ จะทำให้อ่านค่าได้แน่นอนกว่า การอ่านครั้งแรกที่ดึงขึ้นมา

ตรวจเช็คสภาพยางรถและปริมาณลมยาง ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน ความดันลมยางต้องอยู่ในระดับที่กำหนด ถ้าเป็นรถยนต์นั่งหรือรถเก๋งทั่ว ๆ ไป มักกำหนดความดันลมยางอยู่ในช่วง 28 – 36 ปอนด์/ตารางนิ้ว(PSI) ขึ้นอยู่กับขนาดยางและน้ำหนักบรรทุก สภาพโดยทั่ว ๆ ไปของยางรถยนต์ต้องดี แก้มยางต้องไม่มีรอยปริแตก ร่องยางต้องเหลือความลึกไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร

เช็คไฟเตือน ไฟสัญญาณต่าง ๆ ว่าสามารถใช้การได้ดีหรือไม่ เช่น ลองเปิดไฟหน้าดูว่าใช้งานได้ดีทุกตำแหน่งหรือไม่ สวิทช์ไฟสูงทำงานหรือไม่ ไฟเลี้ยว ไฟฉุกเฉินติดครบทุกหลอดหรือไม่ โดยเฉพาะไฟเบรกต้องติดครบทุกหลอดเมื่อมีการเหยียบเบรก ไฟหรี่ ไฟถอย เมื่อเปิดหรือเข้าเกียร์ถอยติดสว่างดีหรือไม่

ตรวจเช็คสายพานหน้าเครื่องทุกเส้น ว่าหย่อนหรือตึงไป หรือมีการปริแตกของท้องสายพานหรือไม่ รวมถึงเริ่มมีการฉีกขาดตรงส่วนหนึ่งส่วนใดของสายพานหรือไม่ หากพบให้เปลี่ยนสายพานเส้นนั้นทันที ส่วนการตรวจว่าสายพานตึงหรือหย่อนเกินไปนั้น ให้ลองใช้นิ้วมือกดดูตรงกลางระหว่างมูเล่ย์ สายพานแต่ละเส้นจะตั้งระยะการตึงหย่อนไม่เท่ากัน สำหรับรถใหม่ให้เปิดดูระยะตึงหย่อนที่ถูกต้องได้จากคู่มือประจำรถ แต่ถ้าเป็นรถเก่าให้กะระยะตึงหย่อนอยู่ในช่วง 10 – 13 มิลลิเมตร หรือประมาณ 1 – 1.3 เซนติเมตร เมื่อใช้นิ้วกดแล้วตัวสายพานแล้ว สายพานไม่ควรหย่อนตัวมากไปกว่าระยะที่บอก

ตรวจท่อยางน้ำเข้าและออกจากหม้อน้ำ และท่อยางทุกเส้นว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ มีการปริแตกตรงบริเวณปลายท่อ หรือตรงบริเวณเข็มขัดรัดหรือไม่ ถ้าพบว่ามีการปริแตกหรือเริ่มปริแตกให้เปลี่ยนทันที เพราะหากทิ้งไว้เวลาเดินทางไกลท่อยางพวกนี้แตก จะทำให้น้ำในหม้อน้ำพร่องอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัดหรือ โอเวอร์ฮีตได้ เป็นอันตรายต่อเครื่องยนต์มาก

ตรวจใบปัดน้ำฝนว่ายังใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่ ยางของใบปัดยังมีคุณสมบัติการกวาดน้ำบนกระจกดีอยู่หรือเปล่า ถ้ายางยังอยู่ในสภาพดี ควรจะกวาดน้ำบนกระจกให้หมดได้ ภายในครั้งเดียวหรือเต็มที่ไม่ควรเกินสองครั้ง หากใช้จำนวนการปัดมากครั้งกว่านี้ ก็ควรเปลี่ยนยางปัดน้ำฝนใหม่ได้เลย

ตรวจระบบแอร์คอนดิชั่น ลองเปิดแอร์ฯดูว่าเย็นฉ่ำดีหรือไม่? ถ้าให้ความเย็นได้ดี แต่ไม่ถึงกับ “ฉ่ำ” ก็ให้ลองตรวจเช็คว่า น้ำยาแอร์ใกล้หมดแล้วหรือยัง โดยให้สังเกตจากฟองอากาศที่ช่องตาแมว ทั่วๆ ไปมักจะติดตั้งไว้เหนือตัวดักความชื้น หรือ “รีเซฟเวอร์ดาร์ยเออ” ถ้าเป็นช่างมักเรียกสั้นๆว่า “ดาร์ยเออ” มีลักษณะเป็นกระเปาะคล้ายขวดน้ำสีดำๆ ถ้าเวลาเปิดแอร์ฯแล้ว ตรงช่องตาแมวมีฟองอากาศมาก แสดงว่าน้ำยาแอร์ฯในระบบใกล้หมด ควรจะเติมใหม่ให้เต็ม แต่ถ้าไม่มีฟองอากาศน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย แสดงว่าปริมาณน้ำยายังเพียงพอสำหรับการใช้งาน แต่ถ้าน้ำยาในระบบไม่ขาดหรือน้อยเกินไปแอร์ฯก็ยังไม่เย็นฉ่ำอีก ให้ต้องลองตรวจเช็คตรงจุดอื่นดู ซึ่งบางทีอาจจะมาจากตู้แอร์ฯ ที่ไม่ได้ล้างทำความสะอาดมาเป็นเวลานาน ๆ มีฝุ่นและเศษผงมาเกาะมากจนเกินไป เป็นเหตุให้แอร์ไม่ฉ่ำได้ ก็ต้องลองให้ช่างแอร์ฯตรวจเช็คดูอีกที

ขอให้ทุกครอบครัวสนุกสมหวัง ครอบครัวที่ไปเที่ยวสวนสัตว์เปิดเขาเขียวก็ขอให้ได้เจอน้องหมูเด้งตอนตื่นนอน และเดินทางปลอดภัยในช่วงปิดเทอมเล็กนี้

advertisement

ยานยนต์ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม